ผ่าวิถี “อะบอริจิน” ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ก่อนและหลังฝรั่งรุกราน เกิดสู้รบป่าเถื่อน

ควีน อลิซาเบธที่ 2 ชม การแสดง ของ ชาว อะบอริจิน ที่ ออสเตรเลีย
ควีนอลิซาเบธที่ 2 ชมการแสดงของชาวอะบอริจินกลุ่ม Tjapukai เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2002 (ภาพจาก TORSTEN BLACKWOOD / AFP)

“อะบอริจินี” (อะบอริจิน) ชาวพื้นเมืองแห่ง “ออสเตรเลีย” กับประวัติศาสตร์ก่อนและหลังฝรั่งรุกราน

นักมานุษยวิทยาบางพวกจัดพวกอะบอริจินเป็นมนุษย์สมัยหิน หรือมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพวกที่ต่ำที่สุดของความเป็นมนุษยชาติ เพราะไม่รู้จักการทอผ้า การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์หรือการทำเครื่องปั้นดินเผา นักมนุษยวิทยาบางพวก ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า “อะบอริจินี” เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลียมากว่า 4 หมื่นปี มีวัฒนธรรมดีงามและซับซ้อน มีศิลปะสูง มีการพัฒนาทางปรัชญาและศาสนา อาศัยรวมกลุ่มกันอย่างสันติสุข

จวบจน พ.ศ. 2331 อังกฤษเนรเทศเหล่านักโทษมาตั้งถิ่นฐานที่ออสเตรเลีย การรุกรานสู้รบเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนล้างเผ่าพันธุ์อะบอริจินีจากฝรั่งผิวขาวก็เริ่มขึ้นใหม่ คนส่วนมากมักคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวัตถุมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ คือถ้าใครมีการพัฒนาทางโลหะก้าวหน้ามาก ก็ถือว่าเป็นชาติที่เจริญก้าวหน้า ความจริงแล้วพวกอะบอริจินมีวัฒนธรรมที่ดีงามและซับซ้อน มีศิลปะสูง มีการพัฒนาการทางปรัชญาและศาสนา มีวรรณคดีปากที่เล่ากันต่อ ๆ มา แม้ว่าจะไม่มีภาษาเขียน จำเป็นแล้วหรือที่จะต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในเมื่อพวกเขาอยู่กันอย่างสันติสุข

อย่างไรก็ดีตลอดเวลาเกือบ 200 ปีที่ฝรั่งชาวยุโรปเข้ามามีอิทธิพลหรือปกครองออสเตรเลียอยู่ ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าเราจะจัดพวกอะบอริจินีเป็นมนุษย์สมัยหรือพวกใดก็ตาม เขาก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ดีพอสมควร ไม่แตกต่างไปจากคนที่เรียกตนเองว่าอารยชนมากนัก

เชื่อกันว่าชาวอะบอริจินีอยู่ในออสเตรเลียอย่างน้อย 30,000 ปีหรือมากกว่า 40,000 ปี โดยเดินทางมาจากทวีปเอเชีย ตามเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาได้จมหายไป เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น บางพวกอาจจะเข้ามาโดยแพหรือแคนู จากข้อสันนิษฐานนี้เราจะเห็นได้ว่าพวกเงาะ หรือซาไกที่ยังเหลืออยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย หรือพวกเซมังที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย เป็นพวกเดียวกันกับพวกอะบอริจินี ซึ่งอาจจะมีลักษณะและท่าทางบางอย่างผิดกันไปบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งร่างกายจะต้องพัฒนาให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินฟ้าอากาศ และอาหาร ตลอดจนระยะเวลาอันยาวนานนับเป็นหมื่นปีมาแล้ว

พวกอะบอริจินีอยู่กันเป็นเผ่าเล็ก ๆ เร่ร่อนอยู่ทั่วประเทศออสเตรเลีย ตอนที่ชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ. 2331 นั้น คาดว่ามีชาวอะบอริจินีอยู่ราว ๆ 300,000 คน และมีเผ่าต่าง ๆ อยู่ประมาณ 600 เผ่า ปัจจุบัน (2529-กองบก.ออนไลน์) มีพวกอะบอริจินีราว ๆ 160,000 คน ทั้งนี้ พวกอะบอริจินีถูกฝรั่งที่เข้ามาตั้งรกรากสังหารเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพวกอินเดียน ในอเมริกาที่ถูกพวกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานสังหารเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน พวกชาวพื้นเมืองถูกสังหารหมู่ วางยาพิษฆ่าทั้งเผ่า บ้างก็ถูกทำทารุณ เช่น ตัดแขน ตัดขา ตัดหู เช่นเดียวกับผู้ชนะย่อมทำกับผู้แพ้ หรือผู้มีอำนาจทำกับผู้ไม่มีอำนาจ

