5 ก.ค. 1966 “The Beatles” เกือบไม่ได้กลับบ้าน!!? หลังปฏิเสธคำเชิญร่วมงานเลี้ยง “เมียท่านผู้นำ” ฟิลิปปินส์

The Beatles
จากซ้าย ไบรอัน เอปส์ตีน ผู้จัดการวงเดอะบีทเทิลส์ พร้อมด้วยสมาชิกวง ริงโก สตาร์, จอห์น เลนนอน, พอล แม็คคาร์ทนีย์ และจอร์จ แฮร์ริสัน ภาพถ่ายในงานเปิดตัวอัลบัม “Hard day’s night” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1964 ในกรุงลอนดอน (AFP Photo)

5 กรกฎาคม 1966 “The Beatles” เกือบไม่ได้กลับบ้าน!!? หลังปฏิเสธคำเชิญร่วมงานเลี้ยง “เมียท่านผู้นำ” ฟิลิปปินส์

“ไปตายซะเดอะบีทเทิลส์” คือเสียงตะโกนของชาวฟิลิปปินส์เพื่อสาปส่ง 4 นักดนตรีจากอังกฤษที่ท่าอากาศยานขณะที่พวกเขากลับจะเดินทางออกจากฟิลิปปินส์หลังเสร็จสิ้นการแสดงคอนเสิร์ตสองรอบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1966 ในกรุงมะนิลาซึ่งมีผู้เข้าชมรวมกันมากถึง 75,000 คน (New York Times)

นางอีมัลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ ขณะเดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (The Élysée Palace) ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1976
นางอีมัลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ ขณะเดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (The Élysée Palace) ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1976

ความผิดของวงดนตรียอดนิยมระดับโลกจากลิเวอร์พูลคือการที่พวกเขาบังอาจปฏิเสธคำเชิญของ อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) สตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ (ภรรยา เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส [Ferdinand Marcos] ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น) เพื่อให้มาร่วมกินอาหารเช้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีพร้อมกับเด็กๆ อีก 300 คน

สื่อฟิลิปปินส์ (The Philippine Star GLOBAL) กล่าวว่า เป็นรามอน รามอส (Ramon Ramos) ผู้จัดคอนเสิร์ตที่ไปรับปากกับครอบครัวของมาร์กอสว่าจะพาเดอะบีทเทิลส์มาร่วมงานที่ทำเนียบประธานาธิบดี แต่งานดังกล่าวกลับมิได้มีการประสานงานกับทางไบรอัน เอปส์ตีน (Brian Epstien) ผู้จัดการของเดอะบีทเทิลส์ ทำให้พวกเขาไม่ได้รู้เลยว่าได้รับเชิญไปร่วมงานนี้

หลังเสร็จสิ้นการแสดงในวันที่ 4 กรกฎาคม เช้าวันถัดมา พนักงานโรงแรมปฏิเสธที่จะให้การบริการกับสมาชิกสี่เต่าทอง ริงโก สตาร์ มือกลองของวงเล่าความทรงจำถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “เราก็เลยเปิดทีวีดู แล้วก็เห็นรายการทีวีที่น่ากลัวมาก นางมาร์กอสตะโกนว่า ‘พวกเขาทำให้ฉันผิดหวัง’ แล้วก็มีภาพที่ตากล้องจับไปที่จานที่ว่างเปล่าและเน้นไปที่หน้าของเด็กๆ ที่พากันร้องไห้เพราะเดอะบีทเทิลส์ไม่ยอมมาร่วมงาน” ขณะเดียวกันสื่อในฟิลิปปินส์ก็พากันพาดหัวว่า “เดอะบีทเทิลส์ปฏิเสธประธานาธิบดี” 

รายงานของนิวยอร์กไทม์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1966 ขณะที่เดอะบีทเทิลส์กำลังจะเดินทางออกจากฟิลิปปินส์ว่า มีผู้โดยสาร นักข่าว เจ้าหน้าที่สนามบิน และบุคคลอื่นๆราว 50 คน เข้ามารุมตะโกนด่าพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังกรอกเอกสาร

ส่วน The Philippine Star กล่าวว่า เดอะบีทเทิลส์ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกใดๆ ระหว่างการเดินทางกลับ หลังสื่อฟิลิปปินส์ในสมัยนั้นพากันโจมตีพวกเขาที่บังอาจปฏิเสธคำเชิญของภรรยาท่านผู้นำ พวกเขาต้องแบกกระเป๋าขึ้นแท็กซี่ด้วยตัวเอง ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดในฐานะบุคคลสำคัญ

เมื่อเดอะบีทเทิลส์ถึงสนามบิน ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาเหลียวแล บันไดเลื่อนก็ถูกปิดการใช้งาน ทำให้พวกเขาต้องแบกกระเป๋าอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆเดินขึ้นอาคารสองชั้นท่ามกลางฝูงชนที่คอยก่นด่า เที่ยวบินของพวกเขาก็ต้องล่าช้าออกไป เมื่อเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเล่นงานพวกเขาด้วยข้ออ้างทางภาษี ยับยั้งไม่ให้พวกเขาเดินทางออกนอกประเทศได้โดยง่าย

