ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ “หวังเต๊ะ” ครูเพลงลำตัด ที่ Google ร่วมเชิดชูผลงาน

หวังเต๊ะ เป็นศิลปินลำตัด ผู้เผยแผ่ลำตัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2531 (เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2468 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555)

เรื่องราวของ “หวังเต๊ะ” นี้ คัดบางส่วนจากบทความ “คุยกับ หวังเต๊ะ เรื่องลำตัด” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ.​ 2527 โดย เอนก นาวิกมูล ได้สัมภาษณ์หวังเต๊ะ เมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 เนื้อหาที่คัดมามีดังต่อไปนี้


หวังเต๊ะ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้ชื่อหวังเต๊ะ เพราะหวังเต๊ะนั้นเป็นชื่อต่างหาก ชื่อจริงของหวังเต๊ะที่ถูกคือ หวังดี นามสกุล นิมา เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. 2468 หรือปีที่รัชกาลที่ 6 สวรรคต… บ้านเกิดคือ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี…

พ่อชื่อ หวังเต๊ะ นับถือศาสนาอิสลาม เป็นนักเล่นลำตัดคนดังคนหนึ่งของลาดหลุมแก้ว ส่วนแม่ชื่อ ลำไย เป็นคนทางปากเกร็ด ที่จริงก็อยู่ไม่ไกลกันแต่ติดเขตเมืองนนทบุรี แม่เป็นคนเล่นละครชาตรี รำสวย ทั้งสองท่านเสียชีวิตไปหมดแล้ว

เนื่องมาจากที่พ่อแม่และญาติพี่น้องเป็นศิลปิน คือมีทั้งที่เล่นลำตัด เล่นละครชาตรี เล่นเพลงฉ่อย เพลงอะไรต่อมิอะไร หวังเต๊ะจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมของการละเล่นแบบไทย ๆ มาตลอด สิ่งเหล่านี้ได้ฝังอยู่ในหัวมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ หรือจะเรียกว่าอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ เมื่อได้ฟังพ่อแม่พี่น้องร้องเพลงก็จดจำ และหัดเพลงไปโดยอัตโนมัติ

ส่วนทางการเรียน หวังเต๊ะก็เรียนเหมือนกัน สมัยนั้นระดับการศึกษาในเขตที่ตนเองอยู่มีแค่ประถม 6 หวังเต๊ะก็เลยเรียนจบแค่ประถม 6 ที่โรงเรียนวัดหน้าไม้ ใกล้บ้าน ในระหว่างเรียน ประสาเด็กชอบเอาชื่อพ่อมาเรียกล้อกันหวังดีก็เลยไม่เป็นหวังดี กลับกลายเป็นหวังเต๊ะไป และด้วยเหตุนี้เองภายหลังหรือนับแต่สมัยหนุ่มมาหรืออย่างไรทำนองนี้ หวังเต๊ะก็เลยเอาชื่อพ่อมาเป็นมงคลนามให้คนรู้จัก…

ระหว่างอายุ 13-14 เริ่มเป็นลำตัดแล้ว ออกเล่นมาตั้งแต่นั้น เนื้อเพลงจำเอาจากพ่อบ้าง จากครูทั้งหลายที่ได้พบปะติดตามบ้าง จากนักเพลงอื่น ๆ ที่ไม่รู้จักบ้าง เหล่านี้เอามาจำไว้เสมอ หวังเต๊ะบอกว่า อาจารย์ของผมมีมากมายนับไม่ถ้วน

ทีแรก นอกจากพ่อก็มีครูแก้ว ผมโป่ง เพื่อนของพ่อ เล่นเพลงเล่นลำตัดกับพ่อมาด้วยกัน ครูคนนี้เป็นพ่อของ นายแก้ว สาริกา ยี่เก… ลำตัดแบบตาแก้วนั้นถือเป็นลำตัดแบบบ้านนอก อ้าว แม้แต่วงการเพลงพื้นเมือง ก็มีลูกทุ่งลูกกรุง บ้านนอกเมืองกรุงด้วยนะ