ทั้งนี้ เพราะชาวยุโรปต้องการครองดินแดนที่เป็นของพวกอะบอริจินี จึงต้องขจัดพวกนี้เสีย

นอกจากนี้ ยังมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ตายเพราะโรคติดต่อที่ฝรั่งนำมา เหตุเหล่านี้ทำให้จำนวนชาวพื้นเมืองลดลงกว่าแต่ก่อนมาก ในบางรัฐเช่นทัสเมเนีย ไม่มีพวกชาวพื้นเมืองเหลืออยู่เลย อะบอริจินี ที่มีเลือดแท้ตายในปี พ.ศ. 2419 แม้แต่รัฐวิกตอเรียหรือรัฐนิวเซาธเวลส์ก็มีเหลือไม่กี่คน ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลภาคเหนือ

ชาวยุโรปที่เข้ามาในสมัยนั้น คิดว่าชาวพื้นเมืองไม่ใช่คนแบบชาวยุโรป หรือมีความเป็นมนุษย์ไม่เท่าชาวยุโรป โดยเฉพาะรูปร่างหน้าตา เช่น ผมหยิก ผิวดำ ขาลีบ ไม่มีเสื้อผ้า (แก้ผ้าตลอดฤดูกาล) ไม่มีสัตว์พาหนะ เฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแบบที่มนุษย์เจริญแล้วมี ด้วยเหตุนี้อะบอริจินีจึงถูกฆ่าเหมือนสัตว์ป่า (มากกว่า 150,000 คน)

อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ศัตรูของชาวพื้นเมืองนอกจากบูมเมอแรงแล้ว ยังมีหอกที่ใช้หินแหลม ๆ ผูกปลายไม้หรือใช้ไม้แหลมอีกประการหนึ่ง พวกอะบอริจินีไม่ดุร้ายหรือรวมกำลังต่อสู้กับฝรั่งอย่างแท้จริงเหมือนกับพวกอินเดียนเผ่าต่าง ๆ ในอเมริกา ที่พยายามต่อต้านพวกที่มาบุกรุกหรือแย่งที่ทำมาหากิน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพวกอินเดียนมีหัวหน้าเผ่าที่เข้มแข็ง ผิดกับพวกอะบอริจินซึ่งแต่ละเผ่ามีคนไม่มากนัก และอยู่กันอย่างกระจัดกระจายไม่ได้รวมกันเป็นปึกแผ่นที่เข้มแข็ง แม้แต่พวกเมารี (Maori) ในประเทศนิวซีแลนด์ ยังประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับผู้ที่เข้ามาบุกรุกได้ดีกว่าพวกอะบอริจินี

อะบอริจินีไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ชาวยุโรปนำมา ความรู้สึกที่ชาวยุโรปมีต่อพวกอะบอริจินีคล้าย ๆ กับคนป่า ที่มีสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์มากนัก ภาษาแปลก ๆ มีประเพณี การเต้นรำ การร้องเพลง ที่แตกต่างไปจากตน ยิ่งกว่านั้นพวกอะบอริจินีไม่มีเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย ด้วยเหตุนี้พวกสอนศาสนาจึงต้องการที่จะสร้างแนวทางในการดำรงชีพเสียใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของชาวพื้นเมืองที่เคยมีความเป็นอยู่แบบชาวป่ามาเป็นคนเมือง

สำหรับผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนก็ถูกยิงตาย ถูกขับไล่หรือตามล่า ผู้หญิงก็ถูกนำมาบำเรอความใคร่หรือข่มขืน ชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมหลายหมื่นปีของอะบอริจินีก็มาพบกับจุดจบ

ปัจจุบันนี้รัฐบาลรู้สึกถึงความผิดในอดีตที่บรรพบุรุษของตนได้ทำไว้เช่นที่ทัสเมเนียไม่มีพวกอะบอริจินีหลงเหลืออยู่เลย นอกจากนี้ แรงผลักดันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รัฐบาลหันมาสนใจ ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมการค้นคว้า การศึกษาภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะสายไปเสียแล้วก็ได้ เพราะบางเผ่ามีคนเพียงไม่กี่คนที่พูดภาษาของตนเองได้

