นักประวัติศาสตร์ผู้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ครอบงำ? “หลี่ เซวียฉิน” กับงานโบราณคดีในจีน

ภาพประกอบเนื้อหา - ผู้นำระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์จีนร่วมงานครบ 30 ปีของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เมื่อ 18 ธ.ค. 2009 (ภาพจาก FREDERIC J. BROWN / AFP)

The New York Times ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนได้ยืนยันว่า นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศที่มีชื่อว่า “หลี่ เซวียฉิน” เสียชีวิตวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ในวัย 85 ปี (อ่านข่าวที่นี่)

หลี่ เซวียฉิน (Li Xueqin) เป็นรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการของสำนักประวัติศาสตร์มากว่า 20 ปี ซึ่งสำนักนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Chinese Academy of Social Science (CASS) หรือสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน ซึ่งบทบาทของสถาบันนี้ส่งอิทธิพลต่อทิศทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เขาเป็นหัวหน้าโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพิสูจน์ว่าราชวงศ์จีนในยุคแรกเริ่มไม่ใช่ตำนานและอาจมีอยู่จริง ซึ่งเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องกับจีนยุคอารยธรรมโบราณ

ซาราห์ อัลลาน (Sarah Allan) ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยดาร์ทเมาธ์ (Dartmouth College) ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับหลี่กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องของการเมือง แต่เขา[หลี่]รู้สึกอย่างแท้จริงว่า เขาสามารถหาคำตอบให้กับอดีตของประเทศจีนได้ แม้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเหล่านี้ แต่เขาก็เป็นพวกชาตินิยม” หลี่เขียนหนังสือมากกว่า 40 เล่มและบทความกว่า 1,000 เรื่อง

ประวัติ หลี่ เซวียฉิน 

Li Xueqin หรือ หลี่ เซวียฉิน เกิดในกรุงปังกิ่ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1933 บิดาเป็นนักโภชนาการที่วิทยาลัยการแพทย์สหภาพปักกิ่ง (Peking Union Medical College) ส่วนมารดาไม่ได้ประกอบอาชีพและทำงานเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ช่วงชีวิตวัยเด็ก หลี่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ดำมืดของสงครามจีน-ญี่ปุ่น และสงครามที่เกิดขึ้นต่อ ๆ มา แต่นั่นก็มิได้บดบังหลี่ ออกจาก “ยุคของการบ่มเพาะปัญญาชนแห่งเสรีภาพ” ซึ่งหลี่ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนนั้นอ่านหนังสืออย่างหนัก ถ้าเทียบกับพฤติกรรมการกินอาหารแล้วก็นิยามได้ว่า “ตะกละตะกลาม” เลยทีเดียว

กระดูกเสี่ยงทายทำจากกระดูกของเต่า สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงราชวงศ์ชาง (ภาพจาก wikipedia)

ค.ศ. 1951 หลี่เข้าเรียนสาขาปรัญาและตรรกศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของกรุงปังกิ่ง ในตอนที่เขากำลังมุ่งมั่นกับการเรียน หลี่อ่านหนังสือเกี่ยวกับ กระดูกเสี่ยงทาย (oracle bones) ในห้องสมุด ทำให้เขาสนใจงานด้านโบราณคดีมากยิ่งขึ้น โดยหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระดูกเสี่ยงทายที่ทำมาจากกระดูกเต่าและวัวในยุคอารยธรรมจีนโบราณ ซึ่งกระดูกเสี่ยงทายนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของพัฒนาการอักษรจีนโบราณ ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญของการเข้าสู่ยุคอารยธรรมของชนชาติจีน

เมื่อหลี่อยู่ชั้นปีที่ 2 เฉินเหมิงเจีย (Chen Mengjia) นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของจีนในเวลานั้นตัดสินใจเลือกหลี่ให้มาเป็นผู้ช่วยวิจัยและร่วมงานเขียนเกี่ยวกับกระดูกเสี่ยงทาย เฉินพาหลี่มาที่ CASS เพื่อเริ่มต้นทำงานโครงการของพวกเขา หลี่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันและจำเป็นต้องยุติการเรียนของเขาไว้ชั่วคราว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ยินยอมให้พักการเรียนไว้ก่อน

ช่วงแรกหลี่ทำความเข้าใจและพยายามสืบค้นที่มาของกระดูกเสี่ยงทายโดยละเอียดเพื่อจะได้ศึกษาในขั้นต่อไปให้ได้ง่ายมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มศึกษาอักขระบนภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ชาง (Shang Dynasty) ที่มีอายุตั้งแต่ 1,500-1,100 ปี ก่อนคริสตกาล หลี่ทุ่มเทให้กับงานอย่างมาก เข้าไปในงานในส่วนของสถาบันโบราณคดี (Institute of Archaeology) และเขาก็ไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือให้จบอีกเลย

