ทำไมถึงเรียก “หมอตำแย”

หมอตำแย ทำคลอด
แม่จ่าง - หมอตำแยของคนไทยภาคเหนือ กำลังทำคลอดให้กับหญิงท้องแก่ จิตรกรรมประเพณีชีวิตจากวัดห้วยริน ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ทำไมถึงเรียก “หมอตำแย” !?

ร่วม 20 ปีก่อน เคยได้ไปคุยกับ คุณยายสวาด นิยมจันทร์ อดีตหมอตำแยวัย 80 ปี แห่งหมู่บ้านสามโคก เมืองปทุมธานี สมัยนั้นดิฉันยังอายุไม่ถึง 30 ได้หัวเราะท้องแข็งและขนลุกวูบๆ กับเรื่องเล่าตลก ทะลึ่ง น่าหวาดสะพรึงประเภท “น้าแอ๊วแกสอนฉัน แกเอาฝักกระเจี๊ยบเขียวๆ นั่นแหละยัดเข้าในช่องคลอดแก ทีนี้ให้ฉันล้วงเข้าไปคลำออกมา แกเบ่งอึ๊ด ออกมาทีละหน่อย ดึงไม่ออก แกขมิบไว้ ต้องพักก่อน กระเจี๊ยบยังไม่ออก เราต้องแงะ ตรวจหากระเจี๊ยบ ฉันบอกน้าแอ๊วล้วงไม่เจอ แกบอก เฮ้ย มันทิ่มกูทางนี้ ซอกขา เดี๋ยวแกเบี่ยงไปอีกทาง ล้วงกันไป คลำกันไปทั้งข้างนอกข้างใน จะได้รู้ว่าเวลาจะออกลูกเด็กมันติดตรงไหน ต้องแก้ยังไง เรียนกันอย่างจั๋งๆ 

วิชาภายในมันต้องหัดล้วงหัดควักเอาเด็กออกมาให้ได้ บางคนที่ฉันเคยทำมาล้วงกันสุดแขน เหนื่อยแทบขาดใจ ถึงบอกว่าไม่ใช่ของเล่น เป็นเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ถ้าอยากมีผัวต้องออกลูก ถ้ากลัวออกลูกไม่ต้องไปมีมัน”

หมอตำแยยายสวาดบรรยายละเอียดโฉงเฉงอีกหลายขนาน พาให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่นั่งเบิกตาโพลงอยู่ พากันหนีบแข้งหนีบขา กลัวผีกระสือล้วงเอาสุดๆ ขณะฟังมุขเด็ดเรื่องการไปควักลูกออกจากท้องแม่ๆ ทั้งหลาย ในวันนั้นดิฉันเคยถามยายสวาดว่า ทำไมโบราณถึงเรียกหมอออกลูกว่า “หมอตำแย” เป็นเพราะเหตุใด หรือไปเกี่ยวอะไรกับใบตำแยขนยุ่บแสนคันด้วยหรือเปล่า?

จำได้แม่นว่า ยายสวาดยิ้มแฉ่ง ให้คำตอบชัด–ฉันไม่รู้

กลับมาถามพ่อ – อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว สารานุกรมภาษา วรรณคดี และสำนวนไทยประจำชีวิตลูกว่าเป็นเพราะปากหมอตำแยแต่ละคนแสนจะดุเด็ดแสบคันอย่างยายสวาดนี่หรือเปล่า โบราณไทยถึงเรียกหมอออกลูกว่า หมอตำแย?

พ่อบอกว่าคงไม่ใช่ เพราะคำว่าหมอตำแยในภาษาใต้ออกเสียงขึ้นนาสิกว่า “ตำแหย้” ต่างจากใบตำแยภาษาใต้ที่ออกเสียงไม่ขึ้นนาสิกว่า “ตำแย่”  นี่เป็นข้อบ่งชี้ชัดว่า หมอตำแยและใบตำแย ไม่ใช่คำเดียวกัน

ทำคลอดของไทยโบราณ จิตรกรรมจากผนังอุโบสถ วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องนี้เป็นความสงสัยติดใจมาเกือบ 20 ปีว่า “หมอตำแย” คำนี้มีที่มาอย่างไร หาเท่าไรก็ไม่เจอ พยายามตรวจสอบจากคนไทย-ไท-ลาว ในพื้นถิ่นต่างๆ ได้คำตอบมาดังนี้

