เผยแพร่ |
---|
บทความวิชาการเรื่อง “The Democratic Coup d’État” ของโอซาน โอ. วารอล (Ozan O. Varol) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยลูวิสแอนด์คลาร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Harvard International Law Review ปี 2555 เสนอว่า รัฐประหาร ไม่ได้ทำลายประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิจารณาเงื่อนไขแวดล้อมขณะเกิดรัฐประหาร และผลพวงที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
สาระสำคัญหนึ่งในบทความดังกล่าวคือ วารอลสรุปลักษณะของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ไว้ 7 ข้อด้วยกัน เรียงลำดับตามความสำคัญได้ดังนี้
1. รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องมุ่งโค่นล้มระบอบเผด็จการ (totalitarian) หรือระบอบที่ผู้ปกครองใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (authoritarian) ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้มีความหลากหลายทางการเมือง วารอลขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า
“รัฐประหารใดๆ ก็ตามที่โค่นล้มรัฐบาลที่ไม่ใช่เผด็จการหรือไม่ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ ‘รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย’ ภายใต้กรอบคิดนี้รัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาถูกอ้างว่าทำเพื่อโค่นนักการเมืองที่ผู้นำคณะรัฐประหารมองว่าคอร์รัปชั่น ไร้ประสิทธิภาพ หรือสายตาสั้น รัฐประหารประเภทนี้อยู่นอกเหนือขอบข่ายของ ‘รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย’ เพราะประชาชนสามารถปลดนักการเมืองแบบนี้เองได้ด้วยการไม่โหวตเลือกพวกเขาในการเลือกตั้งตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง รัฐประหารจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่การเลือกตั้ง ไม่ใช่วิธีปลดนักการเมืองที่มีความหมาย เพราะผู้นำทางการเมืองคนนั้นไม่ยอมสละอำนาจ [ถึงแม้จะแพ้เลือกตั้ง]”
2. “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มุ่งตอบสนองความต้องการแบบเบ็ดเสร็จอย่างยาวนาน ปกติการต่อต้านนี้จะอยู่ในรูปของการลุกฮือขึ้นประท้วง พลเมืองอยากได้ประชาธิปไตย แต่ถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง
3. แม้จะเผชิญกับเสียงต่อต้านจากประชาชนจำนวนมหาศาล ผู้นำเผด็จการยังไม่ยอมลงจากตำแหน่ง
4. “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มักจะเกิดในประเทศที่บังคับให้พลเมืองต้องเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้กองทัพเต็มไปด้วยสมาชิกของสังคม ไม่ใช่ทหารรับจ้าง กองทัพในแง่นี้อาจได้ชื่อว่าเป็นสถาบันแห่งเดียวที่ไม่มีคอร์รัปชั่นและไม่ถูกกระทบจากกลไกของรัฐซึ่งมีคอร์รัปชั่นซึมลึก
5. กองทัพขานรับเสียงเรียกร้องของประชาชน ทำรัฐประหารเพื่อโค่นระบอบเผด็จการ
6. กองทัพจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมภายในระยะเวลาไม่นาน ประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างชัดเจนเพื่อการสร้าง “ตลาดการเมือง” ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลเฉพาะกาลว่าตนมีบทบาทจำกัดอยู่ในอำนาจเพียงชั่วคราวเท่านั้น
7. ภายหลังการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม กองทัพถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งโดยทันที ไม่ว่าผู้นำที่ประชาชนเลือกจะเป็นใคร ไม่ว่านโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพหรือไม่ โดยกองทัพจะไม่พยายามแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงผลการเลือกตั้ง
ส่วนการรัฐประหารหลายสิบครั้งในประเทศไทย มีครั้งใดบางที่จัดว่าเป็น “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ขอท่านผู้อ่านโปรดวินิจฉัย
คลิกอ่านเพิ่มเติม : รัฐประหาร 2490 กับกำเนิดรัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม และนายพล ตุ่มแดง
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “บุฟเฟต์ คาร์บิเน็ต” ฉายารัฐบาลพลเอกชาติชาย สู่รัฐประหาร พ.ศ. 2534
ข้อมูลจาก
สฤณี อาชวานันทกุล. Behind the Illusion ระบอบลวงตา. สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2564.
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564