ความหมาย “การวิ่ง” ที่เปลี่ยนตามยุค มนุษย์โบราณวิ่งเพื่อรอด ปัจจุบันกลายเป็นอะไร?

ภาพประกอบเนื้อหาเรื่องพัฒนาการความหมายการวิ่ง (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

“วิ่ง” เป็นการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (เร็วกว่าเดิน) คนเรารู้จัก และคุ้นเคยกับการวิ่งมาช้านาน ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องเร่งรีบที่ต้องการให้ทันเวลาเราก็จะวิ่งกันเป็นปกติ หรือในยามวิกฤตที่อันตรายกำลังจะมาถึงเราก็วิ่งเช่นกัน และวิ่งเร็วกว่าปกติเสียด้วย

หากวันนี้ เราไม่ได้ “วิ่ง” เพียงเพราะเรา “รีบ” อีกต่อไปแล้ว

การวิ่งยังมีความหมายในมิติอื่นๆ อีกด้วย ซึ่ง วิโรจน์ สุทธิสีมา สำรวจความหมายของการวิ่ง และเขียนอธิบายไว้ในวิทยานิยพนธ์ของเขาที่ชื่อว่า “การสื่อสารกับวาทกรรมการวิ่งในสังคมไทย” ซึ่งขอสรุปบางส่วนมากนำเสนอดังนี้

การวิ่งในทางวาทกรรมไม่ใช่เพียงกิจกรรมทางกาย อันได้แก่ การเคลื่อนที่ด้วยเท้าไป ข้างหน้าด้วยความเร็วกว่าการเดิน หากยังเป็นผลผลิตจากสื่อประเภทต่างๆ จากผู้คนและระบบ สังคม จากสถาบันทางอํานาจในสังคม อันยังผลให้การวิ่งมี ความหมายหลากหลาย สลับซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับการลําดับคุณค่าของการวิ่งที่แตกต่างกัน ออกไปในแต่ละยุคอีกด้วย จากงานวิชาการข้างต้นแบ่งการสื่อสารกับวาทกรรมการวิ่งในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เป็นทั้งหมด 3 ยุค

1. ยุคโบราณ: การวิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่

ในยุคโบราณของไทยนั้น กินระยะเวลาครอบคลุมตั้งแต่มีเอกสารเชิงประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ อันได้แก่ สมัยอาณาจักรสุโขทัย ไล่เรียงเรื่อยมาจนถึงช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 25 การวิ่งจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ประจําวัน และแทรกซึมเข้าไปอยู่ ในกิจกรรมที่คนในยุคโบราณต้องการเคลื่อนไหวให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของศึกสงคราม การหนีจากภยันตรายต่างๆ หรือการละเล่นตามประเพณีและเทศกาลของชนชั้นล่าง

การสืบค้นนั้นผู้วิจัยพบการกล่าวถึงการวิ่งในฐานะ “กิจกรรมทั่วไป” มากที่สุด ทั้งยังถูกให้คุณค่าว่าเป็นความหมายในเชิงลบและปรากฏในลักษณะของวิกฤติ (Crisis) เป็นส่วนใหญ่ และแทบจะไม่ปรากฏการวิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของกีฬา ในฐานะเป็นกีฬาโดยตัวเอง และการวิ่งในฐานะการออกกําลังกายเลย

2. ยุคเปลี่ยนผ่าน: วาทกรรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์

เป็นยุคที่วาทกรรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้าครอบครองพื้นที่ สื่อเกี่ยวกับการวิ่งในสังคมไทย โดยสามารถย้อนหลังไปได้ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ. 2500) ความหมายของการวิ่งไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตประจําวันอีกต่อไป หากแต่ยังครอบคลุมถึงการวิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของกีฬา การวิ่งในฐานะกีฬาโดยตัวเอง และการวิ่งในฐานะการออกกําลังกาย การวิ่งในยุคนี้คือการผสานความคิดทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้ากับการวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างวาทกรรม “วิ่งเพื่อสุขภาพ”

กระแสการวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ที่ไม่ได้มองเรื่องประเด็นการแพ้ชนะเป็นหลัก เริ่มเด่นชัดมาขึ้นในช่วง 2526-29  โดยใน พ.ศ. 2530 มีการจัดการวิ่งมาราธอนครั้งใหญ่เพื่อเปิดสะพานพระราม 9 ประชาชนไปรวมวิ่งจำนวนมาก (ดูภาพเปิดเรื่อง) และทำให้ผู้รักการวิ่งเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นยุคที่เรียกว่า “รันนิ่งบูม”

นักวิ่งมาราธอนหญิงในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (Photo by KRAIPIT PHANVUT / AFP)

