ครั้งหนึ่ง คนไทยเสียชีวิตด้วย “โรคเหน็บชา” มากกว่า “อหิวาต์”?!?

โรงเรียนแพทย์แห่งแรก ณ โรงศิริราชพยาบาล (โรงพยาบาลศิริราช)

หนังสือ ประมวลบทความนายแพทย์ยงค์ ชุติมา มีบทความหนึ่งชื่อ “ทำไมต้องปฏิรูปอาหารการกินของชาติ” บทความนี้ตีพิมพ์ใน “แถลงการสาธารณสุขเล่ม 13 อันดับ 10 มกราคม 2480” ขณะนั้นนายแพพย์ยงค์ เป็นนายแพทย์ตรวจการสาธารณสุข  เนื้อหาของบทความดังกล่าว สร้างความหลาดใจว่า

ครั้งหนึ่ง คนไทยเสียชีวิตจาก “โรคเหน็บชา” มากกว่า “โรคอหิวาต์” เสียอีก

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า ระหว่างปี 2475-79 จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเหน็บชารวม 9,931  คน เสียชีวิตด้วยอหิวาต์รวม 6,446 คน เรื่องนี้นายแทพย์ยงค์อธิบายไว้ว่า “สยามเรามีโรคเหน็บชามาก…แต่เนื่องจากไม่ Spectacular หรือโลดโผนอย่างอหิวาต์จึงไม่ใคร่ได้รับความเอาใจใส่”

สาเหตุสำคัญหนึ่งนั้นมาจาก การเกิดโรงสีข้าวในชนบท

นายแพทย์ยงค์เขียนไว้ว่า “สภาพชนบทเวลานี้ได้เปลี่ยนแปลงมาก แม้แต่ตําบล อําเภอห่างๆ ที่รถไฟและ รถยนตร์เดินไม่ถึงก็มีโรงสีข้าว ชาวนาเลยไม่ซ้อมข้าวโดยแรงมือ กลับนิยมเอาข้าวให้โรงสีซ้อมให้ และเมื่อตนไม่บริโภคอาหารจําพวกโปรตีนไว้เพียงพอ ก็สําแดงอาการบกพร่องไวตามิน บี.

ฉะนั้นไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า โรคเหน็บชาจะปรากฏขึ้นบ่อยๆ ตามภาคอีสานและท้องที่ชนบทต่าง ๆ ราษฎรที่อยู่ภายในเขตเจริญเช่น พระนคร และจังหวัดที่ก้าวหน้า ไม่สู้จะป่วยด้วยเหน็บชา เพราะว่าได้กินอาหารจําพวกมีไวตามิน บี. มากกว่าชาวชนบท

แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเห็นว่ายังกินไวตามิน บี. ไม่พอแก่สุขภาพ สมบูรณ์ โรคบกพร่องไวตามิน บี. ชนิดสําแดงอาการไม่ชัดยังมีมากมายในสยาม…”

ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่กิน “ข้าวแดง” ซึ่งอุดมไปด้วยไวตามิน บี. แต่เมื่อเปลี่ยนกินข้าวขัดขาวก็ทำให้บกพร่องวิตามินบี และทำให้เกิดโรคเหน็บชา

นายแพทย์ยงค์อธิบายเรื่องนี้ว่า “ถ้าบกพร่องมากก็ถึงกับป่วยหนักเป็นเหน็บชา ถ้าบกพร่องบ้างก็ทําให้ผอม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร และเส้นประสาทพิการ และทั้งอ่อนแอ โรคบกพร่องไวตามิน บี. มีอยู่ทั่วประเทศ อาการสําแดงออกมาไม่เพียงพอแก่การ วินิจฉัยตามตํารา ฉะนั้นจึงเข้าใจกันว่าไม่สําคัญ

แต่อันที่จริงนั้นสําคัญเหลือเกินเพราะทําให้สุขภาพลดหย่อน และเป็นหนทางให้เชื้อโรครุกรานได้ ทําให้บุคคลเหล่านี้อ่อนแอ ง่อนแง่น ปราศจากกําลังกายและใจ

อาหารจําพวกเนื้อสัตว์และโปรตีนต่างๆ มี ไวตามิน บี. พอใช้ แต่ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่นิยมกินโปรตีนจําพวกสัตว์โดยปริมาณ มากพอควร ฉะนั้นจึงต้องหาอุบายใช้ถั่วเหลืองซึ่งมีโปรตีนคล้ายเนื้อสัตว์เป็นอาหาร หรือเป็น กับ ให้พลเมืองที่ยังไม่ชอบเนื้อกินแทน”


ข้อมูลจาก

ยงค์ ชุติมา. ประมวลบทความนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 สิงหาคม 2507


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23  เมษายน 2563