ไทยวน หรือไทยภาคเหนือนั้น พี่มาลา คำจันทร์ บอกว่าเขาเรียกแม่หญิงที่เป็นหมอออกลูกว่า “แม่จ่าง”  (เทียบกับภาษาไทยภาคกลางคือ “แม่ช่าง”) และคนในไท-ไทยกลุ่มใกล้ๆ กันนี้ล้วนเรียกแม่จ่างทั้งนั้น ฟังแล้วดิฉันจึงได้สอบถามคน “ไทยอง” ที่อยู่แถวลำพูน ทางพี่วิลักษณ์ ศรีป่าซาง หนุ่มไทยองบอกดิฉันว่าพวกเขาก็เรียก “แม่จ่าง” (แม่ช่าง) เช่นเดียวกัน

สำหรับคนไทใหญ่  ทาง พันตรี เสือ แห่งกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ และ นางอยู่ ยอดคำ อดีตพยาบาลออกลูกสถานีอนามัยดอยไตแลง บอกให้ฟัง คนไทใหญ่เรียกหญิงทำหน้าที่ออกลูกว่า “แม่เก็บ”

ดิฉันยังได้ถามพ่อว่าแล้วคนไทยภาคใต้ล่ะ เวลาผู้หญิงจะออกลูกเขาให้ไปตามใคร พ่อบอกว่าบ้านควนขนุนเมืองพัทลุงของพ่อสั่งมาแต่โบราณให้ไปตาม “หมอตำแย” พ่อเคยได้ยินแต่คำนี้

พอดีดิฉันได้พบพี่ป่องที่รัก นักร้องนักดนตรีวงต้นกล้า รู้จักกันมายาวนาน ได้รู้ว่าพี่ป่องเกิดเมืองภูเก็ตและมีชีวิตวัยเด็กที่พังงา เลยถามพี่ป่องว่า คนรุ่นยายย่าเวลาจะออกลูกเขาให้ไปตามใคร พี่ป่องตอบว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันตกทั้งพังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตอนพี่ป่องเด็กๆ เรียกเหมือนกันหมดคือให้ไปตาม “แม่ทาน”

หมอตำแย ทำคลอด
แม่จ่าง – หมอตำแยของคนไทยภาคเหนือ กำลังทำคลอดให้กับหญิงท้องแก่ จิตรกรรมประเพณีชีวิตจากวัดห้วยริน ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

พี่สดใส ขันติวรพงษ์ นักแปลงาน เฮอร์มาน เฮสเส ช่วยสอบค้นจากการถามพี่สาวคือ คุณป้าวิภา นิลเพชร ทั้ง 2 ท่านให้คำตอบมาเช่นเดียวกันคือ ที่บ้านเกิดเมืองกระบี่เรียกคนผู้นี้ว่า “แม่ทาน”

ดิฉันลองเปิดค้นในหนังสือ “การเกิด” งานนิพนธ์ชุดประเพณีไทยของ “เสฐียรโกเศศ” พบที่พระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ บอกคนใต้เรียกหมอหญิงออกลูกนี้ว่า “แม่ทาม” หรือ “หมอตำแย”

แต่ที่ดิฉันสืบถามคนใต้ฝั่งตะวันตกมาเจอแต่คำว่า “แม่ทาน” ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ก็เก็บไว้แต่คำว่า “แม่ทาน” โดยให้รายละเอียดคือ “หมอตำแย, หญิงที่ทำการคลอดลูกตามแผนโบราณ; บิดัน (ม.biden), หมอแม่ทานก็เรียก”

จึงพอสรุปได้ว่า หญิงทำการคลอดลูกของชาวใต้มีเรียกทั้ง “แม่ทาน” และ “หมอตำแย”

ยังมีเรื่องของลาวโซ่ง หรือไทดำในเมืองเพชรบุรีอีกด้วย คนกลุ่มนี้บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากเวียดนามตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ มาอยู่ที่เมืองเพชรก่อนจะกระจัดกระจายแยกย้ายไปจังหวัดอื่นๆ ดิฉันได้พยายามสืบถามเรื่องหมอออกลูกว่าดั้งเดิมเรียกกันอย่างไร หาเท่าไรเจออยู่คำตอบเดียวคือ เรียก “หมอตำแย” ไปหมดแล้ว

