“พระบฏ” : พุทธศิลป์เพื่อพุทธบูชา

พระบฏปางประทานอภัย

สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏวัตถุธรรมในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยหนึ่งในงานจิตรกรรมที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าและแสดงถึงความวิจิตรของทัศนศิลป์ของชาวไทยคือพระบฏ

คำว่าบฏมีที่มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่าวว่า ปะตะ) ซึ่งหมายถึงผ้าทอหรือผืนผ้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน .. 2554 ให้ความหมายคำว่า พระบฏ ไว้ว่าผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชาส่วนพจนานุกรม ฉบับมติชน ให้ความหมายว่าภาพเขียนบนแผ่นผ้าสำหรับแขวนบูชา เป็นภาพพระพุทธรูป รอยพระบาท หรือเวสสันดรชาดก

โดยพระบฏอาจมีที่มาจากตำนานพระพุทธฉายเรื่องที่พระเจ้าอชาตศัตรูทูลขอพระฉายจากพระพุทธเจ้าเพื่อนำมาสักการะบูชา พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระพุทธฉายประทับอยู่บนผ้าผืนหนึ่ง และระบายด้วยสีต่าง

พระบฏในประเทศไทย

สันนิษฐานว่าพระบฏเป็นคติในนิกายมหายานและแพร่จากอินเดียสู่จีนและญี่ปุ่น สำหรับในไทยนั้นมีหลักฐานปรากฏในจารึกสุโขทัย หลักที่ 106 (วัดช้างล้อม) ปี .. 1827 ระบุว่า

“…จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวรใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งศรีมหาโพธิอันเป็นจอมบุญจอมศรียอพระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ 14 ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จพระมหาธรรมราชา…”

ซึ่งคำว่าพระบดจีนนี้อาจสามารถสันนิษฐานว่าพระบฏในไทยได้รับอิทธิพลมาจากจีนทอดหนึ่ง หรืออาจเป็นรูปแบบหนึ่งของพระบฏในไทยก็ได้ โดยการทำผ้าพระบฏถวายวัดนั้นเพื่อบูชาพุทธศาสนาประการหนึ่ง และอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับประการหนึ่ง

พระบฏกรุวัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ คือพระบฏที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

สำหรับพระบฏที่เก่าแก่ที่สุดในพระเทศไทยนั้นคือพระบฏในกรุวัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระบฏภาพพระพุทธเจ้าลีลา พร้อมด้วยพระอัคราสาวกเบื้องซ้ายและขวา เขียนด้วยสีฝุ่นผิดทองคำเปลว ยาว 3.4 เมตร กว้าง 1.8 เมตร คาดว่าน่าจะมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 22

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แสดงทัศนะว่าภาพเขียนนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศิลป์แบบลังกาอย่างชัดเจน แต่ไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัยหรือล้านนา แต่ก็มีอักขระภาษาไทยเหนือเขียนไว้บนพระบฏด้วย

นอกจากจะปรากฏพระบฏในเมืองเหนือแล้ว ภาคใต้ก็มีการกล่าวถึงพระบฏด้วยเช่นกัน คืองานแห่พระบฏในประเพณีห่มผ้าขึ้นธาตุ” ที่เมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงในภาคอีสานก็มีการทำผ้าพระเวสหรือผ้าผะเหวดซึ่งนิยมเขียนภาพชนพระบฏด้วยเวสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์

จิตรกรรมบนพระบฏ

พระบฏมีพัฒนาการด้านทัศนศิลป์มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ซึ่งสังเกตได้จากรูปแบบของลวดลายบนพระบฏ กล่าวคือ ลวดลายยุคก่อนมักเน้นที่การเขียนรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนตรงกลางเพียงองค์เดียว จากนั้นก็พัฒนาเพิ่มรายละเอียดต่าง มากขึ้น สามารถจำแนกพระบฏเป็น 5 แบบ ดังนี้

แบบที่หนึ่งเขียนภาพเต็มพระบฏ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน หรือประทับยืนในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวา

แบบที่สองแบ่งพระบฏเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน หรือประทับยืนในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวา ส่วนที่สองจะเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ

แบบที่สามแบ่งพระบฏเป็นสามส่วน ส่วนตรงกลางจะเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน หรือประทับยืนในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวา ส่วนด้านบนและด้านล่างจะเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ

แบบที่สี่เขียนภาพเต็มพระบฏ เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย ทศชาติ รอยพระพุทธบาท ฯลฯ

แบบที่ห้าทั้งสี่แบบก่อนหน้านี้จะเป็นผ้าผืนยาว แต่แบบที่ห้านี้มีสัดส่วนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือเกือบจะเป็นเหลี่ยมจัตุรัส เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และที่นิยมกันมากคือเวสสันดรชาดก

พระบฏเขียนลวดลายเรื่อง เวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี

นอกจากรูปแบบของพระบฏแล้ว วัสดุในการวาดเขียนพระบฏก็มีพัฒนาการมาโดยตลอดเช่นกัน นั้นคือสีในยุคแรก จะใช้สีฝุ่น ที่มาจากแร่ หิน โลหะ มาใช้ในการเขียนลวดลาย ซึ่งมีเพียงไม่กี่สีเท่านั้น คือ สีดำจากเขม่า สีขาวจากฝุ่นขาว สีแดงจากดินแดง สีเหลืองจากดินเหลือง

เมื่อวิทยาการของมนุษย์เจริญการหน้ามากขึ้นก็ได้มีการพัฒนาสีอื่น ขึ้นมาใช้อีก เช่น สีรงค์จากยางไม้รงค์ สีเหลืองหรดาลได้จากแร่หรดาล สีเหลืองจากตะกั่ว สีแดงชาด สีแดงลิ้นจี่ สีขาวจากออกไซด์ของตะกั่ว เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 สีฝุ่นเริ่มหายากช่างจิตรกรจึงนิยมหันไปใช้สีผสมจากต่างประเทศมากขึ้น มีสีสำเร็จรูปส่งมาจากต่างประเทศ เช่น สีเขียวตั้งแชจากเมืองจีน สีเขียวชินศรีจากตะวันตก และสีเขียวจากหินขี้นกการะเวก

พระบฏจึงไม่เพียงแต่เป็นวัตถุธรรมเนื่องในพุทธศาสนาที่สะท้อนสัญลักษณ์ถึงพระพุทธเจ้าแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พระบฏก็ยังเป็นงานทัศนศิลป์จิตรกรรมที่วิจิตรงดงามอย่างมาก เป็นพุทธศิลป์ที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติ

 


บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. (2508). สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แพร่การช่าง. ฉบับออนไลน์ จาก หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

มติชน. (2547). พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน .. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์

จารุณี อินเฉิดฉาย. (2548, มกราคม-มิถุนายน). พระบฏในประเทศไทย. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. 6(12): 29-41.

________.  (2545, 4 ตุลาคม-ธันวาคม). พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า. เมืองโบราณ. 28(4): 51-60.

น้ำดอกไม้. (2545, กรกฎาคม). พระบฏ. กินรี. 19(7).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562