เมืองประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ กับ ป้อมมหากาฬ และ สงกรานต์ “คิดใหม่-ทำมั่ว”

บริเวณป้อมมหากาฬในอดีต

ราชการไทยนั้นประหลาด ชอบทำอะไรฟุ้งซ่านเป็นพักๆ แบบโฆษณาชวนเชื่อด้วยการโหมระดมทางสื่อ แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น ท่าทีหวงแหนเชิดชูกรุงเทพมหานคร มีการสมโภช และจัดงานแสงสีกันอยู่เนืองๆ เพื่อให้คนจากภายนอกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาชื่นชม แล้วเอาสตางค์มาจ่าย ทำให้รัฐมีรายได้ มีตัวเลขเอาไปโชว์

โดยย่อก็คือ การขายกรุงเทพฯ เพื่อการท่องเที่ยวนั่นเอง

คนกรุงเทพฯ แต่เดิมล้มหายตายจาก ส่วนคนที่พอมีเงิน เมื่อเกิดเบื่อหน่ายก็ย้ายออก จะเหลือคนเดิมอยู่ติดที่เป็นหย่อมๆ แบบอยู่ไปวันหนึ่งๆ รอเวลาที่บ้านเรือนและที่อยู่อาศัยจะถูกเวนคืนหรือถูกซื้อไปเพื่อทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทางธุรกิจ

ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกมากมายไม่มีหัวนอนปลายตีน แห่กันเข้ามาอยู่มาทำธุรกิจหาเงินหาทอง และซุกหัวนอนกันอย่างตัวใครตัวมัน

กรุงเทพฯ กำลังเป็นเมืองที่ไม่เป็นชุมชน เพราะคนที่อยู่ขาดสำนึกร่วม

ทุกวันนี้ความเป็นกรุงเทพฯ ในด้านวัตถุเหลือให้เห็นเพียงแค่วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง และวัดโพธิ์ เท่านั้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งทำมาหากินของคนจากที่ต่างๆ ที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนมากมาย แทบไม่มีอะไรที่ทำให้แลเห็นความเป็นมหานคร ที่สถาปนามาแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และชีวิตวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ ที่มีมาแต่เดิม

ทุกวันนี้คนไม่รู้จักกรุงเทพฯ แต่อาจคิดฟุ้งซ่านไปเป็นเมืองแบบละคร ลิเก ที่มอมเมาและปรุงเเต่งจากการแสดงแสงและเสียงเพื่อการท่องเที่ยวได้

กรุงเทพฯ เมืองประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เกาะรัตนโกสินทร์

กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ทัดเทียมกับมหานครลอนดอน แต่ว่าอาภัพ เพราะลอนดอนยังรักษาความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ไว้ได้ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาทุกวัน

ราชการไทยไม่เคยคิดถึงเมืองประวัติศาสตร์ แต่ชอบจ้างนักวิชาการที่โอ่แต่ความรู้ ทฤษฎีแบบตะวันตก และมีความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบงูๆ ปลาๆ มาวางแผน ทำแผนอนุรักษ์กรุงเทพฯ กัน

ผลที่ปรากฏออกมาก็คือการอนุรักษ์กรุงเทพฯ ในโครงการและรูปแบบที่เรียกว่า เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรียอมรับ และออกเป็นกฎหมายให้มีการดำเนินการกันในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไปของผู้คนที่เป็นชนชั้นกลาง และผู้หาเช้ากินค่ำ เช่น พวกหาบเร่ และคนจนที่อยู่ตามชุมชนในที่ต่างๆ มาแต่เดิมอย่างถ้วนหน้าถึงกัน ทั้งนี้เพราะเป็นโครงการอนุรักษ์ที่แลไม่เห็นคนนั่นเอง

เมื่อพิจารณาคำว่า “เกาะรัตนโกสินทร์” ก็แลเห็นความเลื่อนลอยที่จินตนาการขึ้นโดยกลุ่มนักวิชาการที่รัฐจ้างมาทำแผน คนทั่วไปไม่มีทางแลเห็นกรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเกาะแต่อย่างใด เพราะกรุงเทพฯ ไม่มีแม่น้ำล้อมรอบเหมือนกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เป็นเพียงเมืองที่มีแม่น้ำใหญ่ (ที่เป็นคลองขุดลัดแม่น้ำอ้อมครั้งกรุงศรีอยุธยา) อยู่ทางด้านตะวันตกเท่านั้น ส่วนด้านอื่นๆ โอบล้อมไปด้วยคลองคูเมืองที่เป็นคลองขุด ซึ่งปัจจุบันเรียก คลองโอ่งอ่าง