หมอตำแย แม่ ลูก หลังคลอด อยู่ไฟ
อยู่ไฟหลังออกลูกของผู้หญิงภาคเหนือ จิตรกรรมประเพณีชีวิตจากวัดห้วยริน ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ดิฉันไม่ลดละ ตั้งใจจะต้องพยายามหาจากคนไทดำในเวียดนามเหนือแท้ๆ แถวเมืองซอนลา เดียนเบียนฟู ให้ได้ คิดแล้วคิดอีกจนปวดกะโหลกว่าจะทำอย่างไรดี จะทำอย่างไรหนอ… พอดีได้ความช่วยเหลือจาก พี่วรุตม์ ทองเชื้อ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สุขภาพใจ พี่เขามีเชื้อสายไทดำ ได้แนะนำให้ดิฉันสอบถามไปทาง อาจารย์กฤตวรรณ เพชรดำดี คนไทดำเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ขอช่วยตรวจสอบให้จากกลุ่มเพื่อนไทดำที่อพยพจากเวียดนามไปอยู่อเมริกา ไทดำกลุ่มนี้เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมแท้ๆ ไม่ได้ผ่านหรือรับอิทธิพลจากเมืองไทยกันเลย

อาจารย์กฤตวรรณใช้เวลาตามหาข้อมูลและให้คำตอบมาว่า ไทดำจากเดียนเบียนฟูจะเรียกหมอออกลูกว่า “หมอสิงแบ่” หรือ “หมอเห็นหน้า” คำว่า “สิง” หมายถึง “คลอด ออกมา” แบ่ – ไม่พบความหมาย ส่วนหมอเห็นหน้าก็คือ เด็กออกมาให้หมอได้เห็นหน้าเป็นคนแรกๆ นั้นเอง

ยังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งคือคนไทยอีสานใต้แถวจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ดิฉันได้มีโอกาสสืบถามจากแม่นันทา ธีระคำศรี พ่อครูศิรชัย มงคล และ คุณธิติมา รุณเจริญ ทุกคนต่างให้คำตอบตรงกันคือพวกเขาเรียกหมอตำแยออกลูกว่า “แม่ตอบหมอบ”

ส่วนคนลาวใต้แถวเมืองจำปาสัก ปากเซ สาละวัน น้องโมะ มนสีดา สาวลาวเมืองคง แคว้นสาละวัน ให้คำตอบว่า “แม่ตะหมอบ”

ดิฉันได้พยายามสอบสวนหาคำตอบ ด้วยความสงสัยยิ่ง “ตอบหมอบ” กับ “ตะหมอบ” แปลว่าอะไร ทำไมเรียกอย่างนี้ มีที่มาจากไหนกันแน่ ดูเป็นภาษาพิกลมาก ไม่ค่อยเป็นไทย-ไทเอาซะเอย ค้นไปค้นมา สืบถามจากอาจารย์สเร็ย บันดล ศิลปินเขมร เขาให้ความรู้ว่า สำหรับคนเขมรแล้ว “ฉม็อบ (Chhmob)” หมายถึงหมอตำแย หรือหมอออกลูก

ดังนั้นค่อนข้างมั่นใจ แม่ตอบหมอบ ของอีสานใต้ กับ แม่ตะหมอบ ของลาวใต้ จะต้องมีรากศัพท์มาจาก ฉม็อบ ในภาษาเขมรนี้เอง

ค้นหาความรู้มาหลายด้าน หาแล้วหาอีกถึงชื่อเรียกหมอออกลูก นึกได้ว่าอยากรู้ของไทยแท้คงจะต้องพยายามสืบถามจากกลุ่มคนเก่าแก่ที่สุด ดิฉันจึงได้ติดต่อไปยังอาจารย์น้องแดง – ดร. ฉินซิ่วหง แห่งมหาวิทยาลัยกวางสี ประเทศจีน น้องแดงเป็นคนจ้วง กวางสี ต้นตระกูลคนพูดภาษาไท-ลาว

เมื่อหลายปีก่อนน้องแดงเคยมาเรียนปริญญาเอกด้านภาษาไทยที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เธอพยายามตรวจสอบควานหาคำที่ค้นอยู่นี้ให้ แต่ได้ความรู้มาเพียงคนจ้วงเรียกหมอออกลูกว่า “แม่ซี้บเสง” คำว่า “แม่” ยังเป็นภาษาจ้วงอยู่ ซึ่งก็คือคำเดียวกับแม่ในภาษาไทย แต่ “ซี้บเสง” เป็นภาษาจีนไปแล้ว แปลว่า “รับคลอด”