เพลงฉ่อยก็มีทั้งลูกทุ่งลูกกรุง แบบลูกกรุงเขาร้องสั้น ๆ ไม่กี่คำก็ลง แล้วนอกจากนั้นเขายังร้องเป็นสองทางอีกด้วย ก็ทางผู้หญิง ทางผู้ชายไง (จริง ตัวอย่างเช่นตาพรหม ยายส่วน ยายทองหล่อ ซึ่งเข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ หลายสิบปี) ถ้าแบบลูกทุ่งหญิงชายร้องทำนองเดียวกัน แล้วร้องนาน ๆ ลงสักครั้ง คือร้องเสีย ยาว… แล้วถึงจะลงเพลง

หวังเต๊ะ ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2527

ครูของหวังเต๊ะยังมีอีกหลายคนแต่จาระไนไม่หมด หากอ่านต่อไปก็จะรู้ว่ามีใครได้รับการกล่าวถึงบ้าง ข้ามไปถึงเรื่องประวัติของลำตัดชนิดไม่ต้องอ่านจากหนังสือที่เขียนถึงเรื่องลำตัดกัน จะฟังดูว่า หวังเต๊ะ ได้ค้นคว้าเรื่องนี้ไว้เพียงใด หวังเต๊ะกล่าวว่า

ลำตัดเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 และก็เกิดในเมืองไทย ทีแรกรัชกาลที่ 1 ตีเมืองปัตตานี (คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้า น้องรัชกาลที่ 1 ลงไปด้วยพระองค์เอง คงจะหมายถึงคราวที่ได้ปืนนางพญาตานีมา) แล้วเอาคนทางปัตตานีขึ้นมาทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่สวนหลวง ทางถนนตก แล้วก็ไปทางบ้านป่า คลองตัน ไผ่เหลือง มีนบุรีโน่น

พวกนี้เขาติดกลองรำมะนาขึ้นมาด้วย ทางปัตตานีเขามีเล่นลิเกฮูลู เขาก็ยังใช้กลองแบบนี้เล่นอยู่ ว่ากันอย่างลำตัดนี่แหละ… ที่นี้คนที่ขึ้นมากรุงเทพฯ เอากลองขึ้นมาแล้ว ก็มาร้องเพลงสวดสรรเสริญพระนะบี ก็ร้องกันไป… นาน ๆ เข้าก็มาขุดกลองเอง แล้วตีรวมกันเรียกว่า ดิเกเรียบ คือแบบลิเกฮูลูนั่นว่ากันหยาบ แล้วนี่เขามาว่าให้เรียบ กับแข่งเสียงกลองเสียงร้องด้วยว่าใครจะเพราะกว่าใคร

ดิเกเรียบ ตี “ละกู” ยาว ละกู แปลว่า ทำนอง รวมความแล้ว ดิเกเรียบตีทำนองยาว ๆ คือที่ช้า ๆ ร้องช้า ๆ พอเป็นดิเกเรียบใช้กลอง 5 ใบ 8 ใบ ก็มาตีประชันกัน ตีในงานของอิสลาม ร้องเกี่ยวกับสรรเสริญพระนะบี สมัยนั้นยังร้องแต่ผู้ชาย ยังไม่มีผู้หญิงเข้าไปร้องด้วย

พอมาอีก ก็ตีกลอง ร้องต่างหาก ตีกลองต่างหาก ไม่นั่งรวมกันตีพลางร้องพลางแล้ว คราวนี้คนร้องก็ร้องไปสิ คนตีกลองก็ดีไปสิ แยกกันอย่างที่เห็นลำตัดเล่นเดี๋ยวนี้แหละ ผิดกับเดี๋ยวนี้ก็ตรงที่ว่าสมัยแรกยังนั่งร้องนะ ยังไม่ยืน

ต่อมาก็ยืนครึ่งนั่งครึ่ง เขาเรียกว่า “ครึ่งท่อน” คือยืนไม่เต็มตัว ตอนนี้มีเริ่มว่าค่อนขอดกันแล้ว แทนที่จะร้องสรรเสริญอะไรกัน ก็มาใส่ค่อนขอดเข้าแล้ว ว่าเป็นภาษาไทยด้วยนะ อย่างตุ้มมะบายเซ โอละเฮ โอละชา นี่… นี่ไม่ใช่ภาษามลายูหรอก คนไทยเขียนเอง แต่งเอง ภาษาไทยแต่ง แขกฟังไม่ออกหรอก ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร หะยึดงหะยีแดง แกก็ร้องภาษาไทย