หลายปีผ่านไป การทำงานของหลี่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นในฐานะผู้ช่วยวิจัยของเฉิน และเป็นช่วงที่การศึกษาจีนโบราณกำลังเบ่งบาน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลงกะทันหันใน ค.ศ. 1966 เมื่อเหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) สั่งให้เริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ซึ่งเป็นการโจมตีและทำลาย “การเรียนรู้” ของชาตินานนับสิบปี เฉินได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกโจมตีอย่างรุนแรง เพราะเขาเป็นหนึ่งในนักคิดหัวสมัยใหม่ และเป็นคนที่เติบโตมาก่อนยุคของการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งกล้าที่จะวิจารณ์พรรคในช่วงทศวรรษที่ 1950 และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ไม่นานจากนั้นเฉินได้รับแรงกดดันสูงมากจนตัดสินใจฆ่าตัวตายในปีนั้นเอง

หลี่ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากไม่แพ้กันเพราะเขาถูกบังคับจากสถาบันโบราณคดีให้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ตัวตนของเฉินลงในภาคผนวกของงานวิชาการของเขาเอง หลี่พยายามวิพากษ์วิจารณ์ให้น้อยที่สุดและหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ทางการเมืองที่จะสร้างความเดือดร้อน เช่น “พวกฝ่ายขวา” เรื่องนี้สร้างความปวดใจให้หลี่ไม่น้อยเพราะเฉินเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อเขามาโดยตลอด ศาสตราจารย์ซาราห์กล่าวว่า “นั่นเป็นความล้มเหลวครั้งร้ายแรงในชีวิตของเขา”

การถกเถียงของนักวิชาการโบราณคดี

เมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดไป แวดวงวิชาการโบราณคดีก็ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลี่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศเข้าร่วมการขุดค้นโบราณคดีที่สำคัญที่สุดของจีนในศตวรรษที่ 20 เช่นแหล่งขุดค้นโบราณคดีที่ Shuihudi, Zhangjiashan และโดยเฉพาะที่ Mawangdui เมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ที่ขุดเมื่อ ค.ศ. 1972-1974 ได้พบโบราณวัตถุในสมัยราชวงศ์ฮั่นจำนวนมาก เช่น ชุดผ้าไหม แผนที่บนผืนผ้าไหม และตำราบนผืนผ้าไหม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นักวิชาการในจีนและทั่วโลกได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณของจีน กล่าวคือ ยุคจีนโบราณนั้นไม่ได้ศึกษาจาก “ตำนาน” เพียงแค่อย่างเดียว ในขณะที่อารยธรรมโบราณอื่น ๆ กลับมีหลักฐานส่วนใหญ่มาจากตำนาน ต่างจากอารยธรรมจีนที่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้นานนับพันปี เช่น บันทึก Tao Te Ching ที่มีอายุราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล มีเนื้อหากล่าวถึงธรรมชาติและปรัชญา และบันทึกปกิณกคดี หรือ Analects คัมภีร์ของสำนักปรัชญาขงจื่อที่เหล่าศิษย์รวบรวมจากงานเขียนต่าง ๆ ขึ้นหลังมรณกรรมของขงจื่อ

นักวิชาการมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะบางคนมองอารยธรรมจีนในลักษณะ “เอกภาพ” แต่บางคนก็มองในรูปแบบ “พหุภาพ”  ซึ่งถกเถียงกันว่าจีนเป็น “บ้านหลังเดียว” ใช่หรือไม่ โดยแตกออกเป็นสองสำนักคือ สำนัก yigu มีแนวคิด “สงสัย” (doubting antiquity) ซึ่งตั้งข้อสงสัยถึงหลักฐานชิ้นหนึ่ง ๆ ว่า “จริง” หรือไม่และพยายามหาข้อพิสูจน์หลักฐานเหล่านั้น ขณะที่นักวิชาการอีกฟากฝั่งหนึ่งก็ตั้ง สำนัก xingu มีแนวคิด “เชื่อถือ” (believing in antiquity)

หลี่เห็นว่าตนเองควรมีบทบาทในการปกป้องความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมจีนโบราณจากผู้โจมตีที่ไม่หวังดี หลี่จึงปฏิเสธแนวคิดของสำนัก yigu และสนับสนุนการ “เชื่อ” ในโบราณวัตถุมากกว่า การค้นพบโบราณวัตถุในยุคนั้นจึงเสมือนเป็นการ “สนับสนุน” แนวความคิดเดิม ๆ ตามแนวทางของสำนัก xingu มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการวิพากษ์ในประเด็นใหม่ ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จีน หลี่เคยกล่าวว่า เขาเหมือนเป็นคนที่ว่ายน้ำอยู่ในท่อแห่งการวิจัยจำนวนมากมายจนตกผลึกข้อสรุปได้ประการหนึ่งว่า วัฒนธรรมโบราณที่ยอดเยี่ยมของจีนถูกปรามาสและถูกหยุดยั้งด้วยเหตุผลหลายประการ

