“อิเหนา” ผู้เป็นปฐมเหตุความวุ่นวายในดินแดนชวา “เพราะรักจึงรั้น”

ฉาก อิเหนา ได้ นางบุษบา
ฉากอิเหนาได้นางบุษบา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

“อิเหนา” เป็นตัวละครเอกในบทละครเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นคนที่เกิดในเชื้อวงศ์ตระกูลสูงส่งกว่าวงศ์อื่น รูปโฉมงดงาม เก่งกาจการสงคราม วาทศิลป์เป็นเลิศ แต่มีนิสัยดื้อรั้นและเป็นนักรัก ที่เรียกว่า “เจ้าชู้” เป็นตัวละครที่ทำให้ให้ดินแดนชวาโกลาหลวุ่นวาย

ก่อนจะกล่าวถึงอิเหนา ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับดินแดนชวาในเรื่องเสียก่อน แต่เดิมนั้นมีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่าเมืองอื่น มีชื่อว่า หมันหยา ปกครองกันมาหลายสมัยจนถึงระตู (หมายถึงเจ้าเมืองเล็กๆ) องค์หนึ่ง ปรากฏว่ามีพระขรรค์กับธงผุดขึ้นกลางเมืองที่ไม่มีใครถอดได้ ร้อนถึงเทวดา 4 องค์ แปลงกายเป็นมนุษย์ลงมาถอดได้สำเร็จ

ระตูหมันหยาจึงมอบพระธิดาทั้ง 4 องค์ให้ จากนั้นจึงได้แยกย้ายไปสร้างเมืองใหม่ 4 เมืองคือ กุเรปัน ดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี เป็นเชื้อวงศ์ อสัญแดหวา เหมือนกัน แต่ละเมืองจึงนับถือกันเป็นพระญาติ เมื่อมีพระโอรสพระธิดาก็จะให้สมรสกันจะไม่สมรสกับคนนอกวงศ์ เพราะถือว่าตนมีศักดิ์สูงกว่าวงศ์อื่น อย่างไรก็ตาม วงศ์อสัญแดหวาไม่นับเมืองหมันหยาเป็นวงศ์เดียวกับตน

อิเหนาเป็นพระโอรชของ ท้าวกุเรปัน เจ้าเมืองกุเรปัน เมื่อแรกประสูติปรากฏว่ามีเหตุอัศจรรย์ เกิดแผ่นดินสะเทือน เกิดพายุใหญ่ ควันตลบไปทั้งเมือง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แต่ไม่เป็นอันตรายต่อชาวเมือง ฯลฯ จึงเชื่อว่าเป็นเทวดาผู้มีบุญญาบารมีมาเกิด เมื่อเติบใหญ่ก็มีรูปโฉมงดงาม “งามรับสรรพสิ้นสรรพางค์ ยิ่งอย่างเทวาในราศี ทรงโฉมประโลมใจนารี เป็นที่ประดิพัทธ์ผูกพัน”

อิเหนาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเลิศ มีความรู้ความสามารถ และชำนาญการใช้อาวุธและการสงครามที่ฝึกมาพร้อมกับพี่เลี้ยงและมหาดเล็กซึ่งเติบโตมาด้วยกัน ทำให้อิเหนาเป็นเจ้าชายหนุ่มที่เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง อิเหนามีความมั่นใจในตนเองสูง แต่นั่นก็ทำให้เขาเป็นคนที่มีนิสัยดื้อรั้น

อิเหนาตุนาหงัน (หมั้น) กับบุษบา ธิดาของท้าวดาหา แห่งเมืองดาหา แต่อิเหนาไม่เคยพบบุษบามาก่อน วันหนึ่งเมื่ออิเหนาต้องไปเมืองหมันหยา เพื่อร่วมงานพระศพพระอัยกี อิเหนาได้พบกับ จินตะหรา พระธิดาระตูหมันหยา ก็เกิดปลงใจชอบพอเป็นรักแรก เพราะนางนั้นงามคมขำ “…ดำแดง เนื้อนวลสองสี ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี นางในธรณีไม่เท่าเทียม…”