ต่อมา ถึงสมัยครูขันกับครูฟัน ที่เจริญพาสน์นี่ เขาเริ่มยืน เล่นเข้าชุดออกภาษาแล้ว เล่นที่เจริญพาสน์ กรุงเทพฯ นี่แหละ (เลยสี่แยกบ้านแขกไปหน่อย มีสะพานข้ามคลอง มีวัดหงษ์และสุเหร่า) ก็มีนายถนอม ท่าเกษม นายจงสามสมอนี่ทหารเรือเก่า เขาเล่นเรียกว่า ลำตัดทหารเรือ เขาเป็นรุ่นพ่อผม ผมเคยเห็น ลำตัดเกิดกรุงเทพฯ นะ…

ก็เริ่มมีมากขึ้น มีนายชะโอดท่าไข่ ท่าไข่ไหน? ทางแปดริ้วไง… ชื่อดังมากเลยเชียว คือเกิดลำตัดแถวนั้นแบบลูกทุ่งนะ ถ้าแบบลูกกรุงละก็แบบนายถนอมท่าเกษม นายจงสามสมอที่ว่า

พอนายโอดมา… แกเป็นลูกครึ่งจีนไทย ไม่ใช่แขกหรอก พ่อแกชื่อหมอเอม เป็นหมอขายยา นายชะโอดนี่ตัวใหญ่ตัวโต สูงขาว อย่างกะฝรั่ง ผมเคยเห็นรุ่นพ่อผม แกด้นเก่ง เขียนลำตัด (แต่งลำตัด) ก็ได้ ร้องเสียงดังมาก รำก็ดี เก่งมากคนนี้… แกเข้ามากรุงเทพฯ ร้องกลอนยาว ๆ นาน ๆ ลง ส่วนนายถนอม นายจงว่าสั้น 3-4 คำร้องเร็วรับเร็ว นี่แกว่ายาว คนก็เลยชอบ…

ตอนนี้ร้องภาษาไทยหมดแล้ว พวก “หะยี” หมดแล้ว สู้ไม่ได้ ร้องไม่ชัด ไม่ค่อยเป็นภาษาไทย ตอนนี้มีครูบุญสืบกับครูกบ เขียนภาษาไทยให้นายประยูร นายประยูรร้อง นี่ก็เก่งเหมือนกัน รุ่นน้ารุ่นอาผมเสียงดี เป็นพ่อของสายัณห์ปัจจุบัน… ผัวแม่สุวรรณ… ร้องเพราะมาก คนฟังเงียบเลย…

ก็มีลำตัดมากขึ้น ที่อยุธยาก็เยอะ นายประยูรคนปราจีนบุรี แต่ครูบุญสืบเอาไปหัดที่อยุธยา แกเสียงดี แล้วทีนี้ทางนี้ นายชะโอดมาดังทางกรุงเทพฯ แล้ว พระยาไพบูลย์สมบัติ แกเลี้ยงนายชะโอด ก็เลยมาประชันกับนายประยูร กลับสู้นายประยูรไม่ได้เสียอีก…

คณะของหวังเต๊ะแสดงลำตัดทางช่อง 5 เมื่อต้นปี 2526 ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2527

สมัยก่อนเขาว่า เขาตัดสินด้วยเสียงฮาจริงไหม?

จริง ฮาหนึ่ง ได้คะแนนนึง ประชันไปประชันมาก็เลยทะเลาะกัน สมัยอาจารย์โอดนี่แหละ เขาห้ามเล่นลำตัดอยู่พักนึง ตีกัน… ไม่ใช่ลำตัดตีกันหรอก ไอ้พวกกองเชียร์นั่นแหละมันตีกัน… ฮ่ะ ฮ่ะ ๆ ๆ ๆ …