หาคำเรียกหมอออกลูกไกลถึงเมืองเวียดนาม อเมริกา กวางสี เขมร ยังขาดเมืองลาวพี่น้องใกล้บ้าน นึกได้ดังนั้น ดิฉันก็รีบขมีขมันติดต่อทางไลน์ไปยังน้องชายที่รัก คุณภัทรพงศ์ คงวิจิตร หนุ่มคนนี้ไปมีเมียลาวเป็นสาวหลวงพระบาง มาร่วมสิบปีแล้ว ตั้งบ้านอยู่หลวงพระบาง ได้เดินทางไปหลายแห่งทั่วเมืองลาว น้องแรกรีบหาคำตอบให้อย่างเร็วรี่ และทำให้เขางงไม่น้อย เพราะที่สอบถามมาจากคนแก่มากๆ ในหลายแห่งของเมืองลาว ข้อมูลที่เขาพบนั้นคนลาวเหนือต่างเรียกหมอออกลูกว่า “หมอตำแย” ไปหมดสิ้น ทางนครเวียงจันไม่ต้องพูดถึง ต่างเรียก “หมอตำแย” เหมือนคนภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสานตอนบนของไทยไปแล้ว

แต่คำตอบในเมืองไทย รอบเมืองไทย คำตอบจากชนกลุ่มน้อยพื้นถิ่นต่างๆ ทั้งหมดที่ได้มา ก็ยังไม่ได้ให้ตอบคำถามกับดิฉันเลยว่า ทำไมคนไทย-ลาวในถิ่นต่างๆ ถึงเรียกบรรดาหมอออกลูกว่า “หมอตำแย” ที่มาของคำว่า “หมอตำแย” มันมาจากไหน?

พอดีช่วงนี้ ดิฉันสืบค้นข้อมูลเรื่อง “แม่ซื้อ” ในภูมิภาคต่างๆ ไปด้วยพร้อมกัน จึงหาทั้งเรื่องของแม่ซื้อและหมอตำแย นอกเหนือจากการสอบถามผู้คนท้องถิ่นแล้ว สิ่งสำคัญของการค้นคว้าข้อมูลที่ดิฉันทำเป็นประจำก็คือ การกลับไปอ่านเอกสารโบราณ พวกสมุดข่อย ใบลาน บุดดำ บุดขาว เท่าที่พยายามหามาได้

ดิฉันพยายามค้นคว้ากลับมาอ่านเอกสารพวกนี้ เพราะไม่อยากให้เสียเวลาตั้ง 5 ปี ที่เคยไปเรียนด้านการอ่านจารึกมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถ้าจะไม่ยอมฟื้นความรู้มาใช้บ้างเลย ดิฉันเสียดาย เพราะความจริงมีอยู่ดังที่โคลงโลกนิติบอกไว้ “อักขระห้าวันหนี เนิ่นช้า” นั้นน่ะเป็นจริงแท้ แค่ไม่ได้อ่านอักษรโบราณที่เคยอ่านได้ นานเข้าพาให้ลืมไปหมด

นี่ยังกลุ้มใจ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตอนเรียนอ่านจารึกอยู่นั้น ดิฉันได้เขียนสมุดอนุทินเป็นตัวหนังสือธรรมล้านนาไว้ 1 เล่ม เพราะไม่อยากให้ใครมาเปิดอ่านเจอ ไม่อยากให้ใครมารู้เรื่องชีวิต เรื่องความในใจ เผลอๆ คงจะเขียนด่าคนเอาไว้เยอะด้วย บัดนี้หยิบมาดู เห็นแล้วตะกุกตะกักอ่านแทบไม่ออกไปเรียบร้อยแล้วทั้งเล่ม เป็นอีกเรื่องปวดกะโหลกที่ต้องจัดการเอง ต้องแคะต้องฟื้นมาให้ได้ นี่ยังไม่รู้เลยว่าเขียนรำพี้รำพันอะไรไว้บ้าง ไม่กล้าส่งไปให้ใครที่อ่านตัวธรรมล้านนาออก มาช่วยแกะช่วยดูให้ กลัวเขาอ่านเนื้อหาบันทึกแล้วจะทุเรศสังเวชใจเอาเสียเปล่าๆ

ครั้นเมื่อดิฉันพยายามหาสมุดไทยมาค้นเรื่องการตั้งท้องออกลูกในวันนี้ โชคดีที่บ้านมีงานชุด “คัมภีร์ประถมจินดา” ฉบับหลวงอยู่ งานเล่มนี้เป็นตำราแพทย์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรคเด็กทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ ลักษณะครรภ์มารดา อาการเจ็บไข้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์หรือโลหิตระดูผิดปกติ มีตำรายาสำหรับประจุและฟอกโลหิตสตรี ยาบำรุงโลหิต บอกลักษณะดีชั่วของสตรี ลักษณะน้ำนมมารดา จากนั้นบรรยายถึงกำเนิดและอาการของโรคซางประเภทต่างๆ โดยบอกตำรายาแก้โรคและรักษาอาการโรคไว้หลายขนาน