ปัจจุบัน (2529-กองบก.ออนไลน์) ภาพพจน์ของชาวออสเตรเลียที่มีต่อชาวพื้นเมืองดีขึ้น แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะอะไรนั้น จะได้กล่าวต่อไป

สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจชาวพื้นเมืองดั้งเดิมดีขึ้นก็คือ สภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อถือ ศิลปะและภาษาซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยและวิจัยในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป

ออสเตรเลีย แสดงท่าทีขอโทษชนเผ่าอะบอริจินอย่างชัดเจนเมื่อช่วง 2005 

สภาพความเป็นอยู่ตอนที่ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งรกราก

เรื่องราวของอะบอริจินีได้เปิดเผยในยุโรปมามากกว่า 300 ปีแล้ว ในฐานะคนป่า หรือมนุษย์สมัยหิน คืออยู่ในถ้ำ ใต้ต้นไม้ พุ่มไม้บ้าง หรือหักกิ่งไม้มาสุมทำเป็นเพิงหลบฝน ความร้อนหรือความหนาวเย็น สำหรับอาหารก็จับสัตว์ต่าง ๆ กิน หรือกินพืชที่ขึ้นตามทะเลทราย หรือป่า ซึ่งเราต้องยอมรับว่าอะบอริจินีมีความสามารถมากที่จะหาอาหารและแหล่งน้ำ ทั้งนี้เพราะความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ

เมื่อกัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิป (Captain Arthur Phillip) ได้นำกองเรือ 11 ลำ จากอังกฤษ พร้อมกับคน 1,030 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีนักโทษ 736 คนมาถึงอ่าวโบตานี (Botany Bay) เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2331 และต่อมาได้ย้ายไปที่ปอร์ต แจ็คสัน (Port Jackson) (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซิดนีย์) ซึ่งถือกันว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของ ออสเตรเลีย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการฉลอง 200 ปีอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2531

นับแต่นั้นมาก็ได้มีการสำรวจและบุกเบิกการตั้งอาณานิคมในบริเวณที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อชาวพื้นเมือง แม้ว่าชาวยุโรปไม่ใช่พวกแรกที่ได้มาติดต่อกับพวกอะบอริจินี เข้าใจกันว่าพวกมาคาสเซอร์ (Macassar) ที่มาจากอินโดนีเซียและพวกปาปัว (Papua New Guinea) ซึ่งติดต่อกันทางเหนือแถวทอเรียส สเตรท (Torres Strait)

แม้ว่าอะบอริจินีจะได้มีการติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ใช่ถูกตัดขาดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะอาจจะมีการติดต่อเป็นครั้งคราว และก็เพียงแต่ตอนเหนือเท่านั้น เพราะไม่ว่าที่ไหนชาวพื้นเมืองมีการดำรงชีวิตเหมือน ๆ กัน เช่นการล่าสัตว์ การเป็นอยู่การแบ่งสันปันส่วนอาหาร การใช้ไฟในการทำอาหาร ตลอดจนหลักในการเก็บรักษาอาหารก็คล้าย ๆ กัน หรืออาจจะสรุปได้ว่าไม่มีอิทธิพลของโลกภายนอกนั่นเอง

ในสายตาของผู้ที่มาใหม่ คิดว่า ออสเตรเลีย เป็นดินแดนที่ว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของ ไม่มีศีลธรรมและกฎหมายที่จะหยุดการบุกเบิกหรือการเข้ามาจับจองดินแดนที่อะบอริจินีเคยอยู่และหากินมาก่อน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจย่อมสามารถที่จะทำอะไรได้ตามที่ตนปรารถนา ด้วยเหตุนี้ชาวพื้นเมืองจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ที่มาใหม่โดยสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าคนพื้นเมืองถูกปฏิเสธความเสมอภาคในลัทธิอาณานิคม พวกสอนศาสนาก็อยากให้คนพื้นเมืองนับถือคริสต์ศาสนา มีฝรั่งไม่กี่คนที่ซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมของอะบอริจินี

ความเชื่อถือเก่าแก่ของอะบอริจินี พวกอะบอริจินีเชื่อว่า นกและสัตว์ทุกตัวเป็นที่อาศัยของวิญญาณของบรรพบุรุษ ด้วยเหตุนี้จึงนิยมทำรูปบูชาเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น กิ้งก่า นก จระเข้ เป็นต้น การวาดรูป การแกะสลักรูปบูชาไม่ทราบว่าเริ่มเมื่อใด แต่เชื่อกันว่ารูปบูชาอันแรกสร้างโดยวิญญาณ ทุกเผ่า หรือทุกหมู่มีรูปบูชาร่วมกัน ซึ่งนับถือกันมาแต่บรรพบุรุษ แต่ทุกคนจะมีรูปบูชาประจำตนเองอีกต่างหาก ซึ่งไม่เหมือนจากรูปบูชาของเผ่า