เมื่อนั้น   ระเด่นมนตรีมีศักดิ์
เหลือบไปรับไหว้นางนงลักษณ์  พิศพักตร์ผิวเนื้อนวลละออง
ลำลำจะใคร่ตรัสปราศรัย   แต่หากเกรงท้าวไททั้งสอง
ให้คิดพิสมัยใจปอง   พระนิ่งนึกตรึกตรองไปมาฯ

การที่อิเหนาไม่สำรวมใจในเรื่องสตรีเพศเช่นนี้อาจเป็นเพราะอยู่ในวัยหนุ่มคะนอง และไม่เคยเกิดความรักต่อสตรีใดมาก่อน แม้ว่าจะมีนางกำนัลที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามแวดล้อมอยู่ตลอดมาตั้งแต่เยาว์จนเป็นหนุ่มฉกรรจ์ก็ตาม เมื่อเห็นนางจินตะหรา ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาสวยงามโดดเด่นกว่านางใด จึงติดตาต้องใจเป็นพิเศษ (ศศิรัศมิ์ สินธุวณิก, 2559)

ฉากอิเหนาลานางจินตะหรา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

สิ่งที่อิเหนาดื้ออย่างแรกคือ ดื้อประเพณี อันเป็นวิถีของพวกอสัญแดหวาที่จะไม่สมรสกับคนนอกวงศ์ แต่อิเหนาหมายปองจินตะหราอย่างที่สุด นั่นเป็นเพราะรักแรกจึงทำให้อิเหนาไม่ได้สนใจประเพณีของวงศ์อสัญแดหวา แต่หากมองข้ามไปตอนท้ายเรื่องจะพบว่า อิเหนากลับเคร่งครัดในประเพณีมากทีเดียว [ในตอนที่อิเหนา (ปลอมตัวเป็นปันหยี) ไม่ต้องการให้อุณากรรณ (บุษาปลอมตัวเป็นชาย) ได้ใกล้ชิดและได้สมรสกับพระธิดาท้าวกาหลัง ซึ่งเป็นวงศ์อสัญแดหวาเช่นเดียวกัน]

เวลาผ่านไป อิเหนาก็ดื้อรั้นไม่ยอมกลับเมืองกุเรปัน จนประไหมสุหรีกุเรปัน ผู้เป็นพระมารดาต้องมีหนังสือมาบอกให้กลับเมืองกุเรปัน เมื่อกลับมาแล้วก็เกิดห่วงหาแต่นางจินตะหรา จึงปลอมตัวเป็นโจรออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังเมืองหมันหยาเพื่อกลับไปหาจินตะหรา แต่ระหว่างนั้น อิเหนาก็ได้นาง สการะวาตี และ มาหยารัศมี มาเป็นภรรยาบรรณาการ ซึ่งตอนแรกก็ชอบพระทัยเลยทีเดียว แต่ “…เกลือกกลัวจินตะหราวาตี จะว่ามีชู้สิเสียการ…” แต่สุดท้ายก็ได้นางทั้งสองเป็นภรรยา แต่ยกให้จินตะหราเป็นเบอร์ 1

ทางฟากท้าวดาหาไม่พอใจอิเหนา (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน) ไม่ยอมทำตามตุนาหงัน เลยประกาศว่า “…แม้ใครมาขอก็จะให้ ไม่อาลัยที่ระคนปนศักดิ์…” คือประกาศว่า หากใครมาขอบุษบา ผู้เป็นพระธิดาก็จะยกให้ ปรากฏว่าระตูจรกา ได้มาขอบุษบา ท้าวดาหาก็จำพระทัยยกให้เพราะได้ออกประกาศไปแล้ว เรื่องนี้ทำให้พระญาติในอีก 3 เมืองต่างก็ “…กลุ้มกลัดขัดแค้น…เพราะ…เสียศักดิ์สุริวงศ์อสัญญา” เนื่องจากจรกาไม่เพียงจะต่ำศักดิ์กว่าวงศ์อสัญแดหวาแล้ว รูปร่างหน้าตาก็ไม่งามสง่า และบารมีมิอาจเทียบอิเหนาได้เลย

ต่อมาวิหยาสะกำ พระโอรสท้าวกะหมังกุหนิง หมายปองบุษบาเช่นกัน จนเกิดสงครามขึ้น เมื่อนั้นอิเหนาจึงได้ยกทัพมาช่วยเมืองดาหาและเอาชัยชนะมาได้ เสร็จศึกอิเหนาจึงได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับบุษบาเป็นครั้งแรก ทำให้เขาตกหลุมรักบุษบาในทันที หลงหัวปักหัวปำยิ่งกว่าจินตะหราเสียอีก

