เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย-ศรีประภัสสรชัย จากต้นรัตนโกสินทร์ เรือพระที่นั่งที่ถูกลืม

รายละเอียดโขนเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2555)

เมื่อกล่าวถึงเรือพระที่นั่งสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน ส่วนใหญ่คงนึกถึงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช หรือเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งซึ่งนำมาใช้ในกระบวนเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ดังเช่นที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตาม เรือพระที่นั่งสำคัญสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่หลงเหลือจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงมีอีกหลายลำแม้จะชำรุดเสียหายมาก ดังเช่น เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย และเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรือพระที่นั่งชลพิมานชัยและเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยมากนักทั้งที่เป็นเรือพระที่นั่งทรงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บทความเรื่องนี้เป็นการศึกษาที่มาของเรือพระที่นั่งทั้ง 2 ลำนี้เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาต่อไป

เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย : เรือพระที่นั่งทรงสมัยรัชกาลที่ 3

เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย เป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อทดแทนเรือพระราชพิธีลำเดิมที่ถูกทำลายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังรายชื่อเรือพระที่นั่งซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี(ขำ บุนนาค) ว่า

“…อนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งกิ่งศรีสมรรถไชย 1 ยาว 16 วา พื้นแดง
พระที่นั่งกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์ 1 ยาว 17 วา พื้นเขียว
พระที่นั่งชลพิมานไชย 1 ยาว 14 วา พื้นแดง
พระที่นั่งไกรสรมาศ 1 ยาว 14 วา พื้นแดง
พระที่นั่งไกรสรจักร 1 ยาว 17 วา 2 ศอก พื้นเขียว เอกไชย
พระที่นั่งเอกไชยศรีประภัศร าว 18 วา พื้นดำ
พระที่นั่งเอกไชยน้อย ยาว 14 วา พื้นดำ 1

เอกไชยเหินหาว 1 เอกไชยหลาวทอง 1 เป็คู่ชักทั้ง 2 ลำ
พระที่นั่งเอกไชยไกรสรมุข ยาว 19 วาศอก พื้นดำ
พระที่นั่งศรีสุพรรณหงษ ยาว 18 วา พื้นดำ 1
พระที่นั่งบุษบกพิศาล ยาว 15 วา สีประกอบพื้นน้ำเงิน 1
พระที่นั่งวิมานอมรินทร์ สีประกอบ ยาว 12 วา 3 ศอกคืบ พื้นเขียว 1
พระที่นั่งสังขศรีทิพรัตน ลายเขียน 1 ยาว 15 วา พื้นแดง 1
พระที่นั่งจักรพรรติ์ ลายเขียน ยาว 14 วา 2 ศอก พื้นดำ 1
พระที่นั่งทินกรส่องศรี ลายเขียนทอง ยาว 12 วา พื้นแดง 1
พระที่นั่งมณีจักรพรรดิ ลายเขียนทอง ยาว 13 วา พื้นเขียว 1
เรืออนงค์นิกร ยาว 13 วา พื้นดำ 1
เรืออัปษรสุรางค์ ยาว 13 วาศอก พื้นม่วง 1
พระที่นั่งสวัสดิชิงไชย ประกอบ ยาว 16 วา พื้นดำ 1
พระที่นั่งวิไลเลขา ยาว 15 วา 3 ศอกคืบ พื้นดำ
พระที่นั่งกราบศรีเมือง ยาว 14 วา 2 ศอก
พระที่นั่งกราบกระบวนนางรำ ยาว 16 วา 2 ศอก 1
เรือครุธ เรือกระบี่ เป็นคู่ชัก พาลีล้างทวีป สุครีบครองเมือง 1 เรืออสุรวายุภักษ 1 เรืออสุรปักษี 1 เรือกระบี่ปราบเมืองมาร 1 เรือกระบี่รานรอนราพ 1 เรือครุธเหินเหจ 1 เรือครุธเตรจไกรจักร 1 เรือแซ เรือพิฆาฏ เรือวังหน้า เรือเหรา โปรดเกล้าฯ ให้ทำไว้สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคพร้อมทุกสิ่ง…”[1]