คนที่นับถือรูปบูชานั้น ๆ จะไม่ฆ่า หรือล่าสัตว์ที่ตนนับถือเป็นอาหาร การนับถือรูปบูชาของแต่ละคนก็มักจะเลือกเอาจากปรากฏการณ์ระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือหลังให้กำเนิดทารกใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่นในระหว่างคลอด ถ้าได้ยินเสียงจิงโจ้เดินผ่าน หมายความว่าวิญญาณต้องการให้จิงโจ้เป็นรูปบูชาของเด็กที่เกิด เมื่อเด็กเติบโตจิงโจ้จะเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับเด็ก ระบบของรูปบูชานี้ นอกจากบอกถึงลักษณะของเผ่านั้นแล้ว ยังทำให้ทุกคนในเผ่าหรือหมู่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งและทุกคนมีความสำคัญร่วมกัน

ยุคจินตนาการ (The dreamtime) ในยุคนี้เป็นยุคที่อะบอริจินีเริ่มสร้างเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้น เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัวที่คนเรามักจะสงสัยหรือแปลกใจ เช่นว่าชีวิตเริ่มได้อย่างไร มีอะไรที่จะยึดดวงอาทิตย์ ดวงดาว และดวงจันทร์ ลม ภูเขา แม่น้ำ ฟ้าแลบฟ้าร้องเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ถูกอธิบายโดยสร้างเป็นเรื่องราวต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ เรื่องราวในยุคจินตนาการมีดังต่อไปนี้

ในตอนแรกโลกแบนราบ มีสองระดับ คือพื้นดินและท้องฟ้าซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอาทิตย์และดาว ไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่เลย ภายหลังเกิดผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก คือเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนืออำนาจทั้งหลาย ผู้ให้กำเนิดหรือผู้สร้างโลกนี้แม้จะมีชื่อต่าง ๆ กัน แต่ก็มีความหมายเดียวกันคือผู้ให้กำเนิด คือ เบมี (Bya me) เป็นชื่อที่แพร่หลายและรู้จักกันอย่างกว้างขวางมาก ผู้ให้กำเนิดสร้างโลกแบ่งแสงและความมืด จัดฤดู สร้างแสงอาทิตย์ ฝน ตลอดจนพฤกษชาติต่าง ๆ หลังจากที่ผู้ให้กำเนิดพอใจกับสิ่งที่สร้างแล้ว ผู้ให้กำเนิดก็สร้างนก ปลา สัตว์ต่าง ๆ มนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหลังจากที่ผู้ให้กำเนิดสร้างเสร็จแล้วก็ไปอยู่บนท้องฟ้า เฝ้าดูคนที่อยู่อาศัยบนแผ่นดินที่ท่านสร้างขึ้น

สำหรับผู้สร้างโลกหรือผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างนี้ บางเผ่าถือว่าเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย บางเผ่าก็ว่ารุ้งกินน้ำเป็นผู้ให้กำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง บางเผ่าก็เชื่อว่า รูปบูชาของตนเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่าง

เรื่องราวของยุคจินตนาการนี้อาจจะถูกเพิ่มเติมขึ้นภายหลังก็ได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการขยายครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งที่ห่างไกลออกไป อย่างไรก็ดีจากการศึกษาเรื่องราว จากส่วนต่าง ๆ จะพบส่วนที่คล้ายกันหรือเหมือนกันและมีส่วนที่แตกต่างกัน ยากที่จะเชื่อว่าอะไรเป็นต้นเรื่อง

วีรบุรุษของยุคจินตนาการนี้เป็นแบบครึ่งคนครึ่งสัตว์ มีทั้งพวกดีและไม่ดี บางเผ่าเชื่อว่าชีวิตหลังความตายแล้วก็คือสวรรค์ ที่อยู่ในท้องฟ้าซึ่งมีอาหารดี สะดวกสบายและสวรรค์เป็นที่อยู่ของเพื่อนฝูงที่ตายไปแล้ว แม้ว่าข้อถกเถียงของนักวิชาการเกี่ยวกับยุคจินตนาการจะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคนอะบอริจินี เรื่องราวเกี่ยวกับยุคจินตนาการเป็นพื้นฐานของชีวิตเขา ยุคจินตนาการเป็นเรื่องราวของอดีต ปัจจุบัน และตลอดไปทุกยุคทุกสมัยของอดีตมีผลกระทบถึงปัจจุบันและคงจะมีต่อไปชั่วกาลนาน