ฉะนั้น ถ้ากรุงเทพฯ เป็นเกาะ บรรดาเมืองโบราณแทบทุกแห่งในเมืองไทยก็เป็นเกาะทั้งหมด

แต่ที่โหดร้ายก็คือแผนเกาะรัตนโกสินทร์นี้ รังแกผู้คนที่เป็นชุมชนรอบๆ กรุงเทพฯ โดยจะต้องถูกเวนคืนขับไล่ให้ออกไปทั้งหมด เช่น ชุมชนปากคลองตลาด ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ เรื่อยไปถึงย่านป้อมมหากาฬ เมื่อไล่คนออกแล้วเอาพื้นที่ทำสวนหย่อม ทำสวนสาธารณะ รวมทั้งจะทำอะไรก็ได้ที่ทำให้กรุงเทพฯ ดูสวยงามเตะตาแก่คนที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไม่มีสำนึกเลยว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนอยู่กันมาอย่างสืบเนื่อง หาใช่เมืองโบราณที่โรยร้างไปไม่

ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ คือประวัติศาสตร์สังคมของผู้คนที่อยู่สืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย หาใช่ประวัติศาสตร์ศิลปะสถาปัตยกรรมที่เห็นแต่รูปแบบทางศิลปะไม่ เกาะรัตนโกสินทร์จึงเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะที่ใช้ได้กับเมืองร้างเท่านั้น

ทำนองตรงข้าม การอนุรักษ์เมืองโบราณที่ไม่ร้าง และมีผู้คนอยู่กันอย่างสืบเนื่องนั้น แทบทุกแห่งในโลกนี้กำหนดเรียกเป็นเมืองประวัติศาสตร์ (historic city) ที่แลเห็นประวัติศาสตร์สังคม อันมีผู้คนเป็นหัวใจในการอนุรักษ์ แทบไม่มีการไล่คนออก แต่ขอความร่วมมือในการอนุรักษ์ ไม่ให้รูปแบบอาคารหรือย่านที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่แลเห็นอดีต รูปแบบเก่าๆ ยังดำรงอยู่ แต่ว่าปรับปรุงให้คนที่อยู่มาแต่เดิมยังอยู่ต่อไปได้ รวมทั้งทำให้ย่านอนุรักษ์เหล่านั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือแหล่งทางประวัติศาสตร์ สำหรับคนภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้ไปในตัวเอง ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์จึงมีชีวิตชีวา แลเห็นการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวของผู้คน ไม่ใช่เมืองที่แห้งแล้ง หรือเป็นเมืองสวนหย่อม เป็นเมืองตุ๊กตาแบบเกาะรัตนโกสินทร์

เหลียวดู-มหานครลอนดอน แล้วย้อน-กรุงเทพมหานคร

ถ้าลืมเรื่องเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วมาคิดอย่างง่ายๆ และเป็นรูปธรรมกับเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ แล้ว ก็อาจเปรียบเทียบกรุงเทพฯ ได้กับมหานครลอนดอนของอังกฤษ

กรุงลอนดอน พัฒนาขึ้นมาบนสองฝั่งแม่น้ำเทมส์กว่าพันปี กรุงเทพฯ ไม่มีความเก่าแก่เท่า เพราะเกิดขึ้นบนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะที่เป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา ดังนั้นความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เพียง ๒๐๐ กว่าปี หากต้องคิดรวมเมืองธนบุรี และพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ก็เพราะคิดอย่างคับแคบอยู่แต่เกาะรัตนโกสินทร์เท่านั้น เลยทำให้ไม่เห็นความสำคัญของฝั่งธนบุรี แล้วปล่อยปละละเลยให้เกิดคอนโดศิวลึงค์ และตึกสูงอีกมากมายมาทำลายทัศนียภาพกับภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เสียจนแก้ไขอะไรไม่ได้

นึกแล้วก็อายชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทยสมัยก่อน ที่แลเห็นความงามและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนบนสองฝั่งน้ำในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรี อันมีพระปรางค์วัดอรุณเป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์

ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์บนสองฝั่งแม่น้ำเทมส์ของลอนดอนนั้น คนปัจจุบันทั้งภายนอกและภายในเห็นและเรียนรู้ได้จากพิพิธภัณฑ์ลอนดอน (Museum of London)

แต่กรุงเทพฯ ไม่มี ที่มีอยู่คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะ คนไทยทั้งชาติจึงไม่รู้จักกรุงเทพฯ ซ้ำร้ายบรรดาผู้มีอำนาจทางราชการก็ล้วนแต่ทำลายร่องรอยประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา เช่น ทำถนนทับคลองหลอด (คูเมืองเดิมของกรุงธนบุรี) สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าช้างวังหน้า และสร้างโรงละครแห่งชาติ (อัปลักษณ์) ปิดบังวัดพระแก้ววังหน้าที่เป็นศาสนสถานสำคัญของบ้านเมือง เป็นต้น

ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของลอนดอนนั้น มีสถานะที่สมบูรณ์ด้วยเหตุดังนี้

๑. สร้างพิพิธภัณฑ์ลอนดอนขึ้นมาจัดการแสดงให้คนเห็นพัฒนาการของบ้านเมือง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งเมื่อสรุปแล้วแลเห็นความเป็นมาของผู้คนและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงและการสืบเนื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ใครได้ชมพิพิธภัณฑ์ก็จะเห็นและเข้าใจภาพรวมของเมืองลอนดอนได้ด้วยเวลาสั้นๆ

๒. อนุรักษ์ย่านชุมชนและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามบริเวณต่างๆ ของเมือง โดยที่ผู้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทำให้บริเวณเหล่านั้นมีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิตชีวาไปในตัวเอง การจะอนุรักษ์ทั้งกรุงลอนดอนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นเมืองร้าง

จะเห็นว่าต่างกับโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ไม่มีแม้แต่เงาของพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ และการอนุรักษ์แหล่งประวัติศาสตร์ของเมืองที่ผู้คนมีส่วนร่วม หากเป็นการวางแผนแล้ววางผังตามจินตนาการอันเลื่อนลอย รื้อตรงนั้น แต่งตรงนี้อย่างแลไม่เห็นความมีตัวตนของคนในกรุงเทพฯ แต่อย่างใด ทำให้คิดต่อไปว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จเมื่อใด กรุงเทพฯ ก็คือเมืองอะไรก็ได้ ที่คิดใหม่ทำใหม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ใช้ประโยชน์ของบรรดาผู้มีโอกาสทั้งหลายที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน

แต่เมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของทางราชการ คงเป็นเรื่องสุดเอื้อม เพราะไปเหมาจ่ายให้โครงการเกาะรัตนโกสินทร์หมดแล้ว คงจะต้องโอนเป็นเรื่องของประชาสังคมที่จะต้องอาศัยสิทธิชุมชนเพื่อพิทักษ์รักษาและดูแลมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตามที่มีระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาจัดการ

การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ยังเป็นหนทางห่างไกล แต่ของใกล้ตัวที่อาจทำได้ คือการรวมพลังของคนกรุงเทพฯ ขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ แล้วอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์ รวมทั้งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ (Site Museum) เพื่อคนในกรุงเทพฯ และคนจากภายนอกได้มาศึกษาและเที่ยวชมอย่างเพลิดเพลินและมีความรู้ไปพร้อมกัน

แกนกลางของเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ก็คือพื้นที่บริเวณเดียวกับที่กำหนดให้เป็นเกาะรัตนโกสินทร์นั่นแหละ เพราะแท้จริงแล้วก็คือตัวเมืองกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง

แต่แนวคิดเมืองประวัติศาสตร์ ต่างจากแนวคิดเกาะรัตนโกสินทร์ ตรงที่ความเป็นเกาะรัตนโกสินทร์เน้นเรื่องกายภาพเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นตัวเมือง แต่เมืองประวัติศาสตร์มองดูการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพและสังคม โดยต้องแสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดเมืองกรุงเทพฯ บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองธนบุรีที่อยู่ในท้องถิ่นสองฝั่งแม่น้ำและลำคลอง ครั้นสมัยหลังต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ จนปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีการขยายตัวออกเป็นมหานครทั้งทางน้ำและทางบกนั้น มีอะไรที่จะเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ด้านสังคมและวัฒนธรรมที่จะต้องอนุรักษ์ให้ผู้คนได้เรียนรู้กันบ้าง ถ้าหากทำได้ดังนี้ เมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ก็จะไม่มีทางติดเกาะ แล้วกลายเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ได้