ดังนั้น เรือพระที่นั่งลำนี้จึงเป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 จัดเป็นเรือประเภทเรือพระที่นั่งเอกชัย หรือเรือชัย อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าชื่อเรือที่เรียกว่า “ชลพิมานชัย” อาจเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทาน จึงปรากฏหลักฐานใน “บัญชีเรือพระที่นั่งและเรือกระบวน” ซึ่งกล่าวถึงชื่อเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อไว้ในจำพวกเรือพระที่นั่งเอกไชย[2] ว่า

“๏ ศุภมัศดุ จุลศักราช 1188 ปีจอ อัถศก พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิทพระพุทธิเจ้าอยูหัว ผู้ทรงคุณธรรม์อันมหาประเสิษฐ ทรงพระราชนิพนธ์ชื่อเรือพระธินั่งเรือกระบวน…

พระธินั่งเอกไช 2

เรือพระธินั่งไกรแก้วจักรหวัด กิ่งพื้นเขียว ยาว 17 วา 1 ศอก 1 คืบ 3 นิ้ว กำลัง 1 วา 2 ศอก 1 นิ้ว ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งศรีสุนทรไชย พื้นแดง ยาว 17 วา 2 ศอก กำลัง 1 วา 2 ศอก 3 นิ้ว ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งไกรสรจักร พื้นเขียว ยาว 17 วา 2 ศอก กำลัง—ลำ 1

๏ เรือพระธินั่งชลพิมานไชย เอกไชย พื้นแดง ยาว 12 วา 3 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 1 วา 1 ศอก 2 นิ้ว ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งไกรสรมาศ พื้นแดง ยาว 14 วา กำลัง—ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งเอกไชยไม่มีชื่อ พื้นดำ ยาว 14 วา กำลัง 1 วา 1 ศอก 10 นิ้ว ลำ 1…”[3]

ด้วยเหตุนี้เรือพระที่นั่งชลพิมานชัยจึงเป็นเรือพระที่นั่งสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ว่า “เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย” ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย นอกจากจะมีความสำคัญในด้านประวัติการสร้างดังกล่าวมาแล้ว เรือพระที่นั่งชลพิมานชัยยังเป็นเรือพระที่นั่งที่เข้ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยใช้เป็นเรือพระที่นั่งนำเสด็จก่อนเรือพระที่นั่งทรง ดังปรากฏหลักฐานใน “ลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า

ลำดับนาเวศชั้น ทวารใน
โดยขนาดตราไตร แต่งตั้ง
ตำรวจสี่เวรระไว ระวังราช นั้นนา
เรือกิ่งนำเสด็จดั้ง ฮ่าชั้นรายเรียง

๏ ชลพิมานไชยที่ห้า ระหงฉาย
รันทดรันทวยพาย ตื่นเต้น
กระแหนะกระหนกพราย เพราเพริด
ลีลาศลอยลำเหล้น แล่นล้ำใครเสมอ[4]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือพระที่นั่งชลพิมานชัยได้นำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งลำทรงของพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย ดังปรากฏหลักฐานใน “ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค” พระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส หรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ว่า

จึ่งถึงนาเวศเจ้า จุธาไท ธเรศฤๅ
พระที่นั่งชลพิมานไชย ชื่อชี้
ลำมาดขนาดนับไตร- รัศวัด วาเอย
รจเรขเฉกไชยกี้ ฉลุล้วนลายสุวรรณ ฯ

๏ บัลลังก์แต่งตั้งต่าง บุษบก
ศรีดาษกันยาปก ปักพร้อม
แผ่ลวดพิลาศลายกนก กระหนาบแย่ง พื้นพ่อ
ขั้นขอบเชองชายล้อม เลอศล้ำสลับศรี ฯ