จากนั้นก็มารุ่นผม เป็นรุ่นลูก ผมนี่เล่นลำตัดอายุ 14 ผมไปกับอาจารย์โอด ผมเรียกพ่อตั้งแต่แกยังหนุ่ม ๆ อายุแกราว 30-40 ปี ผม 13-14 ก็ไปกับแก แกสูบฝิ่น เขียนบทเองร้องเอง คนนี้ต้องถือเป็นคนสำคัญมาก แกตายก็ตายประหลาด ตายในเรือจ้าง แกผอมมาก ไปตายในเรือจ้าง คือจะไปบ้านเดิมที่ท่าไข่ แปดริ้ว จะกลับบ้าน พอเรือมาถึงวัดแสนแสบ แกว่าแถววัดนี้น่าอยู่นะ เลยไปอีกหน่อยแกก็ตาย เป็นอันว่าเขาเอาขึ้นฝังที่วัดนั้น แกเป็นอัจฉริยะลำตัดจริง ๆ …

นายประยูรก็ตาย… สมัยหนึ่งก็อยู่กับผม แกแปลก อายุก็น้อยไม่ถึง 50 แกอยู่กับสิ่งมึนเมานะ สมัยก่อนมีชื่อมีเสียง เขาก็เลี้ยงยา ยาฝิ่นไงแล้วมาเป็นทีบี มาอยู่ที่บ้าน เป็นทีบี วัณโรค สมัยก่อนวัณโรครักษายากไม่เหมือนสมัยนี้…

ย้อนกลับไปเรื่องประวัติศาสตร์ลำตัดอีกสักเล็กน้อย อาจารย์มีหลักฐานอย่างไรบ้างไหมว่า คนทางปัตตานีขึ้นมาเป็นต้นแถวลำตัด?

นี่เขาเล่ากันเรื่อยมา แล้วก็ (มีหลักฐานทางภาษากับเรื่องกลอง) ใช้เนื้อปัตตานี คือภาษาปัตตานีไง เขาเอาภาษาปัตตานีมาใช้เลย ปัจจุบันกลองปัตตานีกับกลองที่นี่ก็ยังวัดกันได้นะ มันเป็นแบบเดียวกัน… เขาเรียกว่ากลองแขกหน้าเดียว กลองแบบนี้ขึ้นรถไฟแล้วไม่ต้องเสียค่าระวาง กลองอื่น ๆ … เขาขึ้นรถไฟต้องเสียค่าระวางนะ แต่กลองรำมะนานี่ไม่ต้อง คือคนรถไฟเขาชอบลำตัดก็มีบ้าง ที่ว่ามาจากทางใต้ก็เรื่องกลอง ส่วนคำร้องกับวิธีแสดง (เริ่มแรกก่อนจะคลี่คลายเป็นลำตัด) มาเกิดที่กรุงเทพฯ

แล้วเขาเคยนุ่งผ้าม่วงกัน เป็นชุดใหญ่โก้… เสื้อก็แบบคอตั้ง สมัยรัชกาลที่ 6 โก้มาก ลำตัดกำลังเฟื่อง แล้วมีผ้าคาด ปัจจุบันคุณไปดูเถอะ ยังคงใส่เสื้อคอกลมที่เขาเรียกว่า คอมิสกรีอยู่เลย มีกระดุม 3 เม็ด เสื้อแบบนี้เดิมเขาใส่เป็นเสื้อชั้นในของเสื้อคอตั้งไง เป็นเสื้อผ้าป่าน พอไม่เอาคอตั้ง ก็เหลือแต่ชั้นใน เป็นเสื้อมิสกรี แบบนี้แหละที่ลำตัดยังคงรักษาเอกลักษณ์เรื่องเสื้อเอาไว้ได้ (ถึงจะไม่เป็นเสื้อคอตั้งแต่ก็ยังมีเสื้อชั้นในของคอตั้งตกทอดมา)

กรุณาสังเกตเสื้อลำตัดผู้ชายที่ใส่เล่นกันทุกวันนี้ หรือในวันนี้ นอกจากเสื้อแล้ว เขามีผ้าคาดด้วย สมัยก่อนใช้ผ้าขาวม้าบ้านครัว…

ตกเรื่องถ้อยคำบางคำไป หะยีนี่คืออะไร แต่ก่อนได้ยินเขาพูดว่า ลำตัดหะยีนั่นหะยีนี่ ล้วนแต่เก่ง ๆ ทั้งนั้น หะยีแปลว่าอะไรกันครับ?