เมื่ออิเหนาหลงรักนางบุษบา ทั้งที่ตนได้ปฏิเสธตุนาหงันไปแล้ว และนางกำลังจะอภิเษกสมรสกับจรกา อิเหนาจึงต้องคิดหาวิธีการที่จะได้บุษบากลับคืนมา และในที่สุดอิเหนาแก้ปัญหาด้วยการวางแผนลักพาตัวนางบุษบา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนิสัยดื้อรั้นเอาแต่ใจตัวเองของอิเหนาโดยมิได้สนใจความเดือนร้อนของตนและผู้อื่นที่จะตามมา

ฉากอิเหนาพบนางบุษบา (สองคนด้านบนคือท้าวดาหากับประไหมสุหรีดาหา) ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

เหตุการณ์ในเมืองดาหายืดยาวอยู่พักใหญ่ อิเหนาคอยหาวิธีเข้าใกล้บุษบาเพื่อได้ชมเชยนาง แกล้งใส่ร้ายจรกาเพื่อให้พวกเมืองดาหารังเกียจจรกา และวางแผนสารพัดวิธีที่จะได้บุษบาเป็นภรรยาให้สมใจ ซึ่งในท้ายที่สุด อิเหนาก็ได้บุษบาเป็นภรรยา

ในตอนนี้เองจะได้เห็นวาทศิลป์ของอิเหนา ที่เขาพูดจาเกลี้ยกล่อมจนบุษบาใจอ่อน ในตอนที่อิเหนาลักพาตัวบุษบามาอยู่ในถ้ำ บุษบาร้องไห้พร้อมบ่นด้วยความเสียใจและน้อยใจที่ถูกอิเหนาลักพาตัวมา อิเหนาก็ตอบว่า ที่ทำไปเพราะไม่ต้องการให้วงศ์อสัญแดหวาเสื่อมเสีย แต่เมื่อตอนที่ตนได้จินตะหรา กลับไม่กลัวเสื่อมเสีย นั่นเป็นเพราะนิสัยดื้อรั้นและเอาแต่ใจของตนเองอีกตามเคย

บุษบาตัดพ้อพลางร้องไห้ อิเหนาก็หว่านล้อมบอกนางว่า เรื่องนางจินตะหรานั้นไม่ได้จริงจังอะไรหรอก เมื่อเขาหย่อนลงมาหา จะไม่รับเขาอย่างไรได้ นึกดูซิ พี่กับน้องได้ตุหนาหงันกันมาแต่เล็ก ถึงพี่จะมีสักร้อยเมีย ก็คงเป็นน้อยน้องอยู่นั่นเอง (นายตำรา ณ เมืองใต้, 2545) ซึ่งทำให้เห็นความสามารถของอิเหนาที่มีวาทศิลป์ในการกล่อมบุษบาให้เคลิ้มและใจอ่อน ไม่นานบุษบาก็เริ่มใจอ่อนจริง ๆ อิเหนาก็รุกหนักเข้า จนกระทั่ง…

ถึงชีวิตจะเจียนจากร่าง   จะอิงแอบแนบนางให้ได้
ว่าพลางโอบอุ้มอรไท   ขึ้นไว้เหนือตักสะพักชม
เอนองค์ลงแอบแนบน้อง   เชยปรางพลางประคองสองสม
คลึงเคล้าเย้ายวนสำรวลรมย์   เกลียวกลมสมสวาทไม่คลาดคลาย

……..

สององค์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์   ดังได้เสวยสวรรค์ชั้นดุสิต
ต่างแสนเสนหากว่าชีวิต   สมคิดเพลิดเพลินเจริญใจ

เรื่องราวหลังจากนั้นก็เป็นการผจญภัยของอิเหนาและบุษบา ที่ได้พลัดพรากจากกัน แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองก็ได้พบกัน คนที่มีความสุขมากที่สุดคงหนีไม่พ้นอิเหนา