คัมภีร์ประถมจินดา ที่ดิฉันใช้อ่านและตรวจสอบนี้ อยู่ในงานชุด ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีรายละเอียดกล่าวไว้ว่า “เป็นตำราการแพทย์ของไทยและตำราสมุนไพรพื้นบ้าน หนังสือเหล่านี้เดิมมีกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เนื่องจากเป็นสมุดคู่มือสำหรับผู้สนใจและรักต่อการศึกษาวิชาแพทย์ จึงเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตนบ้าง บันทึกเพิ่มเติมไปตามความเข้าใจบ้าง ทำให้มีฉบับไม่ครบและคลาดเคลื่อนกันมาก รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า คัมภีร์แพทย์ของไทยที่ได้บันทึกความรู้อันมีคุณประโยชน์แก่แผ่นดินและใช้ศึกษาสืบต่อกันมา ได้เริ่มสูญหายและคลาดเคลื่อนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์เป็นแม่กองจัดหารวบรวม ชำระสอบสวนตำรับคัมภีร์แพทย์ที่ใช้กันอยู่ขณะนั้นให้ถูกต้องดี แล้วส่งมอบให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมอาลักษณ์ กรมอักษรพิมพการ จัดสร้างขึ้นใหม่เป็น ‘คัมภีร์แพทย์ฉบับหลวง’”

ครั้นได้หยิบคัมภีร์ประถมจินดาที่เขียนไว้ในสมุดไทยสีดำมานอนอ่านไปเรื่อย ดิฉันก็เริ่มสงสัยว่า คัมภีร์ฉบับนี้มีมาตั้งแต่สมัยไหน จึงได้พยายามสอบถามไปยังพี่สาวที่รัก “หมอต้อม” เภสัชกร ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้บุกเบิกงานสมุนไพรอภัยภูเบศร พี่ต้อมศึกษาการแพทย์ตำรับการแพทย์ไทย-อินเดียมามากๆ พี่ต้อมให้ความรู้ดิฉันว่าคัมภีร์ประถมจินดานี้อยู่ในตำรับอายุรเวท มีมาตั้งแต่สมัยตักกสิลารุ่งเรืองในอินเดีย อายุอานามเป็นพันๆ ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ตักกสิลาก็เจริญมาแล้ว ดังนั้น ประถมจินดาจึงเก่าแก่มาก มีเข้ามาในแผ่นดินสุวรรณภูมิพร้อมพราหมณ์จากอินเดียนั้นแหละ

คัมภีร์ประถมจินดาให้ความรู้เรื่องไม้มิ่ง ที่เป็นขวัญมงคลของคนเกิดปีนักษัตรต่างๆ

ดิฉันได้สืบค้นในวิกิพีเดีย มีกล่าวถึงตักกสิลาไว้ว่า

ตักศิลา (อักษรโรมัน : Taxila (อ่านว่า ตัก-สิ-ลา)) หรือ ตักสิลา (อักษรโรมัน : Takkaśilā; (อ่านว่า ตัก-กะ-สิ-ลา)) ในภาษาบาลี หรือ ตักษศิลา (อักษรโรมัน : Takaśilā) ในภาษาสันสกฤต เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐปัญจาบ เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่มาเล่าเรียนในแถบดินแดนชมพูทวีป บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้ อาทิเช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ และองคุลิมาล

ปัจจุบันนี้ตักศิลาอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบัด

 จากหลักฐานสมัยอยุธยาพบว่า การแพทย์แผนไทยได้รับจากอายุรเวทอินเดียเป็นสำคัญ โดยกล่าวว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์ประจำตัวของพระพุทธเจ้า) เป็นผู้แต่ง คัมภีร์แพทย์ ครั้นพระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้ามาสู่ไทย พระสงฆ์ผู้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้นำความรู้ในการรักษาโรคเข้ามาใช้กับชาวบ้านด้วย จึงเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย”