หะยีก็คือคนที่ไปเมกกะมาแล้ว แต่หะยีไม่ใช่อิสลามทุกคน (ที่เล่นลำตัด) เขาตั้งไปงั้นแหละบางทีไปบ้างไม่ไปบ้าง คนไทยก็มี หะยีกบ ไม่ใช่อิสลาม หะยีตุ๋ย พ่อของ “จำลักษณ์” นี่ก็ตั้งกันไป หะยีแดง เป็นคนทางไผ่เหลือง เสียงดี อยู่ทางมีนบุรี มีชื่อเสียง

สมัยก่อนเขาร้องเป็นภาษามลายูหน่อย ๆ หะยีกบแกมาเขียนกลอนลำตัด คือ แกอยู่โรงเรียน แกรู้หนังสือ แกก็เขียนขาย ครูบุญสืบก็เขียนลำตัดมาก เขียนให้ผู้หญิง หะยีดำ นี่ก็ไม่ใช่หะยีหรอก…

คุยไปถึงเรื่องออกสิบสองภาษา แต่ก่อนเขาเล่นออกสิบสองภาษา แต่อาจไม่ครบ ก็แล้วแต่ใครถนัด เขาว่ากันแรง ๆ แล้วต่อมาหลัง ๆ นี่ ลำตัดทำท่าจะสูญ… (มีอย่างอื่นให้คนเลือกดูมากขึ้น) ผมก็ต้องสร้างมุกขึ้น แต่ก่อนเขาว่ากันแรงไป คนไม่ชอบ เมื่อราว 20-30 ปีมาแล้ว ผมก็เขียนบท อันไหนไม่เข้าท่าก็ไม่เอามา เล่น แล้วเอาเพลงพื้นเมืองอื่น ๆ เข้ามาแทรก สู้แบบนี้อยู่ตั้งนาน จนเดี๋ยวนี้ก็อยู่กันได้

แล้วผมไม่ยอมเล่นสว่างด้วย ผมว่ามันน่าเบื่อ คนเบื่อ… ผมเล่นแค่ 2 ยามเที่ยงคืนแล้วก็เลิกกัน แบบนี้มันดีทุกครั้งไป จะเล่นให้ยันรุ่งมันมากไปนะ โธ่… ของผมเล่น 6 คน จะเอาสว่างเชียวหรือ มันไม่ใช่ 70-80 ชีวิตอย่าง สายัณห์ สัญญา เขานี่จะมีแรงร้องได้ แต่ถึงเขาอย่างนั้นเขาก็ยังเล่นแค่ครึ่งคืนเท่านั้น เขายังไม่เล่นสว่างเลย ที่เล่นกันยันสว่างน่ะ บางที่ลำตัดไม่มีสตางค์ก็ต้องรับงาน เล่นเป็นเพื่อนแม่ครัวไป เดี๋ยวนี้ลำตัดพอจะไปได้แล้ว

คณะของหวังเต๊ะแสดงลำตัดทางช่อง 9 เมื่อต้นปี 2526

ลำตัดมันจะไปกับสังคมนี้ได้ ผมดูแล้วจะไปได้ยังไง ผมว่าถ้าเราประคองคำกลอนให้ดี ถ้อยคำใช้ให้ดี ก็จะไปได้ แล้วอีกอย่าง ผมฝันไปนะ ผมคิดของผมคนเดียว คนอื่นเขาว่าตาหวังนี้ท่าจะบ้า… คือว่าผมถ้าจะให้ โขนกรมศิลป์หรืออะไร ๆ อย่างลำตัดอยู่รอด เวลารับงานน่ะ ก็ต้องมีข้อแม้ว่า ต้องรับเอาแต่เราอย่างเดียว กรมศิลป์เอาโขนไปเล่นอย่างเดียว คนมันก็ต้องดูจนเลิกแหละ ไม่ต้องมีหนัง มีอะไรไปแย่งคนนะ เราไม่ต้องกลัวว่าคนจะหนีไปทางอื่น ลดราคาลงมาอีกสักหน่อย แล้วเจ้าภาพรับปากให้มั่นเหมาะว่าไม่เอาอย่างอื่นมาแย่งคน คนเมาคนมาวไม่ให้มายุ่ง เราจะสาธิตให้ดู มันก็อยู่ไปได้

