ลูกหลานกรมพระยานริศฯ อธิบาย ทําไมต้องเซ่นไหว้วันตรุษจีน แม้ไม่ได้เป็นเจ๊ก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดา ที่เมืองปีนัง พ.ศ. 2480

วังท่าพระตั้งโต๊ะเซ่นตรุษจีน กรมพระยานริศฯ รับสั่ง “อย่าอายที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อสายของเจ๊กจีน”

บทความนี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของข้อเขียน “ป้าป้อนหลาน” หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้บันทึก พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระชันษาครบ 90 ปี ของหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกตอนที่นำมาเสนอนี้มีชื่อตอนว่า “เรื่องเซ่นตรุษจีน” และเพื่อให้สะดวกในการอ่านจึงได้จัดวรรคย่อหน้าใหม่


 

จักร (จักรรถ) [หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์] ถามว่า

“ป้าจ๋า ทำไมเราจึงได้เซ่นในวันตรุษจีนกับเขาด้วย ในเมื่อเราก็ไม่ได้เป็นเจ๊กสักหน่อย”

ตั้งแต่ป้า [หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์] จำความได้ก็เคยตั้งเครื่องเซ่นในวันตรุษจีนตลอดมา แต่ก่อนเมื่อยังอยู่วังท่าพระ เซ่นกันที่ท้องพระโรง เชิญพระอัฐิออกมาตั้งในพระแท่นทอง มีพระโกศอัฐิเสด็จทวดพระองค์เจ้าพรรณรายและเสด็จย่าเจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยาเป็นประธาน แวดล้อมด้วยอัฐิญาติในครอบครัวตั้งลดหลั่นกันบนม้าทองสูงต่ำตามฐานะ ชั้นล่างสุดด้านหน้าตั้งเครื่องบูชา ขวดดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป เครื่องบูชาในงานนี้มีของที่พิเศษกว่างานอื่น คือมีช่อที่ทำด้วยกระดาษทองอังกฤษฉลุลายเป็นดอกไม้ ซึ่งเรียกว่า “กิมฮวย อุ้งติ้ว” ตั้งเตรียมไว้ถวายด้วย

พระแท่นนั้นหลานคงยังจำได้ว่าเคยตั้งอยู่ชิดเสากลางสกัดด้านตะวันตก หน้าพระแท่นบนเตียงลาที่ตั้งเทียบกันอยู่นั้นปูผ้าขาว ตั้งเครื่องเซ่นส่วนของเสด็จปู่ ซึ่งเขาใช้คำเรียกกันว่า “ของหลวง” บ้าง “ของกงสี” บ้าง เป็นของเครื่องเซ่นตามธรรมเนียมนิยมของจีน มีเหล้าข้าว หมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ต้มทั้งชิ้นทั้งตัว ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ขนมเทียน เป็นต้น แล้วยังมีกับข้าวไทยที่ต้องทำเป็นประจำอีกบางอย่าง เช่น แกงร้อน ผัดถั่วงอก ปลาแป้นทอด ผักเสี้ยนดอง ผัดหอยกะพง ป้าเคยตั้งปัญหาถามคุณย่าว่าทำไมเครื่องเซ่นจึงต้องเป็นกับข้าวอย่างนั้น คุณย่าอธิบายว่าเพราะเป็นของที่พระองค์นั้นเคยโปรด ท่านผู้นี้เคยชอบ จึงทำเซ่นเป็นประจำด้วยความระลึกถึง เลยกลายเป็นธรรมเนียมสืบมา

ข้างพระแท่นมีโต๊ะไม้แบบฝรั่ง ตั้งเครื่องกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับเผา พับม้วนเป็นรูปต่างๆ ซึ่งสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น หมายว่าเป็นเงินแท่ง ทองแท่ง หรือเป็นของใช้อื่น เช่น เป็นพานทอง ส่วนกระดาษสีรูปต่าง ๆ นั้นแทนเสื้อผ้าแพรพรรณ จัดใส่โต๊ะเงินไว้ 2-3 โต๊ะ พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์ เช่น ประทัด

