เบื้องหลัง กำเนิด “ต่วย’ตูน” วาทิน ปิ่นเฉลียว ผู้ก่อตั้ง เล่า เขียนเยอะถึงขั้นหมดไอเดีย

ปกหนังสือ ต่วย‘ตูน ภาพวาด วาทิน ปิ่นเฉลียว

เบื้องหลัง กำเนิด “ต่วย’ตูน” วาทิน ปิ่นเฉลียว ผู้ก่อตั้ง เล่า เขียนเยอะถึงขั้นหมดไอเดีย

หากนับเนื่องเอาเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 คือเดือนแห่งการก่อกำเนิดนิตยสาร ต่วย’ตูน คงไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านั้นนิตยสารต่วย’ตูน ออกรายสะดวกมาก่อน

ระหว่าง พ.ศ. 2509-2510 ไม่เพียง “ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ” และ “วาทิน ปิ่นเฉลียว” ต่างมีความคิดที่จะทําสำนักพิมพ์ ชื่อสำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน

ไม่เพียงคนหนึ่งคือ “ประเสริฐ” จะใช้ความเป็นนักเขียนมืออาชีพ ที่เขียนลงในนิตยสารชาวกรุงมาบรรเลงเพลงการเขียน ส่วน “วาทิน” เลือกที่จะใช้ความสามารถจากการเขียนการ์ตูนล้อ ที่เขียนลงในนิตยสารชาวกรุง มาวาดเส้นสายลายเส้น

มองเผิน ๆ เหมือนสำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทินน่าจะนำจุดแข็งทั้ง 2 อย่างมาพิมพ์เป็นหนังสือก่อน แต่สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน กลับเลือกที่จะพิมพ์เรื่องสั้น ด้วยการไปขอต้นฉบับจากบรรดาเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เป็นนักเขียนสมัยนั้น อาทิ รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์ และวสิษฐ เดชกุญชร รวมถึงนักเขียนอื่น ๆ อีกมาก ที่ล้วนเป็นต้นฉบับฟรีทั้งสิ้น!

นัยว่างานนี้นอกจากจะได้เรื่องฟรี ค่าเรื่องยังไม่ต้องจ่าย ที่สำคัญ เมื่อหนังสือออกมา คงน่าจะทำให้เขาทั้ง 2 คนมีเงินกินเหล้าเสียหลายวัน กระนั้น ในความเป็นนักเขียน และการ์ตูนิสต์ ก็ทำให้เขาทั้ง 2 คน คิดที่จะเขียนหนังสือออกมาด้วย เพราะขณะนั้นเรื่องสั้นของ “ประเสริฐ” มีแฟนานุแฟนอยู่มากมาย ขณะที่เส้นสายลายเส้นของ “วาทิน” ก็ไม่ใช่ย่อย เพราะมีแฟนานุแฟนติดตามอ่านกันมาก

แต่เมื่อความล่วงรู้ถึง “เฮียชิว” (สุพล เตชะธาดา) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสวนอักษรประพันธ์สาส์น จึงได้บอกเขาทั้ง 2 คนอย่างตรงไปตรงมาว่า “เฮ้ย…มึงไม่ต้องไปทำขายใครหรอก มาขายกูนี่แหละ พวกเอ็งสตุ้งสตางค์ยิ่งไม่มีอยู่ พิมพ์มาเท่าไหร่ กูให้เล่มละบาท ถึงพิมพ์ 3,000 เล่ม ก็ได้ 3,000 บาท”

แทนที่ “ประเสริฐ” และ “วาทิน” จะปฏิเสธ เขาทั้งคู่กลับตอบรับอย่างยินดี จากนั้นเขาทั้งสองจึงรวบรวมเรื่องการ์ตูนต่วยจากชาวกรุงพิมพ์ออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก

“ปรากฏว่าขายได้ตั้ง 3,000 เล่ม” “วาทิน” หรือ “ลุงต่วย” เล่าอย่างอารมณ์ดี “เลยติดใจพิมพ์ออกมาอีก 2-3 หน จนเป็นหมื่นเล่มเลย ที่นี้ได้ใจ พิมพ์ออกมาเป็นชุด ๆ ทั้งหมด 4-5 ชุด ทั้งของเก่าและของใหม่ ตอนหลังไอเดียหมด ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว ไอ้เสริฐเลยบอก เอ็งอย่าไปเขียนคนเดียวซิวะ ตั้ง 200 กว่าหน้า งั้นข้าช่วยเขียนด้วย”

“ปรากฏว่าไงรู้ไหม ไอ้เสริฐมันเขียนไม่ไหว เลยบอกว่า งั้นไปขอเรื่องจากนักเขียนดัง ๆ ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเขียน เลยไปขอเรื่องจากนักเขียนผู้ใหญ่ที่สนิท ๆ กัน พูดง่าย ๆ ไปไถเขามาน่ะแหละ ก็มีครูอบ ไชยวสุ, นพพร บุญยฤทธิ์, ประมูล อุณหธูป, ประหยัด ศ. นาคะนาท ท่านก็ให้นะ เพราะท่านเมตตาพวกเรา”