๏ วิสูตรกาญจน์แก้วกอบกั้น เวียนวง รอบฤๅ
แห่งรัตนบัลลังก์ทรง กษัตริย์ใช้
ดำรวจที่ถือธง นักษราช หน้านา
หนึ่งราชเสน่หาให้ สถิตย์ท้ายเรือทรง ฯ

๏ สองนายกายก่องเพี้ยง ชนสอง เพรงพ่อ
พื้นธวัชแผ่ลวดทอง เถือกหล้า
สักระหลาดชาดศรีรอง ไพโรจ หร่ามเฮย
แปลกแต่ปลายธงห้า แฉกใช้ชายเฉลอม ฯ[5]

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย” เป็นเรือพระที่นั่งสำคัญลำหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นเรือพระที่นั่งซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และมีการนำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 1 รวมทั้งนำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งลำทรงในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้า

พระกฐินทางชลมารค สมัยรัชกาลที่ 3 อีกด้วยเรือพระที่นั่งชลพิมานชัยปัจจุบันยังเก็บรักษาทั้งลำสภาพชำรุดไว้ที่โรงเก็บเรือแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็กกรมการขนส่งทางเรือ กองทัพเรือ

รายละเอียดโขนเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2555)

เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย : เรือพระที่นั่งทรงสมัยรัชกาลที่ 4

เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยเป็นเรือพระที่นั่งที่สำคัญอีกลำหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ปัจจุบันยังมีการเก็บรักษาโขนเรือไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เรือพระที่นั่งลำนี้ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งชลพิมานชัย ดังปรากฏหลักฐานในทำเนียบระวางเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 1 มีกล่าวถึงขนาดของเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยว่า

“4. เรือศรีประภัศรไชย พระที่นั่งเอกไชย พื้นดำ ยาว 18 วา กำลัง กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ท้องลึก 1 ศอก 6 นิ้ว…”[6]

นอกจากนี้ ยังปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ใน “บัญชีเรือพระที่นั่งและเรือกระบวน” ซึ่งกล่าวถึงชื่อเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อไว้ ซึ่งในรายชื่อเรือพระที่นั่งกิ่ง[7] มีชื่อเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยรวมอยู่ด้วย ดังความในจดหมายเหตุว่า

“๏ ศุภมัศดุ จุลศักราช 1188 ปีจอ อัถศก พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิทพระพุทธิเจ้าอยูหัว ผู้ทรงคุณธรรม์อันมหาประเสิษฐ ทรงพระราชนิพนธ์ชื่อเรือพระธินั่งเรือกระบวนพระธินั่งกิ่ง 3 ลำ

๏ เรือพระธินั่ง ศรีสมรรถไชย กิ่งพื้นแดง ยาว 18 วา 6 นิ้ว กำลัง 1 วา 2 ศอก 7 นิ้ว ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งไกรสรมุข กิ่งพื้นดำ ยาว 19 วา 1 ศอก กำลัง 1 วา 2 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ลำ 1
๏ เรือพระธินั่งศรีประภัศรไชย ยาว 18 วา กำลัง—ลำ 1…”[8]

จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยเป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ นอกจากความสำคัญที่เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยจะเป็นเรือที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เรือพระที่นั่งลำนี้ยังมีการนำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงอีกด้วย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า “เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย” เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ดังความในพระราชพงศาวดารว่า

“…เรือกิ่งศรีประภัศศรไชยลำพระที่นั่งทรง เรือกิ่งไกรสรมุขพระที่นั่งรอง มีนักสราดถือธงหักทองขวางน่าซ้าย มีมณฑปยอดเปนพระที่นั่ง ประดับพลอยสีต่างๆมีเสวตรฉัตรฃาวลายทองเจดชั้น ปักเคียงพระมณฑปซ้ายขวา เครื่องสูงชุมสายตั้งรายไปตามเรือ ฝีพายสรวมเสื้อสรวมหมวกสรวมกางเกงสักหลาดฃลิบโหมดร้อยคน…”[9]

เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งที่มีความสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อครั้งเสด็จเลียบพระนครหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2394 ต่อมาจึงทรงสร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงในภายหลัง

บทสรุป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นอกจากเรือพระที่นั่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ฯลฯ ยังมีเรือพระที่นั่งสำคัญสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เคยนำมาใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรง 2 ลำ คือ เรือพระที่นั่งชลพิมานชัยและเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย ซึ่งชำรุดเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมีการเก็บรักษาโขนเรือไว้ เรือพระที่นั่งทั้ง 2 ลำนี้มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เรือพระราชพิธีของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 และมีการพระราชทานชื่อเรือพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 3

นอกจากนี้ ยังเป็นเรือพระที่นั่งทรง เช่น เรือพระที่นั่งชลพิมานชัยเคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค และเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยซึ่งเคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จเลียบพระนครหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ดังนั้น หากจะมีการดูแลรักษาหรือรื้อฟื้นซ่อมแซมเรือพระที่นั่งชลพิมานชัยและเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยทั้ง 2 ลำนี้ขึ้นให้มีสภาพสมบูรณ์ หรือมีการศึกษาเกี่ยวกับเรือพระที่นั่งทั้ง 2 ลำนี้มากขึ้นในอนาคต ก็น่าจะเป็นการช่วยสืบอายุหลักฐานทางประวัติศาสตร์เรือพระราชพิธีของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนั่นเอง


เชิงอรรถ

[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2552), น. 238-239.

[2] เรือพระที่นั่งเอกไชย (เอกชัย) เป็นเรือพระที่นั่งชั้นถัดลงมาจากเรือพระที่นั่งกิ่ง มีลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงามเหมือนกับเรือพระที่นั่งประเภทอื่นๆ เพียงแต่ขึ้นทำเนียบเป็นเรือพระที่นั่งเอกไชย ในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศมีการกล่าวถึงเรือชัยไว้ด้วย เรือพระที่นั่งเอกชัยบางลำมีชื่อเฉพาะ เช่น เรือศรีประภัศรไชย เรือพระที่นั่งประเภทนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเครื่องอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับชั้นด้วย
เช่น เรือพระที่นั่งเอกไชยพื้นดำ เป็นเรือสำหรับที่พระมหาอุปราช เป็นต้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชจากวัดสมอรายมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็พระราชทานเรือพระที่นั่งเอกไชยให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง

[3] กรมศิลปากร. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสหประชาพาณิชย์, 2530), น. 87.

[4] เจ้าพระยาพระคลัง (หน). วรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง(หน). (พระนคร : แพร่พิทยา, 2515), น. 153.

[5] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค. (กรุงเทพฯ : สหธรรมิก, 2539), น. 130-131.

[6] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้. (กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555), น. 134.

[7] เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือพระที่นั่งที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาท ในครั้งนั้นฝีพายเอาดอกเลาปักไว้ที่ปัถวีเรือไชย ก็โปรดว่างดงามดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงศรีอยุธยาจึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงปัถวีเรือไชยเป็นเรือกิ่ง ในเวลาต่อมาจึงมีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับไว้ที่หัวเรือและโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า เรือพระที่นั่งกิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงที่สุด เพราะไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดประทับ ยกเว้นบางครั้งที่อาจใช้เป็นเรือ
เชิญผ้าไตรในงานพระราชทานพระกฐิน หรือเชิญพระพุทธรูปในเวลาเข้ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเท่านั้น เรือพระที่นั่งซึ่งเป็นเรือกิ่งที่ปรากฏรายชื่อในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศได้แก่ เรือศรีสมรรถไชย เรือไกรสรมุข

[8] กรมศิลปากร. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. น. 86.

[9] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. (กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี, 2547), น. 31.

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสหประชาพาณิชย์, 2530.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2552.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี, 2547.

ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค. กรุงเทพฯ:สหธรรมิก, 2539.

พระคลัง (หน), เจ้าพระยา. วรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง (หน). พระนคร : แพร่พิทยา, 2515.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 1 เมษายน พ.ศ. 2562