ที่กลางท้องพระโรง ตั้งเตียงอาสนสงฆ์ต่อกัน 2 ตัวบ้าง 3 ตัวบ้าง แล้วแต่ที่ซึ่งจะจัดเรียงรายได้งาม เว้นช่องให้เดินได้รอบตัว คลุมผ้าขาวเหมือนตั้งโต๊ะเลี้ยงอาหาร บนโต๊ะเหล่านั้นตั้งอาหารที่บรรดาพระญาติและข้าเก่าจัด มาร่วมเช่นบางคนก็จัดเป็นสำรับคาวหวานตามแบบโบราณมา บางคนก็จัดเป็นจานเปลใหญ่ จำพวกอาหารจีน อาหารฝรั่งเป็นต้น ตกแต่งประดิษฐ์ประดอยงดงาม ค่อนข้างจะประกวดประขันกันจนดูจะกลายเป็นงานประกวดฝีมือทำอาหารกลาย ๆ มีป้ายชื่อเจ้าของเขียนใส่ก๊าดมีลวดขดเสียบบนฐานไม้เล็ก ๆ พอรับน้ำหนักได้คีบไว้ ตั้งกำกับประจำที่ให้รู้ว่าเป็นของใคร ๆ พอเสด็จลงมาก่อนเริ่มพิธีเซ่นมักจะทรงพระดำเนินไปรอบ ๆ ทอดพระเนตร อาหารที่จัดกันมาก่อนและตรัสทักถามไปด้วย เช่นทรงเห็นอาหารจานใดมีลักษณะแปลกตา

อาหารใดที่เจ้าของเคยมีชื่อเสียงว่าสามารถ เจ้าของก็ต้องทูลอธิบายถึงเครื่องปรุงหรือวิธีทำได้ดีเลิศ ก็จะทรงทายโดยไม่ต้องทอดพระเนตรป้ายชื่อว่านี่คงเป็นของผู้นั้น ทำให้เจ้าของปลื้มปีติเป็นกำลังเป็นต้น ส่วนลูก ๆ ก็มีของส่วนตัวกันทุกคนตั้งไว้โดยเฉพาะโต๊ะหนึ่ง คุณย่าฉวยโอกาสสอนลูกให้สนใจในเรื่องการครัว จึงให้เลือกรายการอาหารที่จะทำด้วยตนเองมาแต่เล็ก ป้ามีความเสียใจที่จะขอสารภาพว่าแทนที่จะเลือกทำของที่ปู่ย่าตายายชอบตามที่เขาเสนอรายการให้ เราก็มักจะเลือกทำของที่เราชอบกินเอง หรืออย่างดีก็ต่างชอบด้วยกัน จึงมักจะเป็นของว่าง เช่น ขนมปั้นสิบ สาคูไส้หมู แซนวิช ฯลฯ ตามประสา คนไม่ชอบกินข้าว

คุณย่าก็ตามใจ และแนะนำให้ช่วยทำด้วยเพื่อปู่ย่าตายายจะได้ปลื้มใจ การช่วยนั้นถึงจะมีเล่นแกมบ้างก็ไม่ว่า เป็นต้นว่าช่วยปั้นขนม เมื่อปั้นตามตัวอย่างไปจนได้คำรับรองว่าใช้ได้แล้ว จะแผลงปั้นเป็นรูปอื่น ๆ แทน เช่นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ต่อปีกให้เป็นนก หรือเติมเขาให้เป็นหัวควาย หรือจะเปลี่ยนขนาดเสียใหม่ให้เล็กลงสองเท่า ใหญ่ขึ้นห้าเท่าบ้าง คุณย่าก็ไม่ว่า

เวลาใส่จานยังให้จัดเอาไว้ยอด ๆ ให้ดูเด่นมาก ๆ ไม่ยอมให้เขาจัดซุกซ่อนเสียเด็ดขาด คล้ายกับว่าไม่ได้สังเกตเห็นว่ามันบิดเบี้ยวเลย หรือบางทีถ้าอยากจะทำเซ่นเองทั้งหมดด้วยเครื่องครัวส่วนตัวที่คุณย่าจัดหาไว้ให้เล่น “หุงข้าวต้มแกง” เพื่อทำอาหารที่ตัวเองชอบและสามารถทำได้ เช่น ไข่เจียว หมูทอด แกงบะช่อ หรือขนมครกไข่ ก็มีเสรีที่จะทำได้ ทำแล้วจัดใส่จานเปลหรือโถแกง ของส่วนตัวที่สำหรับเล่น “เลี้ยงโต๊ะ” ซึ่งเหมือนของจริงทุกอย่างแต่มีขนาดเท่าฝ่ามือตัวเองยกไปตั้งเซ่นเอง วางเคียงกับของที่คุณย่าจัดทำให้ในนามอย่างภาคภูมิ ด้วยหรูหรากว่าคนอื่นที่มีถึง 2 อย่าง ทั้งทำเองเสียด้วย