ผู้นำของอะบอริจินีทุกเผ่าเลือกผู้นำของตนขึ้นเป็นหัวหน้า โดยเลือกผู้ที่มีอายุสูงหรืออผู้ที่อาวุโสของหมู่ของตน โดยเรียก “ผู้เฒ่า” เป็นหัวหน้าและจะได้รับความเคารพนับถือจากคนในเผ่า ผู้เฒ่านี้จะเป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับการโยกย้ายที่อยู่ การหาอาหาร การแต่งงาน การเผาศพ ส่วนมากผู้เฒ่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เช่นการหาอาหาร การรักษาผู้เจ็บป่วย และรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องผีสางนางไม้หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์

อะบอริจินี เชื่อว่าวิญญาณหลังตายไปแล้วเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ประเพณีเกี่ยวกับความตาย จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ การทำพิธีเกี่ยวกับความตายบางทีใช้เวลาหลายเดือน ผู้ที่มีความสำคัญอาจจะทำพิธีเป็นปี มีทั้งเผาและฝัง

สำหรับการฝังศพนั้น ศพจะนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งของต่าง ๆ ของผู้ตายเช่นอาวุธ มักจะฝังไปกับผู้ตายด้วย ใบไม้และเครื่องหมายจะวางเหนือหลุมฝังศพ รูปบูชาประจำของคนตายจะใช้เป็นเครื่องหมายบนหลุมศพ บางเผ่าก็ห่อด้วยเปลือกของต้นไม้เอาไปวางบนคบไม้สูง ๆ หรือบนก้อนหินสูง ๆ แล้วจึงนำไปฝังหรือเผาในที่ผู้ตายชอบ สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการเต้นรอบ ๆ การทาหน้าทาตาด้วยสีซึ่งทำจากดินสีต่าง ๆ กัน

ชีวิตใหม่หลังจากตายไปแล้ว อะบอริจินีทุกเผ่าเชื่อเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด คือเชื่อว่ามีชีวิตหลังจากตายไปแล้ว อะบอริจินีรู้ว่าไม่มีชีวิตไม่อยู่ถาวร คือในที่สุดก็ตาย สิ่งที่มีชีวิตเติบโตจากสิ่งที่ตายไปแล้ว เช่นพืชผักจะตายในฤดูนี้และจะงอกงามในฤดูต่อไปนั่นหมายถึงการกลับมาเกิดอีก ทำนองเดียวกับการเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งเราจะพบได้มากมายจากนิทานหรือตำนานของอะบอริจินี…

ครอบครัวและความเป็นอยู่ของอะบอริจินี เป็นแบบครอบครัวที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีอะไรก็แบ่งสันปัน ส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารหรือเรื่องอื่น ๆ แม้ปัจจุบันนี้ผู้เขียนยังเชื่อว่าอะบอริจินีเป็นชาติที่รู้จักแบ่งสันปันส่วนยากที่จะหาชาติหรือกลุ่มชนใด ๆ ในโลกเสมอเหมือนไม่

จากการศึกษาและสังเกตอย่างใกล้ชิดได้พบว่าการเห็นแก่ตัวไม่มีเลย ผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น อะบอริจินคนหนึ่งมีอาหารอยู่ชิ้นหนึ่ง เขาจะกัดกินเพียงหนึ่งคำแล้วจะส่งต่อ ๆ กันให้เพื่อน ๆ หรือคนที่นั่งกันเป็นวงได้กินด้วย บางทีเจ้าของอาหารนั้นจะได้มีโอกาสกินคำที่สอง การแบ่งอาหารกันกินนี้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะหาดูไม่ได้นักในสังคมอื่น

ในครอบครัวของอะบอริจินมีภรรยา หรือภรรยาหลายคนและลูก ๆ อะบอริจินีส่วนมากมีภรรยาเพียงคนเดียว แต่ถ้ามีหลายคนก็ได้รับการยกเว้น เช่นในกรณีที่มีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ผู้หญิงจะแต่งงานทันทีหลังจากได้เข้าพิธีแสดงว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ทั้งชายหญิงจะแต่งงานไม่ได้ถ้ายังไม่เข้าพิธี การทำพิธีเป็นผู้บรรลุนิติภาวะถือว่ามีความสำคัญมาก ผู้ชายจะมีการทำพิธีที่รุนแรงเช่น การกรีดหลัง หัวไหล่ หน้าอก ด้วยหินคม ๆ