“จึงเอามารวมกับการ์ตูนผม และใช้ชื่อเรื่องว่ารวมการ์ตูนต่วย และเรื่องขำขันจากชาวกรุง และไม่ได้ทำแค่เล่มสองเล่มเท่านั้นนะ ทำออกมาจนถึงเล่ม 16”

ทว่าเล่มที่ 13-14 เริ่มถูกทางร้านหนังสือต่อว่า เพราะเวลาลูกค้ามาหาซื้อหนังสือ ต้องพูดชื่อเสียยืดยาว…ทำไปทำมา “วาทิน” จึงตัดเหลือแต่คำว่า “ต่วย’ตูน” เพียงอย่างเดียว เป็น “ต่วย’ตูน” ที่ไม่เพียงเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ที่ผ่านมา

ต่วย วาดโดยต่วย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549)

หากยังเป็นต่วย’ตูนที่มีนักเขียนในยุคแรก ๆ อย่างทองคำเปลว (ประมูล อุณหธูป), หลวงเมือง, กระจกฝ้า, อ.ลาวัลย์ โชตามระ (จอหงวน, อัมพร หาญนภา), รงค์ วงษ์สวรรค์, ระวี พรเลิศ, และชิน ดนุชา มาช่วยกันเขียน แถมบางครั้งยังมีนักเขียนชั้นครูอย่างครูอบ ไชยวสุ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพลอากาศเอกหะริน หงสกุล มาร่วมแจมด้วย

เหตุที่นักเขียนเหล่านี้มาเขียนให้ “ลุงต่วย” มองเป็นเรื่องคุณูปการทั้งสิ้น แม้ในช่วงหลัง ๆ จะเริ่มมีนักเขียนอย่างปัญญา ฤกษ์อุไร, ชาตรี อนุเธียร, ประเทือง ศรีสุข, วิชัย สนธิชัย, ประจักษ์ ประภาวิทยากร, นายหนหวย, สายชม (ซูม), เพลย์บอย (โกวิท สีตลายัน) หรือแม้แต่ชัยชนะ โพธิวาระ, ฉุ่ย มาลี, พัฒนพงศ์ พ่วงลาภ และนักเขียนอื่น ๆ อีกมาก ที่มาเขียนให้ “วาทิน” ก็ยังมองว่าเป็นคุณูปการทั้งสิ้นเช่นกัน

แต่ลึกลงไปในใจ “วาทิน” ทราบดีว่า…ต่วย’ตูนเดินทางมานานแล้ว จะมาหยุดอยู่แค่นักเขียนรุ่นเก่าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนด้วย เพราะนักเขียนรุ่นเก่ารังแต่จะตายจากไป แต่สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่กำลังจะเบ่งบาน ฉะนั้น ทางเดียวที่จะทำให้นิตยสารต่วย’ตูนอยู่ยืนยาวตลอดกาล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้ได้!

“เชื่อไหม แม้ผมจะอายุขนาดนี้ ผมยังอ่านงานของนักเขียนรุ่นใหม่อยู่เลย อ่านแล้วก็เกิดความฟิต อ่านแล้วทำให้ตัวเองมีแรงทำงานอีกเยอะ จนบางครั้งนึกไปถึงนักเขียนรุ่นเก่า ๆ ที่ส่งเรื่องมาให้ ผมอยากให้เขาเขียนเรื่องแบบนักเขียนรุ่นใหม่บ้าง”

เพราะโลกทุกวันนี้มันพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ!

“เราในฐานะบรรณาธิการ จึงต้องพัฒนาตัวเองเช่นกัน หาไม่ เราจะกลายเป็นคนแก่ที่ตกสมัย ที่เอาแต่เรื่องเก่า ๆ มาบอกเล่าให้ผู้อ่านฟัง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เรื่องใหม่สำหรับพวกนักเขียนใหม่ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดี หลายเรื่อง เราต้องหัดฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่บ้าง ไม่เช่นนั้น เราจะเป็นบรรณาธิการที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลย”

คงจะจริง แม้ทุกวันนี้ [พ.ศ. 2549 – กองบก.ออนไลน์] “วาทิน” หรือ “ลุงต่วย” จะอายุล่วงเข้าปัจฉิมวัยที่ 75 ปี แต่ยังเป็น 75 ปี ที่ยังทำหน้าที่บรรณาธิการ คอยอ่านต้นฉบับ ตอบจดหมาย และคัดสรรเรื่องลงในนิตยสารต่วย’ตูนอยู่เสมอ

เพราะเขาคิดว่าชีวิตเขาเติบโต มีชื่อเสียง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ทุกวันนี้ เพราะตัวหนังสือ ฉะนั้น ตัวหนังสือจึงมีบุญคุณสำหรับเขามาก

แล้วเรื่องอะไรเขาจะกล้าเนรคุณกับตัวหนังสือ

เพราะตัวหนังสือทำให้เขาเป็นเขามาทุกวันนี้?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “35 ปี ต่วย’ตูน 75 ปี วาทิน ปิ่นเฉลียว ‘ผมจะไม่เนรคุณตัวหนังสือ'” เขียนโดย สาโรจน์ มณีรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565