แต่ตามสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ กำลังถูกคุกคามโดยโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ขณะนี้ คงไม่อาจคิดอะไรให้ไปไกลได้ สิ่งที่เผชิญหน้าของการเป็นเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ก็คือ ทำอย่างไรจะอนุรักษ์สถานที่ และความเป็นชุมชนที่แสดงลักษณะความเป็นกรุงเทพฯ ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งไว้ได้

สถานที่ดังกล่าวนั้น คือบริเวณกำแพง, ป้อมปราการ และคูเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง ๓ แห่ง อยู่ทางด้านเหนือของเมืองเท่านั้น คือ ป้อมพระอาทิตย์ที่ปากคลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง ประตูเมืองที่เหลือเพียงแห่งเดียวตรงหน้าวัดบวรนิเวศ และป้อมมหากาฬที่เชิงสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินกลาง

ป้อมพระอาทิตย์ได้รับการบูรณะและปรับปรุงบริเวณให้เป็นสวนสาธารณะ ซึ่งก็ดูดีเพราะมีการอนุรักษ์ต้นลำพู แสดงร่องรอยที่เคยเป็นป่าชายเลนของบริเวณบางลำพู รวมทั้งทำให้เห็นถึงความคิดของคนท้องถิ่นแต่โบราณที่กำหนดชื่อย่าน หรือชื่อท้องถิ่นตามสิ่งที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

ส่วนดีอีกอย่างหนึ่งของบริเวณป้อมพระอาทิตย์คือมีอาคารเก่าที่เคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาอยู่ เป็นสิ่งที่ผู้คนในชุมชนปกป้องไม่ให้ทางราชการรื้อทำลาย ถ้าหากทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยของพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ก็จะดีไม่น้อย บางทีการเกิดพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ อาจเริ่มจากที่อาคารนี้ก่อนก็ได้

จุดอ่อนของสวนสาธารณะที่ป้อมพระอาทิตย์ก็คือไม่ได้อนุรักษ์พื้นที่ชานกำแพงไว้ให้คนได้เรียนรู้

กรุงศรีอยุธยาก็ดี กรุงเทพมหานครก็ดี เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำลำคลอง ต่างก็จะมีพื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงไปสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมืองเหมือนกัน ซึ่งกรุงเทพฯ เองก็น่าจะได้แบบอย่างมาจากอยุธยา พื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองดังกล่าวนี้เรียกว่า ชานกำแพง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง

อาจกล่าวได้ว่า ชานกำแพงเมืองทั้งที่อยุธยาและกรุงเทพฯ ต่างก็เป็นบริเวณที่ผู้คนจำนวนมากอยู่อาศัย มีการนำสินค้ามาขึ้น และมีบริเวณย่านตลาดแลกเปลี่ยนสินค้ากันตามจุดต่างๆ ชานกำแพงดังกล่าวนี้ไม่มีผู้สนใจจะอนุรักษ์ ทั้งๆ ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่าอย่างอยุธยา และกรุงเทพฯ

ที่อยุธยายังมีบ้าง แต่มองไม่เห็น เพราะกำแพงเมืองทั้งหมดถูกรื้อถอนมาทำเป็นถนนรอบเมืองหมดแล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า นอกแนวถนนรอบเมืองออกไปยังมีพื้นที่กว้างยื่นออกไปถึงชายแม่น้ำที่เป็นคูพระนคร แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งบริเวณพระตำหนักสิริยาลัย (ตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม) ก็จัดอยู่บริเวณชานกำแพงเมืองอยุธยา

แต่หลักฐานที่แสดงถึงภาพลักษณ์ของชานกำแพง อันเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองพระนครศรีอยุธยา ถูกบันทึกไว้ในภาพเขียนสีโดยฝีมือช่างชาวยุโรป ปัจจุบันได้นำมาขยายใหญ่ จัดแสดงไว้ในห้องของอาคารหมู่บ้านญี่ปุ่น ที่อยุธยา