เครก ครอสส์ (Craig Cross ผู้เขียนประวัติของเดอะบีทเทิลส์ในหนังสือ The Beatles: Day-by-Day, Song-by-Song, Record-by-Record) กล่าวว่า มะนิลาไทม์ได้บรรยายเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้โดยละเอียดว่า ริงโก สตาร์ มือกลองลงไปนอนกองกับพื้นหลังโดนเสยปลายคาง ขณะที่เขาค่อยๆ คลานออกไปก็ถูกเตะโดนฝูงชน จอร์จ แฮริสัน กับ จอห์น เลนนอน ถูกต่อยถูกเตะขณะกำลังวิ่งไปที่ด่านศุลกากร พอล แม็คคาร์ตนีย์ ดูจะไม่ค่อยได้รับอันตรายอะไร เพราะเขาชิ่งหนีไปก่อนแล้ว ส่วน ไบรอัน เอปส์ตีน ผู้จัดการวงถูกเพลิงพิโรธของฝูงชนแผดเผา เขาถูกเตะและจับทุ่มลงกับพื้น”

คำบรรยายของสื่อฟิลิปปินส์ฟังดูรุนแรงอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าสื่อดังกล่าวพยายามเขียนในสิ่งที่คนฟิลิปปินส์ต้องการจะฟังหรือถ่ายทอดเหตุการณ์จากข้อเท็จจริง แต่เมื่อพิจารณาจากปากคำของสมาชิกเดอะบีทเทิลส์เอง ก็เป็นที่แน่ชัดว่าชาวฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งที่สนามบินจ้องปองร้ายพวกเขาจริง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐเอง

“มันกลายเป็นเรื่องที่เลวร้ายสุดๆ เลยที่ฟิลิปปินส์” ริงโก สตาร์ มือกลองเดอะบีทเทิลส์กล่าว “คนทั้งเมืองพากันเกลียดเรา” จอร์จ แฮร์ริสัน กล่าว ก่อนเสริมว่า “ผู้คนพากันตะคอกตะโกนใส่เรา ตอนที่เราพยายามเข้าสนามบิน…มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจด้วยที่พยายามเข้ามาชกเรา บ้างก็ตะโกนและหาจังหวะเหวี่ยงหมัดใส่พวกเรา”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวฟิลิปปินส์บางส่วนในอดีตต่อตระกูลมาร์กอส ถึงขนาดปองร้ายชาวต่างชาติที่ดูหมิ่นเกียรติของท่านผู้นำ จนกระทั่งราว 2 ทศวรรษถัดมาชาวฟิลิปปินส์ “ส่วนใหญ่” จึงจะมองเห็นความฟอนเฟะของระบอบเผด็จการมาร์กอส และพากันขับไล่ให้ท่านผู้นำที่เคยเป็นที่รักยิ่งต้องหลบหนีไปใช้ชีวิตในต่างประเทศจนกระทั่งเสียชีวิต

ด้านนางมาร์กอส เมื่อศาลกลางแห่งสหรัฐฯมีคำสั่งยกคำฟ้องในทุกข้อกล่าวหาต่อเธอหลังการเสียชีวิตของนายมาร์กอส เธอได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับฟิลิปปินส์ได้ในปี 1991 สองปีถัดมาศาลฟิลิปปินส์ตัดสินให้เธอมีความผิดฐานทุจริต แต่ในปี 1998 ศาลสูงก็ได้สั่งกลับคำพิพากษาดังกล่าว และในปี 2008 ศาลฟิลิปปินส์ก็ได้สั่งยกคำฟ้องข้อหาโอนย้ายทรัพย์สินโดยมิชอบทั้งหมด 32 คดีของเธอ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 868 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3 หมื่นล้านบาท)

และในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2011 นางมาร์กอสได้ตอบคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเดอะบีทเทิลส์ว่า “ในฐานะที่เป็นแฟนตัวยงของเดอะบีทเทิลส์คนหนึ่ง ฉันจึงส่งตัวแทนไปติดต่อกับโปรโมเตอร์ในฟิลิปปินส์เพื่อเชิญให้พวกเขามารับประทานอาหารที่ทำเนียบรัฐบาล (Malacanang Palace) เพื่อที่ฉันจะได้ต้อนรับพวกเขาอย่างเป็นส่วนตัวสู่ประเทศของเราพร้อมกับครอบครัวและเพื่อนๆของฉันที่เป็นแฟนของวงเช่นกัน”

“บอกตามตรงว่า ฉันผิดหวังที่พวกเขาไม่มาปรากฏตัว แต่ตอนหลังก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจผิด และฉันก็ไม่ได้แค้นเคืองอะไร…ตอนที่ฉันรู้ว่าพวกเขาถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่สนามบินขณะเดินทางกลับ ฉันรีบเดินทางไปที่สนามบินเพื่อยับยั้งเหตุ ฉันยังจำได้ว่าได้ตำหนิคุณวิลลี ฆูราโด (Willy Jurado) ผู้จัดการสนามบิน ด้วย” นางมาร์กอสชี้แจง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 5 กรกฎาคม 2561