สำหรับการแพทย์อายุรเวทนั้น รายละเอียดในวิกิพีเดีย กล่าวไว้ว่า อายุรเวท (สันสกฤต : आयुर्वेदอังกฤษAyurveda) เป็นการแพทย์แผนโบราณของอินเดียมานานกว่า 5,000ปี เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่ง ในภาษาสันสกฤต คำว่า อายุรเวท มาจากคำว่า ‘อายุส’ หมายถึง อายุยืนยาว และ ‘เวท’ หมายถึง องค์ความรู้ หรือ ศาสตร์ อายุรเวทมีหลายวิธีการดูแลรักษาบำบัด เช่น โยคะอาสนะ ปราณยาม ปัจกรรม โภชนาการ นอกจากจะเป็นศาสตร์ของการรักษา ยังป้องกันโรครวมทั้งเสริมสุขภาพให้ยืนยาวได้อีกด้วย วิวัฒนาการตลอดประวัติศาสตร์ของระบบการรักษาแบบอายุรเวท ยังคงมีอิทธิพลของการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คัมภีร์ในการระบุการรักษาแบบอายุรเวทปรากฏในช่วงยุคพระเวท ในอินเดีย  Suśruta Sahitā และ Charaka Sahitā มีผลงานที่มีอิทธิพลต่อการแพทย์แผนในยุคนี้ หลายศตวรรษที่การรักษาแบบอายุรเวทพัฒนา ในวงการแพทย์ของประเทศแถบตะวันตก อายุรเวทถูกจัดเข้าจัดอยู่ในประเภท และการแพทย์ทางเลือกเสริม (CAM)

ตักกสิลาและการแพทย์อายุรเวทจึงมีมาเก่าแก่อย่างที่สุดในเมืองไทย เข้ามาพร้อมพราหมณ์อินเดียตั้งแต่ก่อนยุคทวารวดีเสียด้วยซ้ำ คัมภีร์ประถมจินดาเป็นหนึ่งในตำรับการแพทย์อายุรเวท บัดนี้คัมภีร์ประถมจินดาฉบับหลวงของไทยเหลืออยู่ 11 เล่ม ดิฉันได้ตรวจสอบและนั่งอ่านไปเรื่อยๆ พออ่านถึงเล่มที่ 3 ก็ถึงกับร้องฮื้อฮ้า…ขึ้นมาเลย หนังสือไทยนี้เด็ดดีจริงๆ ลองพิจารณาดูเองก็แล้วกัน ดิฉันปริวรรตถอดความออกมาได้ดังนี้

“อนึ่งโสดเกิดปีชวด คือเทพยดาผู้หญิงไม้มิ่งนั้นคือไม้มะพร้าว อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีฉลู คือมนุษย์ผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือไม้ตาล อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีขาล คือผีเสื้อผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือไม้รัง อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีเถาะ คือผีเสื้อผู้หญิงไม้มิ่งนั้นคือไม้งิ้ว อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีมะโรง คือเทพยดาผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือไม้กรรมพฤกษ์ อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีมะเส็ง ไม้มิ่งนั้นคือไม้โพบาย อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีมะเมีย คือเทพยดาผู้หญิงไม้มิ่งนั้นคือไม้กัทลี อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีมะแม คือเทพยดาผู้หญิงไม้มิ่งนั้นคือปาริกฉัตร อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีวอก คือผีเสื้อผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือไม้ขนุน อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีระกา คือผีเสื้อผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือไม้เวฬุ อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีจอ คือผีเสื้อผู้หญิงไม้มิ่งนั้นคือใบบัวบก อนึ่งโสดถ้ากุมาร กุมารีผู้ใดเกิดปีกุน คือมนุษย์ผู้ชายไม้มิ่งนั้นคือใบบัวหลวง ในถ้อยคำอันนี้ของพระมหาเถรเจ้าผู้ชื่อว่าตำแย ซึ่งท่านเป็นผู้ตกแต่งพระคัมภีร์ประถมจินดา ครรภรักษานี้ตั้งแต่กุมารปฏิสนธิในครรภ์มารดาได้ ๗ วันไปจนกำหนดคลอด กล่าวมาจนถึงกุมารอยู่ในเรือนเพลิงก็จบแต่เพียงนี้ พระอาจาริยเจ้าท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าแพทยผู้ใดก็ดี หมอตำแยแม่มดผู้ใดก็ดี แลจะถือครรภ์ให้กุมารคลอดไปเบื้องหน้านั้น ให้บูชาบวงสรวงพระมหาเถรตำแยก่อน จึ่งประสิทธิทุกประการ”

เฝ้าเพียรหาคำตอบค้างใจมา 20 กว่าปี ด้วยความสงสัยคำเรียกหมอออกลูกว่า “หมอตำแย” มีที่มาจากไหน ได้พบซุกซ่อนอยู่ในสมุดไทยโบราณ คัมภีร์ประถมจินดานี้เอง คัมภีร์นี้สืบเนื่องมาจากตำรับอายุรเวทของสำนักตักกสิลา เมืองในอินเดียเก่าแก่เป็นพันปี มีพระมหาเถรเจ้าผู้ชื่อว่าตำแย เป็นผู้รจนาเอาไว้ หมอทำคลอดรุ่นหลังคนไหนมาใช้คัมภีร์ประถมจินดาของพระเถระตำแยผู้นี้ในการออกลูกของผู้คน จะต้องบูชาบวงสรวงพระมหาเถระตำแยก่อน จึงจะทำงานได้สำเร็จ!