ภาพในอดีต สังเกตุมุมบนซ้ายของภาพคือหลักฐานที่แสดงให้เห็นความมีอยู่มาอย่างต่อเนื่องของชุมชนบริเวณ “ชานกำแพงพระนคร”

กรุงเทพฯ เป็นเมืองอาภัพกว่า เพราะไม่มีภาพเขียนสีแบบที่อยุธยา ไม่มีใครสนใจ ดังนั้นเมื่อรื้อกำแพงเมืองออกไป พื้นที่ซึ่งเคยเป็นกำแพงเมืองก็กลายเป็นตึกแถวร้านค้า อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนราษฎร และสถานที่ราชการไปหมด เมื่อการทำสวนสาธารณะที่ป้อมพระอาทิตย์ไม่คำนึงถึงบริเวณที่เป็นชานกำแพงที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จึงเหลืออยู่ที่กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศกับที่ป้อมมหากาฬ ที่ติดกับคลองโอ่งอ่างเท่านั้น

แต่แล้วที่ประตูเมืองก็หมดโอกาส เพราะทั้งกรมศิลปากร และ กทม. ไม่ได้อนุรักษ์ชานกำแพงหน้าประตูเมือง ปล่อยให้มีผู้เอาพื้นที่ไปสร้างคอนโดมิเนียมจนเต็มไปหมด ตรงนี้นับว่าเสียดาย เพราะเป็นประตูเมืองที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ป้อม “มหากาฬ” จริงๆ เก็บป้อมไว้ ไล่คนให้หมด

ทีนี้ก็ถึงแหล่งสุดท้าย คือ ป้อมมหากาฬ

ป้อมมหากาฬโดดเด่นและสมบูรณ์เพราะสัมพันธ์กับแนวกำแพงเมืองที่ยาวขนานไปกับคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่เชิงสะพานผ่านฟ้าไปจนสุดเขตวัดราชนัดดาที่ต่อกับวัดเทพธิดาทีเดียว

แต่ที่สำคัญยิ่ง คือตามแนวกำแพงตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ยังมีพื้นที่ชานกำแพงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นพื้นที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนสืบมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน มีต้นไม้ใหญ่อยู่ร่มรื่น จนนึกไม่ถึงว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างลืมอดีตของกรุงเทพฯ ยังมีชุมชนตามชานกำแพงเมืองเหลืออยู่

แต่แล้วบริเวณที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพฯ ก็ไม่วายถูกคุกคามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ให้ทำเป็นพื้นที่สาธารณะ มีกิจกรรมให้คนไปหย่อนใจ รวมทั้งไปเต้นแอโรบิค ก็คงคล้ายๆ กับป้อมพระอาทิตย์นั่นเอง

ถ้าทำเช่นนี้จริง ก็เท่ากับแลไม่เห็นความสำคัญของชานกำแพง และชุมชนทางประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ ดูแล้วน่าใจหาย เพราะความคิดของโครงการเกาะรัตนโกสินทร์เป็นภาพสถิตแต่เพียงเรื่องสวนสาธารณะที่เป็นสวนหย่อม แล้วทำอาคารใหม่ๆ ผสมสัญลักษณ์บางอย่างมาแสดงเท่านั้น

บริเวณป้อมมหากาฬนั้น ไม่ใช่เหลือซากอดีตแต่เพียงตัวป้อมเท่านั้น หากมีสิ่งที่เป็นโครงสร้าง ทั้งด้านวัฒนธรรมที่จะร้อยรัดเชื่อมโยงให้แลเห็นอดีต และด้านสังคมแสดงความสืบเนื่องของความเป็นกรุงเทพมหานครได้ดีกว่าที่อื่นๆ

โครงสร้างที่ว่านี้ก็คือตัวป้อม และแนวกำแพงเมือง กับชานกำแพงเมืองและชุมชนชาวตรอกที่อยู่นอกกำแพงเมือง

บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามลำคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่นๆ

(บน) ถนนมหาไชย ด้านซ้ายคือกองมหันตโทษ (ล่าง) สามัญชนคนบางกอกสมัยก่อน อยู่บริเวณประตูเมืองแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ข้อมูลประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของนางสาวปราณี กล่ำส้ม นักวิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ทำให้แลเห็นว่าผู้คนที่อยู่ในชุมชนชานกำแพงเมืองบริเวณป้อมมหากาฬนี้ เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมามากกว่า ๕๐ ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังเหลืออยู่ขณะนี้ รวมทั้งปลูกอาคารที่สัมพันธ์กับท่าเรือจอดริมป้อมมหากาฬ ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ หลายคนเป็นขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์ทีเดียว