อิเหนาได้ภรรยาทั้งหมด 10 คนคือ บุษบาเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา สะการะวาตีเป็นมะเดหวีฝ่ายขวา มาหยารัศมีเป็นมะเดหวีฝ่ายซ้าย บุษบาวิลิศเป็นมะโตฝ่ายขวา บุษบากันจะหนาเป็นมะโตฝ่ายซ้าย ระหนากะระติกาเป็นลิกูฝ่ายขวา อรสานารีเป็นลิกูฝ่ายซ้าย สุหรันกันจาส่าหรีเป็นเหมาหลาหงีฝ่ายขวา หงยาหยาเป็นเหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย

แม้ในตอนท้ายจินตะหราก็ยังคงงอนและแค้นอิเหนาอยู่ไม่น้อย อิเหนาจึงได้ชี้แจงความจริงของตนให้นางฟังทุกอย่างและขอโทษที่ตัวทำผิดพร้อมทั้งปลุกปลอบใจให้รักพี่รักน้องซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้นางจินตะหรายอมคืนดีด้วย (นายตำรา ณ เมืองใต้, 2545)

อิเหนาเป็นผู้ชายเจ้าเสน่ห์ แม้จะมีลักษณะนิสัยเจ้าชู้ แต่สตรีที่เป็นคู่ครองก็มิได้รังเกียจ และหากคู่ครองคนใดขึ้งเคียด หรือระอาต่อความเจ้าชู้ของอิเหนาแล้ว ก็มิอาจแสดงความแง่งอนอยู่ได้นาน เพราะเหตุว่าอิเหนาเป็นที่ต้องตาพึงใจของสตรีและมีคารมคมคายที่จะทําให้สตรีต้องให้อภัยอยู่เสมอ (ศศิรัศมิ์ สินธุวณิก, 2559)

ความดื้อรั้นของอิเหนานี้มีทั้งดื้อด้วยการกระทํา เช่น แกล้งทําหลับเพื่อให้รู้ว่าไม่เห็นด้วย ใช้กิริยาโลมนาง จะหยิกตีก็ไม่ย่อท้อจนนางใจอ่อนหรืออ่อนใจไปเอง ดื้อด้วยการใช้กําลัง เช่น จับบุษบาไว้ไม่ยอมปล่อยจนกว่าจะได้คํารับรองจากมะเดหวีว่าจะช่วย ดื้อด้วยการวางแผนการ เช่น หาทางออกจากกุเรปันเพื่อไปหาจินตะหรา วางแผนให้เข้าใจผิดจรกา วางแผนเผาโรงมหรสพแล้วลักบุษบาจากกรุงดาหา (นิดา มีสุข, 2548)

ดื้อด้วยการใช้คําพูดพลิกแพลงเพื่อให้พ้นผิด เช่น เมื่อจินตะหรากล่าวว่าตนเป็นเพียงระดูต่ำศักดิ์ต่างจากบุษบาที่เป็นวงศ์เทวัญ ก็ตอบว่า จินตะหราไม่ได้ต่างจากบุษบาเพราะทั้งสองเป็นน้องของอิเหนาเช่นกัน แต่พอบุษบาต่อว่าเรื่องไปหลงจินตะหรากลับยกข้อที่ว่าจินตะหราไม่ใช่วงศ์เทวัญขึ้นมาอ้างและว่าไม่คิดจะยกย่องจินตหรา…ซึ่งคําพูดเหล่านี้เป็นการพูดที่เรียกว่า “ข้าง ๆ คู ๆ” แต่ไม่ว่าจะดื้อรั้นเท่าใด…การที่อิเหนาดื้อรั้นนั้นก็เพราะรักแท้ ๆ พฤติกรรมอิเหนาที่แสดงออกว่า “เพราะรักจึงรั้น” นี้เองที่เป็นจุดเด่นส่วนหนึ่งในเสน่ห์ของเรื่องอิเหนา (นิดา มีสุข, 2548)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทละครเรื่องอิเหนา จาก https://vajirayana.org/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2/

นายตำรา ณ เมืองใต้. (2545). อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์.

ศศิรัศมิ์ สินธุวณิก. (มกราคม-เมษายน 2559) อิเหนา : วีรบุรุษนักรักและนักรบ. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1. หน้า 134-142.

นิดา มีสุข. (เมษายน-กันยายน 2548). อิเหนา : เพราะรักจึงรั้น. วารสารปาริชาต. ปีที่ 18 ฉบับที่ 1. หน้า 119-131.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2562