คัมภีร์ประถมจินดาระบุไว้ชัดเจนว่า พระมหาเถรเจ้ามีนามว่า “ตำแย” เป็นผู้แต่งคัมภีร์ฉบับนี้ สำหรับดูแลรักษาแม่และเด็ก อันเป็นที่มาของนาม “หมอตำแย” ยาวนานสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

“ตำแย” จึงเป็นชื่อมหาเถระศักดิ์สิทธิ์ ของหมอออกลูก และแม่ เด็ก นั่นทำให้ตำรับอายุรเวทของอินเดียที่มีคัมภีร์ประถมจินดาผูกติดอยู่ จะเดินทางไปถึงแผ่นดินไหน ชื่อของมหาเถระตำแยก็จะตามกวดติดไปด้วย ไปเป็นที่รำลึกบวงสรวงบูชาของผู้คน นี่เองทำให้ภาคกลางและภาคใต้ของไทย ที่อยู่ภายใต้ความรู้ทางการแพทย์แบบอายุรเวท เรียกหมอออกลูกว่า “หมอตำแย” และเมืองลาวบางส่วนที่มีการใช้ตำรับการแพทย์อายุรเวทก็เรียกหมอออกลูกว่า หมอตำแยเช่นกัน

ส่วนคนไท-ไทย กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลการแพทย์แบบอายุรเวทของ “พระมหาเถรเจ้าผู้ชื่อว่าตำแย” หรือยังมีความรู้ในการออกลูกแบบพื้นถิ่นแข็งแรงติดตัวมาก พวกเขาจึงเรียกหมอออกลูกของตนว่า “แม่จ่าง (ไทยวน,ไทยอง), แม่เก็บ (ไทใหญ่), หมอสิงแบ่ (ไทดำเวียดนาม), หมอเห็นหน้า (ไทดำเวียดนาม), แม่ตอบหมอบ (อีสานใต้ สุรินทร์ ศรีสะเกษ), แม่ตะหมอบ (ลาวใต้ สาละวัน จำปาสัก ปากเซ, แม่ทาน (ไทยใต้ฝั่งตะวันตก), แม่ซี้บเสง (จ้วงกวางสี)

ดิฉันนำข้อมูลนี้ถามไปทางพี่ต้อม – ดร. สุภาภรณ์อีกครั้ง พี่ต้อมบอกว่า เคยได้ยินคนลาว คนอีสานเก่าๆ พูดถึง “ฤษีตำแย” อยู่ด้วย

นี่คงมีที่มาจากเรื่องของพระมหาเถระตำแย ในคัมภีร์ประถมจินดา เช่นกัน

พากเพียรตรวจสอบสืบค้นที่มาของ “หมอตำแย” อยู่ 20 กว่าปี ได้พบความจริงอย่างบังเอิญและละเอียดแจ่มชัดว่าเป็นชื่อมหาเถระในคัมภีร์ประถมจินดา…ดีใจชะเอิงเงิงงวย อิ่มปลื้มจนไม่ได้กินข้าวไปทั้งวันที่ได้ข้อมูลมาเลย จึงขอบันทึกความรู้อันมีค่ายิ่งไว้ ณ ที่นี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล :

1. ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว อายุ 79 ปี (เกิดปี พ.. 2479) บ้านเดิม ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สัมภาษณ์วันที่ 16-20 มีนาคม พ.. 2558

2. เภสัชกร ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร อายุ 54 ปี (เกิดปี พ.. 2504) โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี สัมภาษณ์วันที่ 18 มีนาคม พ.. 2558

3. อาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง อายุ 56 ปี (เกิดปี พ.. 2502) เลขที่ 241 หมู่ 1 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สัมภาษณ์วันที่ 17 มีนาคม พ.. 2558