แต่ที่สำคัญก็คือทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ล้วนเป็นคนในชุมชนที่มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งเป็นผู้ที่เคารพกราบไหว้ศาลเจ้าที่ซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬด้วย

เพราะฉะนั้นป้อมมหากาฬในความคิดของผู้คนในชุมชนนั้น หาใช่เป็นป้อมที่นักวิชาการของโครงการเกาะรัตนโกสินทร์, เจ้าหน้าที่ กทม., หรือบรรดานักธุรกิจนักลงทุน รวมทั้งคนที่มองแต่ด้านวัตถุ จะนำเอาไปเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสวนสาธารณะ ที่อาจปรุงแต่งให้เป็นสถานที่เพื่อการแสดง เพื่อการขายสินค้า และอะไรต่างๆ นานาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

โดยย่อก็คือ บริเวณนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หาใช่สถานที่สาธารณ์ไม่

ยิ่งกว่านั้น ถ้ามองอย่างเชื่อมโยงจากชุมชนชานกำแพงเมืองที่ป้อมมหากาฬ ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจกับบรรดาชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว ก็จะแลเห็นความเกี่ยวข้องไปยังบรรดาชุมชนที่อยู่ตามห้องแถว ตึกแถว ตามริมคลองโอ่งอ่าง รวมทั้งชุมชนตามตรอกซอยแถววัดราชนัดดา วัดเทพธิดา ไปจนถึงย่านร้านค้าแถวเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ และที่อื่นๆ

บรรดาชุมชนเก่าแก่ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีสถานที่อันเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพฯ อยู่ทั่วไป ซึ่งก็ล้วนเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์และพัฒนาการสืบเนื่องทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ได้โดยไม่ยาก

ในความคิดของข้าพเจ้า จุดอ่อนของโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ก็คือมองแต่โครงสร้างทางกายภาพ โดยไม่ให้ความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มองเห็นแต่สถานที่ แต่ไม่เห็นคนนั่นเอง ถ้าเห็นทั้งคนและเห็นทั้งสถานที่ ก็จะแลเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และสืบเนื่องอย่างมีชีวิตชีวา

กรณีป้อมมหาหาฬ ถ้าเพียงอนุรักษ์ป้อมแล้วเอาพื้นที่แวดล้อมเป็นสวนสาธารณะ ก็จะแลเห็นเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และมีงานแสดงรื่นเริงเพียงอย่างเดียว ผู้คนที่เข้ามาใช้สถานที่ก็เหมือนกับฝูงคน (mob) ที่เข้ามาแค่นั้น ไม่เกิดความรู้สึกผูกพันกับอะไรทั้งนั้น แต่ถ้าหากจะอนุรักษ์และจัดการให้เป็นสถานที่สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ แล้ว ก็จำเป็นต้องให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทั้งในการอนุรักษ์และเป็นเจ้าของ

นั่นก็คือ แทนที่จะไล่คนในชุมชนท้องถิ่นไปอยู่ที่อื่น แล้วจัดการพื้นที่และสถานที่อนุรักษ์ไปตามสิ่งที่นักวางแผนหรือนักออกแบบคิดขึ้นมาแต่เพียงฝ่ายเดียวและอย่างเดียวเท่านั้น เห็นจะต้องมีการจัดการให้ชุมชนเดิมดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง ด้วยการปรับที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้คนแต่ดั้งเดิมยังดำรงอยู่ได้ในลักษณะที่ควบคุมได้

ที่ว่าต้องควบคุมได้ ก็ตรงไม่ให้มีการขยายตัวจนเกิดความแออัด เพราะพื้นที่อยู่อาศัยมีจำกัด สมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัวจะต้องย้ายออกไปเมื่อถึงเวลา และยังคงผู้ที่เห็นว่าสมควรอยู่ ก็ให้อยู่ต่อไปเพื่อดูแลพื้นที่สาธารณะ อันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน

นั่นก็คือ พื้นที่ชานกำแพงเมือง ที่ให้เป็นของส่วนรวม เพื่อกิจกรรมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งมาจากภายนอกและจากคนภายใน

ส่วนป้อมมหากาฬ ก็ให้เป็นทั้งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในระบบความเชื่อของผู้คนในชุมชน มีการทำความเคารพ หรืองานพิธีกรรมตามเวลาที่ชุมชนกำหนด มีการจัดสถานที่เป็นอาคารหลังเล็กๆ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยที่จัดแสดงให้เห็นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองกรุงเทพฯ และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นนี้ของเมือง

ยิ่งกว่านั้น การที่จะทำให้เกิดเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา ก็จำเป็นต้องสนับสนุนและอบรมให้คนในชุมชน โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวและเด็ก ทำหน้าที่เป็นวิทยากร คอยอธิบายและให้ความรู้เรื่องเมืองกรุงเทพฯ และวัฒนธรรมท้องถิ่นในย่านกำแพงเมืองกับชานกำแพงเมืองแก่ผู้ที่มาจากภายนอกได้เข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพการทำงานของผู้คนในชุมชน อีกทั้งมีการจัดงานประเพณีของท้องถิ่นที่คนจากภายนอกเข้ามาเห็นและเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะรูปแบบของประเพณีพิธีกรรมดังกล่าวนี้คืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในย่านนี้และของเมืองกรุงเทพฯ นั่นเอง

สงกรานต์ในกรุงเทพฯ วิธีฟื้นฟูแบบ “คิดใหม่-ทำมั่ว”

เมื่อมาถึงตรงนี้ทำให้คิดไปถึงประเพณีสงกรานต์ที่ผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่าง

จะเห็นว่า เมืองกรุงเทพฯ ตามระบบเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองทางกายภาพ แต่ไม่มีโครงสร้างทางสังคม เพราะแทบทุกถนนหนทางที่ผ่านไปตามย่านต่างๆ กลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนที่ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหนต่างสัญจรไปมาด้วยรถกระบะและมอเตอร์ไซค์ แต่งตัว แต่งหน้า แต่งผมประหลาดๆ ต่างสาดน้ำ ฉีดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน

ยิ่งไปกว่านั้น พวกวัยรุ่นบางกลุ่มก็ยึดพื้นที่ตามถนน เต้นระบำ ยกมือยกไม้อย่างเสรี ทำให้สรุปได้ว่า ประเพณีสงกรานต์สามวัน คือวันเนา วันมหาสงกรานต์ และวันเถลิงศกนั้น ไม่มีในเมืองกรุงเทพมหานคร แต่มีเพียงการเล่นสาดน้ำสกปรกใส่กันตามถนนหนทางเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาสามวันเต็มๆ

ยิ่งกว่านั้นอีก คนกรุงเทพฯ จริงๆ โดยเฉพาะผู้มีอายุที่อยู่ตามแหล่งชุมชนเก่าๆ ก็แทบจะไม่ได้โผล่ออกมาเล่นสาดน้ำอะไรกับเขา คงมีพวกวัยรุ่น วัยเด็ก ที่อยู่ตามห้องแถวตึกแถวหรือบ้านจัดสรร กับพวกวัยรุ่นจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานรับจ้าง แต่ไม่กลับบ้านเดิมในช่วงสงกรานต์ พากันเข้ามาเล่นสนุกกัน

ด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านี้ เลยทำให้เมืองกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองกลวงโบ๋ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีสาระ และไร้ซึ่งร่องรอยของการมีอารยธรรมที่มีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ อย่างสิ้นเชิง

(บน) พิธีวังเวยบูชาเจ้าพ่อประจำป้อมมหากาฬ (ล่าง) รำบวงสรวงบนป้อมมหากาฬ

กรุงเทพฯ ไร้ประวัติศาสตร์ ไร้เครือญาติ ขาดชุมชน

กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คือเมืองที่ไร้ประวัติศาสตร์ และไร้ชุมชน

ที่ว่ากรุงเทพฯ ไร้ประวัติศาสตร์ ก็เพราะทางราชการนั่นแหละทำลายร่องรอยประวัติศาสตร์ ด้วยการคิดใหม่แล้วทำอะไรมั่วๆ ตลอดเวลา เช่น ความฟุ้งซ่านเรื่องเกาะรัตนโกสินทร์ที่แลไม่เห็นผู้คนและชุมชน

