รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ลัทธิชาตินิยมลบภาพ “ลาวล้านนา” ผ่านการศึกษา

ตลาด ใน ล้านนา แม่ค้า ผู้หญิง
ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม

รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ลัทธิชาตินิยมลบภาพ “ลาวล้านนา” ผ่าน “การศึกษา”

การล่าอาณานิคมเริ่มคืบคลานเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยชาติมหาอำนาจตะวันตกมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่เว้นแม้แต่การครอบงำทางวัฒนธรรม เนื่องมาจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดการปฏิวัติอุตสหกรรมในยุโรป ส่งผลให้ระบบการค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบอุตสาหกรรมเจริญขึ้นตามลำดับ ทำให้เกิดการแข่งขันในการหาทรัพยากร แหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนฐานการผลิต ทำให้รัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกเปลี่ยนสถานะจากเดิมเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางการค้าได้กลายมาเป็นดินแดนใต้อาณานิคม

การที่ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงสยามต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ทำให้ชนชั้นปกครองตระหนักถึงความมั่นคงของชาติเล็งเห็นถึงภัยที่จะเกิดขึ้น การป้องกันปัญหาที่พึงจะเกิดในอนาคตเพื่อรักษาบ้านเมืองถือเป็นวาระสำคัญ

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนประเทศราชอย่าง “ล้านนา” หรือ “ลาวล้านนา” ให้เป็นส่วนหนึ่งของสยาม ก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยผดุงความมั่นคงของประเทศไว้ พระองค์ทรงวางแผนริเริ่มและใช้เวลาเตรียมการนานหลายปีจนในที่สุดก็สามารถรวมล้านนามาอยู่ใต้อาณัติได้สำเร็จ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้จะเป็นที่แน่ใจแล้วว่า “ล้านนา” ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ก็มีปัญหาใหม่ตามมาสืบมาจากรัชกาลที่ 5 ที่สยามเข้าไปปกครองมณฑลพายัพตั้งแต่ทศวรรษที่ 2420 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง ทั้งส่งคนไปรับราชการ ดูแลการเก็บภาษี วางระบบการสื่อสารและคมนาคม การค่อยๆ แทรกแซงภายในเป็นการสลายอำนาจเดิมหรืออำนาจท้องถิ่นลงไป ส่งผลให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐที่สำคัญ คือ ความรู้สึกแบ่งแยกกับสยาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงใช้ลัทธิชาตินิยมแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านทางการศึกษา

มีการตราพระราชบัญญัติด้วยกัน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เมื่อกระทรวงธรรมการพิมพ์แบบเรียนชั้นข้อมูลการศึกษาเสร็จแล้ว ได้มีการบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร

ในมณฑลพายัพมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลเพิ่มขึ้น ประกอบกับการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาทำให้เด็กเข้าโรงเรียนมากขึ้นและถูกบังคับให้ใช้ภาษาไทยกลาง โดยในหลักสูตรการเรียนการสอนหลักๆ ดังนี้ มีวิชาภาษาไทย ให้เด็กหัดอ่านหัดเขียน วิชาจรรยาสอนให้เกิดความภูมิใจในชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ วิชาภูมิศาสตร์และพงศาวดารสอนให้รู้ว่าสยามเกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ อย่างไร เรื่องแว่นแคว้นราชธานี การเสียกรุงศรีอยุธยา การตั้งกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรักในชาติ

ในส่วนการปลูกฝังเรื่องความเป็นรัฐชาติร่วมกันนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญมาก หนังสือพงศาวดารสยามและภูมิศาสตร์ประเทศสยามทรงแก้ไขตรวจทานด้วยพระองค์เองก่อนจะตีพิมพ์ หลังจากที่ หลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ แต่งเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ในโรงเรียนยังจัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือ สวดคำนมัสการและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งกระทรวงธรรมการยังให้มีการประดับพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และธงชาติประจำโรงเรียนอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองและสำนึกในความเป็นชาติร่วมกัน

จะเห็นได้ว่าลัทธิชาตินิยมที่พยายามจะลบล้างคำว่า “ลาว” ออกไป ได้แทรกอยู่บนหน้าหนังสือแบบเรียนดังจะยกมาบางตอน ดังนี้

หนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยาม  “…ชาติลาว เดี๋ยวนี้เรียกว่า ละว้า หรือ ลวะ คือตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดจนลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือและตะวันออก เช่น มณฑลพายับ นครราชสีมา อุบล อุดร ร้อยเอ็ด…พวกละว้านี้มีเชื้อสายสืบมาจากพวกขอมโบราณเหมือนกัน ส่วนชนที่เราเรียกกันว่าลาวในบัดนี้  และมีอยู่ในมณฑลพายับ มหาราษฎร์ อุบล อุดร ตลอดจนฝั่งแม่น้ำโขงนั้น หาใช่ลาวเดิมคือพวกละว้าไม่ เป็นพวกไทยหรือเรียกว่าลาว-ไทย เป็นชนที่ได้บ่าลงมาอยู่ในตอนหลัง

ชาติไทย หรือลาว-ไทยนั้น ทุกวันนี้มีหลายพวกและเรียกชื่อต่างกัน เช่น ไทย โท ผู้ไท ชาน เฉียง เงี้ยว ลื้อ เขิน ญวน พวน กาว แกว ฯลฯ ชนเหล่านี้ทุกพวกล้วนพูดภาษาไทย และมีเรื่องราวรู้ได้ว่าเป็นไทยทั้งสิ้น…”

หนังสือบุรพประเทศตอนประเทศสยามภาค 1 “…พวกลาว (ละว้าหรือลวะ) ในสมัยปรัตยุบันนี้ยังมีอยู่ตามป่าและภูเขาในมณฑลฝ่ายเหนือเป็นอันมาก มีภาษาพูดต่างหากคล้ายภาษาเขมรส่วนชนชาติที่เรามักเรียกกันว่าลาว ซึ่งอยู่ในมณฑลพายับ อุดร…หาใช่ลาวเดิมคือพวกละว้าไม่ เปนพวกไทยเรานี่เองที่ได้ลงมาอยู่ตอนหลัง”

หนังสือแบบเรียนประวัติการของไทย (ประถม 4) “…ส่วนพวกลวะละว้าเป็นพวกลาวเดิม เดี๋ยวนี้อยู่ตามป่าตามเขาในมณฑลที่เป็นลาวเดิม ส่วนไทยนั้นมีหลายพวกคือ ไท ไทย ผู้ไทย พวน ฉาน เฉียง เงี้ยว ลื้อ เขิน เหล่านี้ล้วนแต่พูดภาษาไทยทั้งนั้น จึงนับได้ว่าเป็นพวกไทย ชาวไทยในมณฑลพายับ อุดร…ก็เป็นพวกไทยที่สืบเนื่องมาแต่ตอนเหนือด้วยกันทั้งนั้น…”

จากการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือลบคำว่า “ลาว” ออกไปของส่วนกลางทำให้คนพื้นเมืองเกิดความรู้สึกสำนึกร่วมในความเป็นชาติไทยด้วยกัน เป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงไปในทางดี เห็นผลประจักษ์ราวต้นทศวรรษที่ 2470 ปรากฏในรายงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ความว่า

“…สำหรับคนพื้นเมืองชั้นใหม่ที่ได้เข้าโรงเรียน…ได้รับความฝึกฝนให้อ่านและเขียนหนังสือ และพูดภาษาไทยธรรมดาได้…พวกเหล่านี้เมื่อสามารถเขียนอ่านหนังสือและพูดภาษาไทยธรรมดาแล้วก็ดูนิยมที่จะใช้ความรู้ใหม่มากกว่าที่จะพูดจาตามเสียงพื้นเมืองที่เคยมาแต่เดิม และรู้สึกว่าสนิทสนมยิ่งขึ้นด้วย…”

รายงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ใน พ.ศ. 2472 ก็สามารถยืนยันได้อีกทางหนึ่ง ดังนี้ “…ป้ายบอกถนนหนทางและสถานที่ราชการที่เคยมีหนังสือไทยเมืองควบนั้น หากละเลิกเสียก็เชื่อว่าจะไม่มีขัดข้องอย่างใดเลย…”

โดยปกติทั่วไปแล้วอุดมการณ์ชาตินิยมมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และลักษณะเฉพาะของชาตินั้นๆ การใช้อุดมการณ์ชาตินิยมนี้ช่วยให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมีเสถียรภาพในการปกครอง สร้างความสามัคคีปรองดองให้บังเกิดแก่คนในชาติ ทำให้เมืองสงบเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำลายขนบดั้งเดิมคือการกลืนให้กลายเป็นไทยเสมอกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. สำนักพิมพ์มติชน, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2562