เวลาเสด็จปู่เสด็จไปทอดพระเนตรก็จะทรงพินิจพิจารณาแล้วตรัสทักว่า “นี่ทำเองซิ” และชมว่า “ดีนี่” หรือ “เก่งจริง” ก็ทำให้คนทำดีใจหน้าบานเป็นใบบัว แม้บางทีจะถูกติว่า “ทำไมหน้าตามันมอมแมมนัก” หรือ “อ้าวไหม้นี่” ก็มิได้ทำให้ท้อถอย แต่กลับหมายมั่นใจว่าปีหน้าจะทำให้ดีกว่านี้

เรื่องตั้งเครื่องเซ่นนี้เกิดมีเหตุที่ทำให้มีธรรมเนียมว่า ลูกหลานเกิดมาจะต้องจัดเครื่องเซ่นให้ทันทีขึ้น คือเมื่อพ่อเกิดอายุครบขวบแรกคุณย่าก็ยังไม่ได้จัดให้ ถือว่ายังไม่ทันรู้เดียงสายังไม่ต้องก็ได้ พอถึงเวลาเซ่นพ่อเกิดร้องให้ใหญ่หาสาเหตุไม่พบว่า ร้องไห้ทำไมจนหน้าเขียว มีคนเอ่ยขึ้นว่าก็ไม่ทำเครื่องเซ่นถวายท่านนี้ พี่เลี้ยงคนหนึ่งจึงวิ่งไปจัดการเจียวไข่ขึ้นจานหนึ่ง หยิบขนมตามมีตามได้ใส่จานมาอีกสิ่งหนึ่งมาตั้งเข้า เขียนป้าย “ท่านชายงั่ว” ปักไว้ พ่อก็หยุดร้องให้เป็นปลิดทิ้ง หัวเราะเล่นได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนทั้งหลายยายแก่ยายเฒ่าก็เลยฮือฮากระซิบกระซาบกันใหญ่ เลยเป็นธรรมเนียม หลาน ๆ ที่เกิดมาทีหลัง พ่อแม่รีบทำของเซ่นแทนให้ตั้งแต่ปีแรกเสมอ

เมื่อทอดพระเนตรทั่วแล้วก็ทรงจุดธูปเทียนบูชาทรงติดกิมฮวยอั้งติวประดับไว้ที่พระแท่น แล้วจุดธูปดอกเล็ก ๆ ปักไว้ตามอาหารต่าง ๆ ผู้อื่นก็พร้อมกันจุดธูปเทียนบูชา ปักที่ราวเทียนและกระถางธูป ซึ่งจัดตั้งไว้ที่เฉลียงหน้าท้องพระโรง และจุดธูปปักที่จานอาหารของตนเช่นเดียวกัน แล้วเสด็จปู่จะทรงยกโต๊ะเงินใส่เครื่องกระดาษที่มหาดเล็กส่งถวายชูขึ้นบูชาแล้วจ่อเทียนชนวนจุดที่กระดาษ เราก็วิ่งเกรียวตามไปช่วยกันเผากระดาษเหล่านั้น ที่ชาลาหน้าสวนไม่เอื้อ ซึ่งเขาเตรียมปูแผ่นสังกะสีไว้กันพื้นชาลาเกรียมและวางปีบสำหรับใส่ประทัดเวลาจุดกันมิได้กระเด็นขึ้นสูงหรือไปตกไกลจนอาจเกิดไฟไหม้ได้

ป้าเคยตั้งปัญหา ถามผู้ใหญ่ว่าทำไมไหว้เจ้าต้องจุดประทัด ได้รับคำอธิบายว่าเพื่อให้ได้ยินไปถึงเง็กเซียนฮ่องเต้บนเมืองสวรรค์และญาติในเมืองผี ผีสางเทวดาจะได้รู้ตัวว่าลูกหลานเชิญมารับเลี้ยง ป้าจึงได้รับรู้ว่าประทัดคือเครื่องวิทยุ โทรเลข หรือโทรศัพท์ ที่ใช้สำหรับสื่อสารกันในสมัยโบราณกาเลนั่นเอง จะได้ยินถึงเมืองผีจริงหรือไม่ ไม่ปรากฏ แต่ได้ยินถึงพวกเล่นสิงโตแน่ พอจุดประทัดพวกเชิดสิงโตก็พากันมาทันที บางคณะเป็นจีนที่ฝึกหัดมา มีฝีมือจริง ๆ ก็ดูสนุก เพราะเต้นสวยงามดี บางทีเล่นกายกรรมต่อตัวกัน 3-4 คนขึ้นไปเชิดเพื่อไปเอาเงินรางวัลที่คนแกล้งขึ้นไปแขวนไว้สูง ๆ เช่นบนต้นไม้ ฯลฯ หากคนดูใจป่ายอมให้เงินมาก ๆ ถึง 8 บาท ถึง 10 บาท หรือบางคณะก็มีมากันสองตัวเต้นทำท่าวิวาทกัน เล้าโลมกันน่าเอ็นดู เหมือนมีชีวิตจริง ๆ

