แบบฉบับอันดีงามของข้าราชการในประวัติศาสตร์ไทย ภารกิจพิเศษของพระยามนตรีสุริยวงศ์

พระยามนตรีสุริยวงศ์ คณะราชทูตสยาม ข้าราชการ
พระยามนตรีสุริยวงศ์ และคณะราชทูตสยามชุดไปอังกฤษแต่ปรากฏตัวในกรุงปารีส พ.ศ. 2400 ปฏิบัติภารกิจพิเศษนอกหน้าที่ช่วยเหลือราชการแผ่นดินโดยที่มิได้รับมอบหมายในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อ่านนโยบายของพระเจ้าอยู่หัวออก (ภาพประกอบข่าวจากหนังสือพิมพ์ L’ Illustration กรุงปารีส 20 March 1858)

ภารกิจพิเศษของ “พระยามนตรีสุริยวงศ์” อาจนับได้ว่าเป็นแบบฉบับอันดีงามของ “ข้าราชการ” ในประวัติศาสตร์ไทย 

หนังสือชื่อ “นิราศลอนดอน” และจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย (กรมศิลปากร, คลังวิทยา, 2508.) รายงานเรื่องคณะทูตชุดแรกของรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2400) ที่นำโดย พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ไปเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว คณะทูตชุดดังกล่าวใช้เส้นทางบกผ่านไปทางประเทศฝรั่งเศส (แทนที่จะนั่งเรือตรงกลับจากอังกฤษตามทะเลเหมือนขามา) ในเชิงอรรถของหนังสือเล่มนี้ชี้แจงว่า

“การที่ราชทูตกลับทางฝรั่งเศสนั้น ปรากฏในจดหมายเหตุของรัฐบาลอังกฤษว่า แต่เดิมรัฐบาลจะจัดให้กลับมาเรือจากเมืองอังกฤษเหมือนเมื่อขาไป ราชทูตว่า เมื่อขาไปถูกคลื่นใหญ่ที่อ่าวบิศเคลำบากเต็มที ขากลับเป็นฤดูหนาว เขาว่าคลื่นใหญ่ยิ่งกว่าขาไป ขอกลับทางประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลจึงจัดให้มาทางนั้น”

การเดินทางผ่านทางฝรั่งเศสทำให้ต้องเสียเวลา และล่าช้าออกไปอีก 2 สัปดาห์ ในช่วงนี้กลับมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น กล่าวคือ คณะทูตได้เข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสเป็นกรณีพิเศษด้วย ทั้งๆ ที่มิได้แจ้งจุดมุ่งหมายมาก่อนอย่างเป็นทางการ

ภารกิจดังกล่าวทำให้เกิดความยอกย้อนทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะอีก 3 ปีต่อมา คณะทูตชุดที่ 2 นำโดย พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ต่างหากที่เป็นคณะทูตชุดทางการของรัชกาลที่ 4 ไปฝรั่งเศส (พ.ศ. 2404) เหตุผลที่แท้จริงของการไปฝรั่งเศสอย่างกะทันหันของคณะทูตชุดแรก จึงเป็นที่เคลือบแคลงของสื่อมวลชนในปารีสไม่น้อย ถึงขนาดตีพิมพ์เป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ระดับชาติ

เราไม่สามารถใช้พงศาวดารไทยค้นหาคำตอบในปริศนานี้ได้ทันทีทันใด เนื่องจากมันมิใช่จุดประสงค์หลักของการไปคราวนั้น จึงไม่น่าจะเป็นพระราชบัญชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง ภารกิจพิเศษนี้จึงล่อแหลมและเสี่ยงต่อคำครหา จนถึงการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตที่ได้รับมอบหมายไป ในทางปฏิบัติถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

แต่ในทางทฤษฎี มันเป็นการสนองพระบรมราชวิเทโศบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง ม.ล. มานิช ชุมสาย เคยอธิบายว่า “รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักว่า มหาอำนาจทางยุโรปนั้น แข็งกร้าวเกินกว่าที่สยามจะต้านทานไหว พระองค์จึงทรงมีนโยบายผูกสัมพันธไมตรีกับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมๆ กันเพื่อรักษาดุลยภาพ เผื่อว่าฝ่ายหนึ่งปฏิเสธความหวังดีของพระองค์ อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะเป็นที่พึ่งแทนได้” (History of Anglo-Thai Relations, Chalermnit , 2000.)

1 ปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ. 2399) สยามได้ร้องขอที่จะส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับคำตอบ ที่จริงเพราะฝรั่งเศสติดพันอยู่ในสงครามไครเมีย การที่คณะทูตชุดแรกบังเอิญอยู่ในยุโรป ย่อมเป็นหนทางที่จะสอบความในใจจากผู้นำรัฐบาลฝรั่งเศสได้ จึงสันนิษฐานว่า พระยามนตรีสุริยวงศ์ตั้งใจแวะกรุงปารีสเพื่อสืบหาความจริงด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่มิได้รับมอบหมายให้ทำเช่นนั้นเลย หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่งชื่อ L’ Illustration ลงวันที่ 20 March 1858 ลงข่าวการมาครั้งนี้บรรยายว่า น่าจะมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย

และด้วยความช่วยเหลือจากนายเฟาล์ (Mr. Edward Fowle-ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงสยามานุเคราะห์) ข้าหลวงอังกฤษผู้ติดตามคณะทูต ได้ใช้อิทธิพลทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในลอนดอนเป็นใบเบิกทาง หรือ “เส้นสาย” ในการติดต่อให้คณะทูตได้เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแทบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อในการเยี่ยมเยือนแบบลำลองเช่นนั้น การหลีกเลี่ยงสภาพอากาศแปรปรวน แต่กลับได้มาซึ่งอภิสิทธิ์พิเศษสำหรับการเข้าเฝ้าจักรพรรดิฝรั่งเศส และบรรลุเป้าหมายทางการเมือง จึงมิใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด

ภารกิจพิเศษของพระยามนตรีสุริยวงศ์ เสมือนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างชาญฉลาด และอ่านนโยบายของผู้นำประเทศออก สมศักดิ์ศรีราชทูตที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน

การไปฝรั่งเศสโดยมิได้เตรียมการมาก่อนเป็นการประหยัดเวลา งบประมาณ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงในระยะยาว โดยปราศจากการเกี่ยงงอนหรือบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบต่อนโยบายของแผ่นดินในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมืองเป็นหลัก จึงสามารถกระทำการต่างพระเนตรพระกรรณได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง

และด้วยปฏิภาณ ไหวพริบ อันสุขุมรอบคอบ วีรกรรมเช่นนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำและมิใช่เรื่องล้าสมัย สมควรที่ข้าราชการสมัยใหม่จะยึดถือเป็นแบบแผนในการปฏิบัติได้ พระยามนตรีสุริยวงศ์-ท่านคิดได้ยังไง?

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาประชาสัมพันธ์ ยกย่องบุคคลตัวอย่างในหน้าประวัติศาสตร์ไทยต่อสังคมครับ

ขอแสดงความนับถือ

ไกรฤกษ์ นานา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดเนื้อความจากจดหมายที่เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550 [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2560