ส่วนที่ว่ากรุงเทพฯ ไร้ชุมชน ก็เพราะราชการนั่นแหละเป็นตัวการทำลายชุมชน เช่น ขับไล่ชุมชนชานกำแพงที่ป้อมมหากาฬ โดยเฉพาะเรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการที่ กทม. บีบทั้งทางอ้อมและทางตรง ให้เงินชาวบ้านไปหาที่อยู่ใหม่แบบตัวใครตัวมัน โดยไม่มีความเข้าใจเลยว่าเขาเคยอยู่กันเป็นชุมชน กว่าจะให้เขาย้ายไปนั้น จำเป็นต้องทำให้เขาได้อยู่กันเป็นชุมชนจึงจะอยู่ได้ ซึ่งก็นับเป็นการทำผิดซ้ำๆ ซากๆ ของราชการ เหมือนการย้ายคนในชุมชนท้องถิ่นออกไปจากบริเวณสร้างเขื่อนชลประทานต่างๆ เช่น ที่ปากมูน และที่เขื่อนภูมิพล เป็นต้น

ความเป็นชุมชน คือความเป็นมนุษย์ที่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม และมีโครงสร้างสังคม แต่ดูเหมือน กทม. และรัฐมักจะมองมนุษย์เพียงแค่เป็นปัจเจกเท่านั้น

ก็เพราะ กทม. มองมนุษย์เป็นปัจเจกนี่แหละ ที่ทำให้กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นเกาะของอมนุษย์ และก็เพราะคนที่อยู่ในชุมชนกรุงเทพฯ ที่ป้อมพระกาฬรู้ตัวเองว่าถ้าเพียงรับเงินไปหาที่อยู่แบบเป็นปัจเจกนั้น คือ ความผิดของความเป็นมนุษย์ จึงต่างต้องหันกลับมาต่อสู้เพื่ออยู่รวมกันที่ชานกำแพงเมือง ตรงป้อมมหากาฬดังเดิม

เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว การฟื้นฟูและการอนุรักษ์กรุงเทพฯ ต้องฟื้นฟูและอนุรักษ์ชุมชนทางประวัติศาสตร์ด้วย

ถ้าหากเป็นไปได้อย่างนี้ ประเพณีสงกรานต์ของกรุงเทพฯ คงไม่ใช่สงกรานต์ม็อบ สงกรานต์มั่ว และสงกรานต์ถ่อย อย่างที่แลเห็นในปีนี้ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

สงกรานต์กรุงเทพฯ ควรเป็นเรื่องของคนกรุงเทพฯ ที่เป็นชุมชนในย่านต่างๆ จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนที่อยู่ในย่านเดียวกัน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันให้สะอาดตาน่าอยู่อาศัย และประกอบพิธีกรรมทางศาสนากับประเพณีความเชื่อตามแบบอย่างของแต่ละย่านอันมีรูปแบบอัตลักษณ์ที่ต่างกัน แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างย่าน หรือระหว่างชุมชนให้มาสังสรรค์กัน รวมทั้งเชื้อเชิญคนจากภายนอกเข้ามารู้จักและร่วมความสนุกสนาน ที่ระคนไปด้วยพื้นที่ และเวลาในประเพณีพิธีกรรม อันจะทำให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจร่วมกันในช่วงเวลาปีใหม่ที่มาถึง

ถ้าหากทางราชการยังไม่เข้าใจทั้งความหมายของเมืองประวัติศาสตร์ ความหมายของชุมชน และความหมายของสงกรานต์ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความมั่นใจและมั่นคงทางสังคมอย่างมีทิศทางแล้ว สงกรานต์กรุงเทพฯ แบบที่เล่นกันแต่เพียงสาดน้ำอย่างมั่วๆ และถ่อยๆ นี้ ก็คงจะเป็นอะไรที่เลวไปกว่าโรคไวรัส “ซาร์ส” ที่เพียงฆ่าคนในโลกเพียงร้อยกว่าคนในเวลาเดือนหรือสองเดือนที่ผ่านมา

แต่สงกรานต์ปีนี้ฆ่าคนกว่า ๔๐๐ คนขึ้นไปในเวลาเพียง ๓-๔ วันเท่านั้นเอง