แต่ถ้าเป็นพวกเด็กที่เชิดเพื่อขอทาน ก็เป็นการก่อความรำคาญมากด้วยไม่น่าดูอะไร ซ้ำแกล้งตีกลองฉาบให้ดังหนวกหูมาก ๆ จะได้รีบให้เงินเพื่อให้ไปเสียพ้น ๆ บางทีมาถึงวิวาทด่าทอแย่งสตางค์กัน ภายหลังต้องมีกฎหมายบังคับให้ขออนุญาตพิเศษ ทั้งการเล่นสิงโตและจุดประทัด เพราะเกิดตีกันและเพลิงไหม้บ่อย ๆ ในเทศกาลตรุษจีน

เสด็จปู่ [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์] จึงโปรดให้งดจุดประทัดเสียเลย เพราะไม่โปรดการรบกวนผู้อื่นหรือฝืนกฎหมายโดยไม่จำเป็น ส่วนวิธีส่งบัตรเชิญนั้น ท่านคงเปลี่ยนเป็นแบบไทย ๆ คือส่งด้วยพลังจิตหลังจากนั้นจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงหน้าท้องพระโรงริมบันได ผู้ที่มาเซ่นก็นั่งเฝ้ากันตามขั้นบันได บางคนทูลลาออกไปจากวังแล้ว แต่งงานมีบ้านมีช่องเป็นฝั่งฝา หรือไปมีอาชีพที่อื่น แม้จนไปอยู่หัวบ้านหัวเมือง ถ้ามีโอกาสก็จะมากันในวันนั้น ได้เฝ้าแหน ได้พบพวกพ้องเก่าแก่พร้อมกัน เสด็จปู่ทรงแจกเงินเหรียญบาทห่อกระดาษแดงแก่ผู้มาเช่นทุกคน ลูกหลานที่มาดด้วยได้คนละสองสลึง แล้วยังมีเศษสตางค์โปรยกราวให้เก็บอีกบ้างในบางปีที่มีเด็กมาก จึงสนุกที่สุด

พอธูปหมดดอกก็ต่างช่วยกันเก็บ ใครมีธุระก็รีบขนของกลับไป ใครว่างก็ไถลอยู่คุยกัน แจกจ่ายอาหารแลกเปลี่ยนกันไปชิม เป็นที่ครึกครื้น เราจึงไม่ค่อยเบื่อพิธีเซ่นตรุษจีนกันเลย กลับชอบด้วยซ้ำ เหมือนเป็นการเล่นตรุษอีกแบบหนึ่ง ภายหลังเมื่อมาอยู่คลองเตยแล้วก็ยังยกกองกันไปเช่นที่วังท่าพระเช่นเคย แต่ในระยะหลัง ๆ นี้ร่วงโรยลงด้วยคนเก่าแก่ต่างก็ล้มตายกันไปเกือบหมดแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา ประทับพระเก้าอี้ในสวนด้านหลังตำหนัก

วันตรุษจีนปีหนึ่ง ท่านลุงเจริญใจ [หม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์] ซึ่งจากบ้านไปเรียนวิชาวิศวกรรมอยู่ที่ประเทศอังกฤษเสียแต่เด็ก ๆ เป็นเวลาถึง 12 ปีกว่า กลับมาอยู่บ้านแล้ว แต่ต้องออกไปทำราชการเรื่องตัดถนนหนทางอยู่ตามหัวเมืองเสียโดยมาก ด้วยท่านทำงานอยู่กรมรถไฟแผนกทางหลวงแผ่นดิน จึงไม่ค่อยรู้เรื่องพิธีรีตอง หรือความเป็นไปของทางบ้าน ปีนั้นท่านอยู่ เราจึงชวนท่านไปด้วยกัน ท่านร้องยี้เซ่นผีไหว้เจ้าบ้าบออะไรกันก็ไม่รู้ไม่เล่นด้วยดอก ไม่ไปละ ป้าพยายามชักชวนเหนี่ยวรั้งเท่าไรท่านก็ไม่ยอมไป