การแต่งงานเป็นโครงสร้างของประเพณีที่เก่าแก่และซับซ้อนมากก่อนที่ฝรั่งจะเข้ามามีอิทธิพล การแต่งงานเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสู่ขอหรือจัดการ บางที่มีการหมั้นหมายกัน เมื่อเด็กเกิด ฝ่ายหญิงจะต้องให้คำมั่นสัญญากับฝ่ายชายเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะไปอยู่กับฝ่ายชาย

สิ่งที่สำคัญยิ่งในเรื่องการแต่งงานคือจะต้องแต่งกับคนภายนอกหมู่หรือเผ่าของตน การแต่งงานกับพวกเดียวกันเหมือนกับการแต่งงานกับพี่น้องของตนเอง ถ้าฝ่าฝืนโทษถึงตาย ด้วยเหตุนี้ อะบอริจินี้จึงพูดได้มากกว่าสองภาษา

การเกิดอะบอริจินีถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ มีการเตรียมตัวเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงเวลาคลอดหรือมีอาการเจ็บครรภ์ หญิงมีครรภ์จะไปในที่สำหรับคลอดเพียงคนเดียว และจะทำคลอดด้วยตนเอง ในกรณีที่มีปัญหาในการคลอด ผู้หญิงคนอื่นถึงจะช่วยเหลือ คนอะบอริจินี้ถือว่าทารกเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณเด็ก ถ้าเด็กเกิดในฤดูร้อนจะเอาขี้เถ้าหรือฝุ่นผสมกับน้ำมันกิ้งก่าทาตามตัวเพื่อป้องกันแดดเผา แม่จะเอาลูกไปด้วยไม่ว่าจะไปทำอะไร บางทีก็อุ้มไว้มือหนึ่งและทำอะไรอีกมือหนึ่ง ถ้าโตหน่อยก็จะเอานั่งบนบ่าของพ่อแม่ เด็กจะกินนมจนกระทั่ง 2-3 ขวบ ถ้าเกิดลูกติด ๆ กันภายในสองปี หรือมีลูกแฝดคนที่อ่อนแอมักจะถูกปล่อยให้ตายหรือฆ่าเสีย ซึ่งเขาจะไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจอะไรเลย ในกรณีที่ลูกตายลงหรือต้องฆ่าให้ตาย แม่ของเด็กมักจะวิงวอนวิญญาณให้มาเกิดในโอกาสต่อไป

สำหรับเด็กอะบอริจินีมักจะได้รับการรักษาดูแลจากผู้ใหญ่เป็นอย่างดีและมีอิสระที่จะทำอะไรได้อย่างเสรี เด็ก ๆ ไม่มีหน้าที่ใด ๆ โดยเฉพาะ แต่ส่วนมากมักจะช่วยผู้หญิงจัดหาอาหารหรือดูแลน้อง ๆ บางทีก็ช่วยหาฟืน เด็กส่วนมากแข็งแรงและว่องไวและเป็นนักกีฬา การเล่นของเด็กอะบอริจินีก็เหมือนกับเด็กโดยทั่วไป ผิดกันที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น เพราะส่วนใหญ่ทำด้วยหินหรือเปลือกไม้ การเล่นที่สำคัญก็คือการใช้ภาษาใบ้หรือภาษาสัญลักษณ์ในการทายความหมาย โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและท่าทาง ซึ่งการเล่นแบบนี้มีความสำคัญต่อการติดต่อกับเผ่าหรือพวกอื่น ๆ ที่มีภาษาถิ่นต่างกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไป อะบอริจินีชอบลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะลูกสาวอาจจะก่อปัญหาโดยเฉพาะเรื่องไม่ยอมแต่งงานกับคนที่ผู้ใหญ่หมั้นหมายหรือหนีตามผู้ชายอื่นซึ่งถือกันว่าเป็นเรื่องที่เสียหายมาก…