3. ยุคปัจจุบัน: วาทกรรมผสมผสานและวาทกรรมอารมณ์ความรู้สึก

การวิ่งก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีลักษณะวาทกรรมผสมผสานหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าวาทกรรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์จะยังแสดงบทบาทในฐานะวาทกรรมหลักของการวิ่ง อาทิ ตารางการฝึกซ้อม วัดค่าสถิติด้วยตัวเลข การวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่มิติของอารมณ์ ความรู้สึกได้ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนเทียบเท่าวาทกรรมหลัก อันได้แก่ การวิ่งเพื่อแรง บันดาลใจ, วิ่งสู่ชีวิตใหม่

ในแง่ของภาคปฏิบัติการวาทกรรมนั้น ยังพบว่าสถาบันทางเศรษฐกิจเข้ามาใช้กระแสความนิยมในการวิ่งออกกําลังกายเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจําหน่ายอุปกรณ์กีฬาและการจัดงานวิ่งแข่งขัน, สถาบันที่ได้งบประมาณจากรัฐที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ก็ส่งเสริมออกกําลังกายแทนการรักษาโรค เข้ามาร่วมสร้างโครงการ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” อันถือเป็นการบริหารจัดการทางอํานาจ (Exercise power) ด้วยการใช้กระแสความนิยม

งานวิจัยของ วิโรจน์ สุทธิสีมา ยังรวบรวมข้อมูลให้เห็นว่า “การวิ่ง” ในมิติต่างๆ ผ่านภาพยนตร์หลายเรื่องที่มี “การวิ่ง” เป็นประเด็นหลักของเรื่อง, เป็นฉากสำคัญ ฯลฯ เช่น

เด็กหญิงวัลลียอดกตัญญู (พ.ศ. 2528) เรื่องของเด็กหญิงที่ต้องวิ่งไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียนเพื่อมาดูแลแม่พิการ, บ้านผีปอบ (พ.ศ. 2532) เรื่องของผีปอบที่ออกอาละวาด แล้วชาวบ้านต้องวิ่งหนีกันออลหมานตลอดทั้งเรื่อง, รัก 7 ปี ดี 7 หน (พ.ศ. 2555) เรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่พยายามฝึกวิ่งมาราธอน สุดท้ายพบว่าการวิ่งมาราธอนนั้นเยียวยาชีวิตในอดีตที่แตกสลายของเธอได้

ซึ่งจะเห็นว่า “การวิ่ง”ในภาพยนตร์ข้างต้น 2 เรื่องแรก การวิ่งยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เมื่อมีความเร่งรีบ ขณะที่เรื่องสุดท้ายการการวิ่งเป็นวาทกรรมผสมผสาน และวาทกรรมอารมณ์ความรู้สึก ดังที่ผู้เขียน (วิโรจน์ สุทธิสีมา) จำแนกไว้

เมื่อพูดถึงการวิ่งแล้ว คงต้องมีชื่อ “ตูน บอดี้สแลม”

ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ร็อกเกอร์หนุ่ม ที่วิ่งเพื่อระดมทุนให้แก่วงการสาธารณสุขไทย  ในโครงการชื่อ “ก้าวคนละก้าว” โดยในปี 2559 เป็นการวิ่งจากรุงเทพฯ ไปอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลบางสะพาน ปี 2560 ตูนทำโครงการที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไปที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะประมาณ 2,200 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนห็แก่โรงพยาบาลศูนย์จำนวน 11 แห่งในประเทศไทย

การวิ่งระดมทุนทั้ง 2 ครั้ง ของตูน บอดี้สแลม ได้รับเงินบริจาคกว่าพันล้านบาท และมีการบันทึกเหตุการณ์ มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ซึ่งรายได้จากการฉายภาพยนต์มอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช

ส่วนวันข้างหน้า การวิ่งจะมีความหมาย หรือนัยยะอย่างไร คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณา โดยเฉพาะการวิ่งของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วิ่งร่วมกับเพื่อนนักวิ่งที่สวนลุมพินี (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ข้อมูลจาก :

วิโรจน์ สุทธิสีมา. การสื่อสารกับวาทกรรมการวิ่งในสังคมไทย, วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557

“ตูน” วิ่งถึงแล้ว รพ.บางสะพาน มอบเงิน63ล้าน ประมูลรองเท้าคู่เดียวในโลก ยอด999,999บาท. ข่าวสด. ออนไลน์. เผยแพร่ วันที่ 11 ธันวาคม 2559 <https://www.khaosod.co.th>

‘ตูน’ ชวนดูหนัง ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ก.ย.นี้! แจงอัลบั้มคืบ-ลุ้นแต่ง ‘ก้อย’ เร็วๆ นี้. -ข่าวสด. ออนไลน์. เผยแพร่ 10 สิงหาคม 2561 <https://www.khaosod.co.th>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2563, ปรับปรุง 19 มิถุนายน 2565