ใกล้จะถึงเวลาเซ่นเสด็จปู่ก็ตรัสถาม ว่ามาพร้อมกันหรือยัง อ้าวพี่ชายไปไหนเสียล่ะ ป้ากำลังเห่อพี่ชายกลัวจะถูกกริ้ว จึงช่วยทูลแบ่งเบาให้ว่าไม่ได้มาติดธุระอะไรไม่ทราบ แต่เสด็จปู่นั้นป้าไม่เคยปิดบังอำพรางอะไรท่านได้เลย ท่านทรงมองหน้าแวบเดียวก็เห็นทะลุไปถึงก้นบึงของหัวใจ จึงทรงนิ่งอึ้งไม่ตรัสอะไรเลยอยู่ครู่ใหญ่แล้วจึงตรัสว่า ลูก ๆ มานั่งใกล้ ๆ พ่อกันนี่แน่ะ จะเล่าอะไรให้ฟัง แล้วท่านก็ทรงเล่าว่า

มีเจ๊กคนหนึ่งชื่อก๊วง แซ่จิ๋ว เดินทางมาจากเมืองจีน เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภาร ตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย อยู่แพซึ่งจอดอยู่แถววัดกัลยาณ์ และเดินทางค้าขายด้วยเรือสำเภาระหว่างเมืองจีนกับเมืองไทย มีเจ๊กอีกคนหนึ่ง แซ่ลี้ ชื่ออะไรไม่ทราบ มาจากเมืองจีน เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยเหมือนกัน มีเมียไทยและมีลูกด้วยกัน 7 คน จะขอกล่าวถึงเฉพาะบุตรหญิงคนหนึ่งชื่อแตงมาได้กับจีนก๊วง มีลูกด้วยกันเป็นผู้หญิง 3 คน จะขอกล่าวเฉพาะลูกผู้หญิงคนใหญ่ชื่อกิ่ม ได้เป็นหม่อมของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งมีวังตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่ปากคลองตลาด คือที่เป็นโรงเรียนราชินีในปัจจุบันนี้ มีพระธิดาด้วยกันองค์หนึ่ง มีพระนามว่าหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย

ต่อมาหม่อมเจ้าหญิงพรรณรายได้เป็นพระสนมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว และพระโอรสองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ถึงในปัจจุบันนี้ ต่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศสูงขึ้นไป หม่อมเจ้าหญิงพรรณรายได้เป็นพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย คือ เสด็จย่า พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว ได้เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา คือเสด็จป้า และพระองค์เจ้าจิตรเจริญได้ เป็นเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ คือตัวพ่อ

ยายของพ่อท่านเป็นคนมีความกตัญญู เคารพนับถือปู่ย่าตายาย และรักษาระเบียบประเพณี ท่านจึงเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนเสมอมา ท่านปรารภว่าท่านตายแล้ว ปู่ย่าตายายตลอดจนตัวท่านคงจะพากันอดอยากด้วยมีลูกหลานเป็นไทย และเป็นเจ้านายคงอายไม่เซ่นไหว้ให้ พ่อจึงรับปากกับท่านไว้ว่าพ่อจะเซ่นให้ท่าน เพราะฉะนั้นเมื่อท่านตายแล้วพ่อจึงเซ่นไหว้ให้ท่านต่อมาทุกปี จึงอยากจะขอร้องลูก ๆ ว่าอย่าอายที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อสายของเจ๊กจีนเลย ทั้งอย่าอายที่ต้องทำสิ่งคร่ำครึงมงายไร้สาระเพื่อรักษาประเพณี แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ถ้ารักพ่อขอให้รับเป็นธุระทำแทนพ่อต่อไป แล้วสั่งสอนลูกหลานให้ทำต่อไปด้วย