หลี่ เซวียฉิน กับพรรคคอมมิวนิสต์

กลางทศวรรษ 1990 รัฐบาลจีนได้ตั้งทีมนักวิชาการกว่า 200 คน โดยให้หลี่เป็นหัวหน้าโครงการนี้ในการพิสูจน์ว่าสามราชวงศ์ก่อนยุคประวัติศาสตร์นั้นมีจริงหรือไม่ ซึ่งประกอบได้ด้วย ราชวงศ์เซี่ย (Xia) ราชวงศ์ชาง (Shang) และราชวงศ์โจว (Zhou) นักวิชาการต่างประเทศให้ความเห็นว่าโครงการนี้คือความพยายามเชิงชาตินิยมของรัฐบาลจีน และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นโครงการที่มีนัยยะทางการเมืองมากกว่าการให้ความสำคัญทางโบราณคดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูประเทศจีนและโอ้อวดชาติพันธุ์นิยม ซึ่งอาจเพิ่มความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลี่โต้แย้งว่าอาจเป็นไปได้ที่สามราชวงศ์เหล่านี้มีอยู่จริง ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าจริงหรือไม่

นักวิชาการชาวตะวันตกเชื่อว่าโครงการทางโบราณคดีเป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม โดยการพูดเรื่องอารยธรรมจีนโบราณเกินความเป็นจริง อีกประเด็นของความขัดแย้งของนักวิชาการสองฝั่งนี้คือขอบเขตของอารยธรรมจีนโบราณ

ในประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของจีนมักจะศึกษาโดยยึดจากปักกิ่งทางเหนือไปจนถึงกวางตุ้งทางตอนใต้และจากแนวชายฝั่งไปจนถึงมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน นักวิชาการตะวันตกบางคนปฏิเสธเรื่องนี้ โดยบอกว่ามันไม่สมเหตุสมผลที่จะนิยามยุคก่อนที่ราชวงศ์ฉินจะรวมประเทศในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราชว่า “จีน”

พวกเขาถกเถียงกันว่า “รัฐ” ที่มีอยู่ก่อนยุคราชวงศ์ฉินควรถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน แต่การค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนในยุคหลังนั้นอย่างน้อยก็ได้สนับสนุนแนวคิดของนักวิชาการการบางกลุ่มที่เชื่อว่ายุคสามราชวงศ์นั้นมีอยู่จริง การสนับสนุนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นมีเหตุผลทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การศึกษาเรื่อง “อำนาจแห่งสวรรค์” ของจักรพรรดิจีนที่ได้รับคำสั่งจากสวรรค์ให้มาปกครองประชาชน

พรรคคอมมิวนิสต์นำแนวคิดนี้มาใช้ทางการเมือง โดยอ้างว่าพรรคก๊กมินตั๋งเป็นพวกคอร์รัปชั่นและทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จึงมีสิทธิชอบธรรมในการปฏิวัติแย่งชิงอำนาจและสมควรที่จะได้ปกครองจีนตาม “อำนาจแห่งสวรรค์” นี้นั่นเอง

แผ่นปิดบนกำแพงริมถนนในกรุงปักกิ่งช่วงปลายปี 1956 แสดงภาพการจัดการกับ “ศัตรูประชาชน” ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งเริ่มขึ้นราวเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน AFP PHOTO / JEAN VINCENT

หลี่มีส่วนร่วมอย่างมากในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ในทศวรรษที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 2008 มหาวิทยาลัยชิงหวาได้รับมอบจารึกบนคัมภีร์ไม้ไผ่โบราณที่เพิ่งขุดค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งจารึกเกี่ยวกับงานวรรณกรรมคลาสสิกของจีนยุคแรก ข้อความที่จารึกบนไม้ไผ่นี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนในยุคนั้นมีความเป็นอิสระและเสรีภาพมากกว่าที่ได้รับการ “สนับสนุน” โดยพรรคคอมมิวนิสต์เสียอีก

หลี่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักประวัติศาสตร์จีนที่สำคัญที่สุดแห่งยุค นักวิชาการชาวจีนจำนวนหนึ่งบอกเขาว่าหลี่มีความสามารถที่หาได้ยากในการทำวิจัยอย่างยอดเยี่ยม ในขณะที่หลี่สร้างความพึงพอใจให้กับพรรคคอมมิวนิสต์อีกทางหนึ่งเช่นกัน หลี่มีงานเขียนที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ไปทั่วโลก เช่น Eastern Zhou and Qin Civilizations, The Wonder of Chinese Bronzes, Chinese Bronzes: a General Introduction และ The Glorious Traditions of Chinese Bronzes เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานที่ผ่านการวิจัยและค้นคว้าอย่างละเอียดและเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการ

แม้เขาจะมีภาพลักษณ์เป็นคนที่ช่วยรัฐบาลจีน “โปรโมท” ชาติ แต่ในแง่ของนักวิชาการด้านหนึ่งแล้ว เขาเป็นคนพัฒนาและส่งเสริมโบราณคดีของประเทศจีน และผลงานของเขาก็ช่วยให้นักวิชาการยุคหลังศึกษาประวัติศาสตร์จีนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 


Ian Johnson.  (2016).  A Revolutionary Discovery in China, from www.chinafile.com

________.  (2018).  Li Xueqin, Key Historian in China’s Embrace of Antiquity, Dies at 85, from www.nytimes.com