4. อาจารย์มาลา คำจันทร์ อายุ 63 ปี (เกิดปี พ.. 2495) เลขที่ 56 หมู่ 11 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สัมภาษณ์วันที่ 17 มีนาคม พ.. 2558

5. พันตรี เสือ อายุ 51 ปี (เกิดปี พ.. 2507) บ้านเดิม กลางป่าเมืองกึ๋ง รัฐฉาน สัมภาษณ์วันที่ 17 มีนาคม พ.. 2558

6. นางอยู่ ยอดคำ อายุ 42 ปี (เกิดปี พ.. 2516) บ้านเดิม เมืองกึ๋ง รัฐฉาน สัมภาษณ์วันที่ 16 มีนาคม พ.. 2558

7. อาจารย์สดใส ขันติวรพงษ์ อายุ 65 ปี (เกิดปี พ.. 2492) บ้านเดิม จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันอยู่ที่ 90/42 หมู่ 8 อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สัมภาษณ์วันที่ 21 มีนาคม พ.. 2558

8. นางวิภา นิลเพชร อายุ 81 ปี (เกิดปี พ.. 2477) เลขที่ 115 หมู่ 3 ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ สัมภาษณ์วันที่ 21 มีนาคม พ.. 2558

9. คุณวรุตม์ ทองเชื้อ อายุ 54 ปี (เกิดปี พ.. 2504) บ้านเดิม หมู่บ้านลาวโซ่ง ตำบลดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สัมภาษณ์วันที่ 17 มีนาคม พ.. 2558

10. อาจารย์กฤตวรรณ เพชรดำดี อายุ 57 ปี (เกิดปี พ.. 2500) เลขที่ 175 หมู่ 6 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สัมภาษณ์วันที่ 20 มีนาคม พ.. 2558

11. คุณฉินซิ่วหง (ภัทรชาด) อายุ 40 ปี (เกิดปี พ.. 2518) บ้านเดิม หมู่บ้านหรายจละ อำเภออู่หมิง เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี ประเทศจีน สัมภาษณ์วันที่ 19 มีนาคม พ.. 2558

12. คุณนันทา ธีระคำศรี อายุ 77 ปี (เกิดปี พ.. 2481) บ้านเดิม ซอยพูนผล อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 64/11 ลาดพร้าว 83 วังทองหลาง กรุงเทพฯ สัมภาษณ์วันที่ 18 มีนาคม พ.. 2558

13. คุณธิติมา รุญเจริญ อายุ 49 ปี (เกิดปี พ.. 2509) บ้านเดิม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันอยู่ที่ ซอยโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว เขต/แขวงลาดพร้าว กรุงเทพฯ สัมภาษณ์วันที่ 18 มีนาคม พ.. 2558

14. พ่อครูศิรชัย มงคล อายุ 78 ปี (เกิดปี พ.. 2480) ตำบลดอนแรก อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สัมภาษณ์วันที่ 18 มีนาคม พ.. 2558

15. นายบุนยง แสงพูมีสาด อายุ 34 ปี (เกิดปี พ.. 2524) เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว สัมภาษณ์วันที่ 16 มีนาคม พ.. 2558

16. นางโมะ มนสีดา อายุ 34 ปี (เกิดปี พ.. 2524) เมืองคง แขวงสาละวัน ประเทศลาว สัมภาษณ์วันที่ 16 มีนาคม พ.. 2558

17. นายภัทรพงศ์ คงวิจิตร อายุ 42 ปี (เกิดปี พ.. 2516) เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว สัมภาษณ์วันที่ 16 มีนาคม พ.. 2558

18. นายรังสิต จางฌานสิทโธ อายุ 63 ปี (เกิดปี พ.. 2496) บ้านเดิมภูเก็ต พังงา ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านเลขที่ 174 หมู่ 4 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สัมภาษณ์วันที่ 20 มีนาคม พ.. 2558

19. อาจารย์สเร็ย บันดล อายุ 42 ปี (เกิดปี พ.. 2516) สถาบันสอนศิลปะฟาร์ปนลือ (Phar Ponleu Selpak) จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา สัมภาษณ์วันที่ 21 มีนาคม พ.. 2558

หนังสือประกอบการเขียน :

การเกิด งานนิพนธ์ชุดประเพณีไทยของเสฐียรโกเศศ, สำนักพิมพ์แม่คำผาง จัดพิมพ์เมื่อปี พ.. 2531.

ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 เล่ม 1, เล่ม 2, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.. 2542.

พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2550, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้, สถาบันทักษิณคดีศึกษา จัดพิมพ์เมื่อปี พ.. 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2562