เมื่อพ่อตายแล้ว ลูก ๆ ก็คงจะยากจนลง เพราะเงินเดือนเงินปีอันเป็นรายได้ส่วนใหญ่ที่พ่อได้รับอยู่ทุกวันนี้ ก็จะสูญสิ้นตามตัวพ่อไปด้วย เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทำใหญ่โตเท่าที่พ่อทำอยู่นี้ จะเป็นภาระแก่ตัวลูกทำให้หมดเปลืองโดยใช่เหตุ จงจัดข้าวปลาอาหารแต่ตามสมควร ตั้งบนโต๊ะ จุดธูปเทียนเชิญบรรพบุรุษมากินเท่านั้นก็พอ หรือหากยังเป็นภาระเกินไปอยู่ วันนั้นจะกิน อะไรก็เพียงแต่จัดหรือแบ่งอาหารเท่าที่มีเพียงข้าวสักถ้วย กับสักหน่อยตั้งไว้แล้วอธิษฐาน เชิญปู่ย่าตายายมากินเสียก่อนแล้วตัวเองจึงค่อยกิน เท่านั้นพ่อก็พอใจแล้ว ขอให้ลูกทำให้พ่อเพียงเท่านี้

ท่านตรัสอย่างนี้ ลูก ๆ ที่อยู่ ณ ที่นั้นก็ฟังไปร้องไห้ไปกันหมดทุกคน พระองค์ท่านเองก็ทรงพระกันแสง ตกลงตรุษจีนปีนั้นแสนจะเงียบหงอยไม่สนุกเลย พอกลับมาคลองเตย ป้ากระซิบเล่าให้พี่ชายฟัง ท่านตกใจตาเหลือก ต่อมาถ้าท่านอยู่บ้านก็ไปเซ่นด้วยทุกที ไม่เคยเกอีกเลย

ภายหลังคุณย่ายังไขความให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นว่าคุณทวดกิ่มนั้นท่านเข้าไปอยู่ในวังเลี้ยงเสด็จย่าเสด็จปู่มาแต่แรกประสูติ พี่เลี้ยงนางนมท่านเป็นผู้เลือกสรรญาติของท่านหามาถวาย มิได้ต้องทรงเดือดร้อนเรื่องบริวาร เสด็จออกมาประทับที่วังท่าพระ ท่านก็มาอยู่ด้วย ท่านอยู่บนตำหนักแดงห้องสุดท้ายด้านตะวันตก ถึงตรุษจีนท่านก็ตั้งโต๊ะเครื่องบูชาเครื่องเซ่น ทำพิธีเซ่นไหว้ของท่านไปตามลำพัง เสด็จทวดพระองค์เจ้าพรรณรายไม่เคยเอาพระทัยใส่ยุ่งเกี่ยวเซ่นไหว้นี้ด้วยเลย ท่านพระทัยบุญก็จริง แต่สนพระทัยและทรงศรัทธาเฉพาะการทำบุญอย่างไทย เลในปัจจุบันนี้

เราจึงเซ่นตรุษจีนกันตามพระราชดำรัสของเสด็จปู่ ป้าเป็นผู้มีอาวุโสสูงจึงเป็นหัวหน้า จัดที่บูชาขึ้น ใช้เขียนพระนามและนามญาติทั้งหลายขึ้นตั้งแทนเพราะนำอัฐิไปบรรจุเสียหมดแล้ว อีกประการหนึ่งก็เพื่อความสะดวก เพราะป้าจัดเซ่นกลางแจ้ง เกณฑ์ให้ปู่ย่าตายายได้สนุกสนานทันสมัยเสียบ้าง พี่น้องแต่ละครอบครัวพร้อมใจกันทำอาหารคาวอย่างหนึ่ง หวานอย่างหนึ่ง มาตั้งเซ่นร่วมกันบนโต๊ะที่ป้าจัดไว้ให้ พร้อมกันบูชา

ป้าจัดเครื่องกระดาษสำหรับให้เผากันไว้เล็กน้อย เพื่อให้ครบตามธรรมเนียมและให้หลาน ๆ รู้รสสนุกเหมือนป้าเมื่อเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าได้ผลสมใจ แล้วป้าเป็นคนแจกเงินบาท ห่อกระดาษแดงแทน เสร็จแล้วก็เลี้ยงดูกันด้วยอาหารเหล่านั้นพร้อมพี่พร้อมน้อง ก็สนุกสนานกันพอสมควร แต่เป็นความชุ่มชื่นใจอย่างยิ่งที่มั่นใจว่า หากเสด็จปู่ทรงทราบคงปลื้มพระทัย หวังว่าหลาน ๆ จะเห็นดีด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2563