สมัยหนึ่งที่ลำตัดทำท่าจะเจ๊งไม่เจ๊ง ผมก็เคยทำมาแล้ว ผมกู้แบบนี้ ผมเอาแค่อย่างเดียว ถ้ามี 2 อย่างมาประชันกัน ผมไม่รับ เล่นดึกเกิน 2 ยามก็ไม่เอา ถ้าให้คนดูทีละหลายอย่าง คนก็เสียสมาธิ ไม่ดูอะไร ผมเอาแบบนี้

เพลงพื้นเมืองก็ไม่สูญนะ ถ้าช่วยกันทำ ผมเองตอนนี้กำลังจะทำด้วย มันไม่ได้ขึ้นกับกรมศิลป์หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเท่าใดหรอก มันขึ้นกับศิลปินเอง ถ้าเล่นดีก็ขึ้นได้ เราต้องเขียนบทไม่ให้ด้นมาก ลำตัดของ ผมนี่เขียนทั้งนั้น เขียนให้พอเหมาะพอเจาะ สองแง่สองง่ามมีบ้าง ลำตัดน่ะกลอน 10 คำ มันด้นยากไม่เหมือนเพลงฉ่อยเพลงอีแซว นั่นมี 8 คำด้นได้ ลำตัดไหนว่าด้นน่ะ ไม่จริงหรอก เขียนบทกันทั้งนั้น…

ปีหน้า ผมจะทำเรื่องเพลงพื้นเมือง เป็นแบบรับงานเล่นเลย เล่นเพลงฉ่อยโดยตรง เรียกว่า “เพลงพื้นเมืองหวังเต๊ะ” เราจะหนักไปทางเพลงฉ่อย 3 ชั่วโมง ตอนนี้กำลังคิดอยู่ เพลงฉ่อยนี่กับลำตัดนี่ผมว่าพอไปได้เพราะทั้ง 2 อย่าง มีสำเนียงที่คมขำ ทำนองก็เพราะ เพลงฉ่อยถือเป็นเพลงหลักนะ ถ้าอีแซวจังหวะค่อนข้างถี่ไป…

เขาว่า (ฟังจากนายกร่าย จันทร์แดง พ่อเพลงทางบ้านปลายนา อ.ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี) เขาว่าหวังเต๊ะ บอกเองว่า เป็นคนตั้งทำนองอีแซวอีกแบบหนึ่ง…

จริงครับ ผมเป็นคนเปลี่ยนเอง คือให้รับหัวท้ายทุกครั้ง ที่จริงเปลี่ยนนิดหน่อยน่ะ คือผมจะให้รำได้มากขึ้น อีแซวนี่มันร้องไปเรื่อย เนื้อมากก็ให้ลูกคู่รับเสียบ้าง จะได้รำบ้าง (ฟังอย่างที่ร้องกันว่า เอ้ามาเถิดมา กะไรแม่มา เอ่อเอย…) ฯลฯ …

หวังเต๊ะนับเป็นผู้ที่รักการค้นคว้าศึกษาเพลงพื้นเมืองมากคนหนึ่ง ข้อนี้ต้องยกย่องมาก หวังเต๊ะไปตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ ได้พบปะกับพ่อเพลงแม่เพลง พบกับลำตัดและใครต่อใครมากมาย และหวังเต๊ะก็ได้เก็บเพลงเก่า ๆ ประเภทต่าง ๆ ไว้กับตัว ไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร เพราะฉะนั้นที่ร้อง ๆ กันบนเวทีเพียงชั่วโมงสองชั่วโมงจึงไม่ใช่ความสามารถทั้งหมดของหวังเต๊ะ ยังมีของดีอีกมากมายที่เรายังไม่ได้เปิดโอกาสให้หวังเต๊ะได้แสดง

หวังเต๊ะมีความรักเด็ก และหวังว่าเด็กจะเป็นผู้สืบทอดมรดกไทย หวังเต๊ะจึงยินดีไปบรรยาย ร่วมสัมนากับเจ้าหน้าที่ทางวัฒนธรรมตามแต่เขาจะเชิญมา และนอกจากนั้นก็ยังไปตามโรงเรียน เล่นลำตัด เล่นเพลงพื้นเมืองให้เด็กดูด้วย เด็ก ๆ ชอบใจมาก ในการคุยหวังเต๊ะกล่าวว่า

ยินดีเอารถไปถึงโรงเรียนเลย

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2564