ปัจจุบัน (2529-กองบก.ออนไลน์) แม้ว่าฝรั่งจะได้นำเอาเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตแบบตะวันตกมาสู่ ออสเตรเลีย เกือบ 200 ปี มาแล้ว แต่สภาพความเป็นอยู่ของอะบอริจินียังไม่ดีเท่าที่ควร การที่นักสอนศาสนาหรือรัฐบาลก็ดีพยายามที่จะเอาเด็กอะบอริจินีแยกจากพ่อแม่มาเข้าเรียนหรือฝึกวิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนอารยธรรมตะวันตก ก็เพื่อจะวางรากฐานแนวการดำรงชีวิตเสียใหม่ หรืออาจจะพูดได้ว่า อะบอริจินีตกเป็นเครื่องมือสำหรับการทดลองในการฝึกหัดคนป่ามาเป็นคนเมือง

คงจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกอะบอริจินีจะถูกกลืนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อถือเก่าแก่หรือสภาพการเป็นอยู่การดำรงชีวิต ความเชื่อถือเก่าแก่ที่มีมากว่า 30,000 ปี

ทั้งนี้เพราะผู้บริหารในสมัยก่อน ๆ เห็นว่าอะบอริจินีต้องสาบสูญไปเพราะความก้าวหน้าของคนผิวขาว ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว แม้ว่าจะได้เคยมีการคัดค้านการใช้อำนาจในการเข้ามาแย่งที่ทำมาหากินของพวกอะบอริจินี แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะแสดงว่าอะบอริจินีเป็นเจ้าของ แม้แต่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พวกอะบอริจินีนับถือกันมานานแสนนานก็ยังถูกแย่งชิงเอาไป เพิ่งจะได้มีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเหนือดินแดนที่อะบอริจินีเคยเป็นเจ้าของในบางส่วนเมื่อไม่นานมานี้ แต่ที่ดินส่วนใหญ่ก็เป็นทะเลทรายซึ่งแทบจะหาประโยชน์มิได้

รัฐบาลอังกฤษในสมัย 50 ปีหลังจากที่ส่งคนมาตั้งรกรากในดินแดนอะบอริจินีจะได้แสดงความเป็นผู้ใจบุญ โดยหันมาสนใจกับการกระทำของคนอังกฤษที่มีต่อพวกอะบอริจินี ถึงกับได้มีการตั้งคณะกรรมการรวบรวมหลักฐานจากผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ แต่หลักฐานหรือข้อมูลที่คณะกรรมการได้รับใน พ.ศ. 2380 ไม่สามารถจะเปิดเผยได้ ทั้งนี้ก็เพราะความป่าเถื่อนหรือความโหดร้ายทารุณกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่เรียกตนเองว่าอารยชนนำมาใช้กับพวกอะบอริจินีที่ถูกเรียกว่าคนป่าหรือมนุษย์สมัยหินนั้น จะสร้างความอับอายขายหน้าต่อรัฐบาลอังกฤษ

การที่พวกอะบอริจินีกลายเป็นผู้ที่ติดเหล้า เบียร์ ยาสูบ ตลอดจนการพนัน สิ่งเหล่านี้ก็คงไม่ต่างไปจากการที่ชาวจีนติดฝิ่นอย่างงมงายในสมัยที่อังกฤษมีอิทธิพล ผู้หญิงอะบอริจินีกลายเป็นผู้ทำหน้าที่บริการทางเพศแก่ฝรั่งจนกระทั่งขาดความสนใจในพวกของตนเอง บางครั้งผู้หญิงตกเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสำหรับเหล้าและยาสูบ

ฝรั่งเป็นผู้ออกกฎหมาย ผู้ตัดสินและเป็นผู้ปกครองซึ่งเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง การขาดความเข้าใจในประเพณีวัฒนธรรม และธรรมชาติของอะบอริจินีจึงก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งแก่อะบอริจินีในอดีต สิ่งของที่เคยดูเหมือนว่าจะป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เช่น เหล้า เบียร์ ยาสูบ แป้ง น้ำตาล ชา ผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะขาดเสียมิได้ การที่พวกอะบอริจินีติดเหล้ากันอย่างงอมแงมจนได้รับสมญานามว่า “กาฝากของสังคม” เพราะเอาเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ก็เท่ากับเอาเงินภาษีอากรมาใช้ในทางที่ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากอะไรน่าจะได้มีการศึกษากันอย่างรอบคอบ

ปัจจุบันนี้ (2529-กองบก.ออนไลน์) รัฐบาลหันมาสนใจกับพวกอะบอริจินีมากยิ่งขึ้น คนอะบอริจินีก็มีปากเสียงเกี่ยวกับการปกครองและต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขามากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตกลงมอบแอยร์ส ร็อค (AYERS ROCK)* ให้แก่อะบอริจินีเผ่า uluru ซึ่งแอยร์ส ร็อคถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญต่อพวกอะบอริจินช้านานมาแล้ว แต่ที่จริงการทำพิธีมอบแอยร์ส ร็อค (AYERS ROCK) เป็นทางการนี้อาจจะเป็นนโยบายทางการเมืองมากกว่า ได้มีการคัดค้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่เห็นว่าแอยร์ส ร็อค เป็นของคนออสเตรเลียทุกคนคือเป็นสมบัติของชาตินั้นเอง ไม่ควรจะตกไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผู้ใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามอะบอริจินีจะต้องให้รัฐบาลเช่าต่ออีก 85 ปี ความขัดแย้งในเรื่องสิทธิเหนือดินแดนยังมีอีกมากและจะยังคงมีต่อไป เช่นเดียวกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างพวกอะบอริจินีเอง เช่นพวกหนึ่งต้องการกลับไปอยู่ตามสภาพเดิมแบบที่บรรพบุรุษเคยอยู่กันมา 30,000 กว่าปีแล้ว ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง พวกนี้เห็นว่าการลืมเรื่องราวในอดีตคิดถึงปัจจุบันและอนาคต โดยถือหลักว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”

แต่ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยควรจะมีต่อไป เพราะอินเดียนในอเมริกาเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว บทเรียนที่พวกอะบอริจินีได้รับมีทั้งบวกและลบ

อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของอะบอริจินีส่วนใหญ่ยังจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในทุก ๆ ด้าน ทำอย่างไรความเข้าใจและทัศนะระหว่างคนขาวกับคนดำจะดีขึ้น แม้แต่ผู้อพยพจากอินโดจีนยังได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าพวกอะบอริจินี

*แอยร์ส ร็อค ตั้งอยู่กลางทวีปออสเตรเลีย เป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวชอบไปดูการเปลี่ยนสีของภูเขาเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก สำหรับอะบอริจินีรอบ ๆ ภูเขาเคยเป็นสถานที่ใช้ทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นเผาศพ คลอดลูก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

Basedow, Herbert. The Australian Aboriginal. Adalaide: The Hassell Press, 1925.

Berndt, Ronald M. (editor). Aborigines and Change. Canberra: Australian Institute of Aboriginal Studies, 1977.

Berndt, Ronald M. and Catherine H. The World of the First Australian. Sydney: Ure Smith, 1964.

Blake, Barry J. Australian Aboriginal Languages. Hong Kong: Angus and Robertson, 1981.

Dixon, R.M.W. The Duirbal Language. of North Queensland. Cambridge University Press, 1972.

Edwards, Robert. The Preservation of Australia’s Aboriginal Heritage. Canberra: Australian Institute of Aboriginal Studies, 1975

Ellis, Robert and Jean A. Aboriginal Australia Past and Present. Netley. NSW: Griffin Press, 1982.

Gribble, Rev. E.R.B. The Problem of the Australian Aboriginal. Hong Kong : Angus and Robertson, 1932.

Hiatt, L.R. (editor). Australian Aboriginal Mythology (Essays in Honour of W.E.H. Stanner). Canberra: Australian institute of Aboriginal Studies, 1975.

Maddock, Kenneth. The Australian Aborigines (Second Edition) Penguin Books, 1974

Roberts, Ainslie, and Charles P. Mountford. The Dreamtime Series. Adelaide Rigby, 1965

Roth, H. Ling. The Aborigines of Tasmania. Tasmania : Fuller’s Bookshop Pty. Ltd., 1899

Tench, (Captain) Watkins. Sydney’s First Four Years. Royal Australian Historical Society, 1961

Tomkinson, Robert. The Jigalong Mob : Aboriginal Victors of the Desert Crasade. Meno Park, California : Cummings Publishing Co., 1974

Turner, David H., Tradition and Transformation : a study of Aborigines in the Groote Eylandt Area, Northern Australia. Canberra, Australia Institute of Aboriginal Studies, 1974

Warner, W.L. A Black Civilization: a Social Study of an Australian Tribe. New York : Harper and Row, 1964

Woolmington, Jean. Aborigines in Colonial Society (1788-1850). Casswell Australia Ltd. 1973

Wright, R.V.S. (editor). Archaeology of the Gallus Site, Koonalda Cave. Canberra Australian Institute of Aboriginal Studies, 1971


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “อะบอริจินี ชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย” เขียนโดย ปรีชา จันทนะมาฬกะ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2529, คำ “อะบอริจินี” ใช้ตามต้นฉบับเดิมในนิตยสาร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2562