สืบต้นกำเนิดสำเพ็ง จากศูนย์การค้ายุคแรกสมัยรัตนโกสินทร์ สู่ย่านสีเทา-โสเภณี

สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น

ทุกวันนี้คนที่เคยสัมผัสกับบรรยากาศในกรุงเทพฯ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักย่าน “สำเพ็ง” ย่านการค้าที่เคยถูกเปรียบได้ว่าแทบเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าที่เติบโตมาพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์ กว่าจะเป็น “สำเพ็ง” ในทุกวันนี้ ย่านการค้าที่สำคัญเคยมีนักเลงคนดังประจำถิ่น และเนื่องจากเป็นย่านขึ้นชื่อเรื่องโรงโสเภณี ก็ย่อมมีเกร็ดเคล็ดลับที่คนเก่าคนแก่ซุบซิบกันมา

ต้นกำเนิดของ “สำเพ็ง” เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชดำริให้ข้ามมาสร้างพระนครใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก แต่บริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดให้ย้ายไปอยู่ที่สวนบริเวณวัดสามปลื้ม ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง ซึ่งมีข้อความระบุถึงวัดชื่อ “สามเพ็ง” ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า

“ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…”

เมื่อชาวจีนย้ายมาอยู่ที่บริเวณนี้ บุบผา คุมมานนท์ ผู้เขียนบทความ “‘สำเพ็ง’ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์” บรรยายว่า ด้วยความถนัดในด้านค้าขาย เมื่อตั้งบ้านเรือน จึงเริ่มค้าขายในบ้านที่พักอาศัย บ้านของชาวจีนกลุ่มนี้มีลักษณะกึ่งบ้านที่พักอาศัยกึ่งร้านค้า ถือเป็นวัฒนธรรมของฝั่งตะวันออก หลังจากนั้นจึงเริ่มกลายเป็นย่านการค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ในมุมมองของปิยนาถ บุนนาค ผู้เขียนบทความ “สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร” ยังมองว่า ถือได้ว่าเป็นชุมชนชาวจีนแห่งแรกที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีของไทยเมื่อ พ.ศ. 2325

สำหรับชื่อ “สำเพ็ง” มีหลายข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อนี้ บุบผา เชื่อว่า เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า “สามเพ็ง” ซึ่งเป็นชื่อวัดและชื่อคลองที่อยู่ละแวกนั้น คนจีนในย่านเดียวกันชินกับการออกเสียงสั้น จึงทำให้จาก “สามเพ็ง” กลายเป็น “สำเพ็ง” ในทุกวันนี้

หรืออีกข้อสันนิษฐานเชื่อว่า เพี้ยนมาจาก “สามแผ่น” ที่หมายถึงลักษณะภูมิประเทศของย่านที่มีคลองขวาง 2 คลอง ได้แก่ คลองเหนือวัดสำเพ็ง และคลองวัดสามปลื้ม ทำให้ตัดแผ่นดินเป็นสามตอน หรือสามแผ่น ต่อมาจึงเพี้ยนไปตามสำเนียงคนจีนกลายเป็น “สำเพ็ง” หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า “สามแพร่ง” ที่เป็นลักษณะของภูมิประเทศเช่นกัน

หรืออีกข้อสันนิษฐานว่า มาจากชื่อพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายใบโหระพา เรียกว่า “ลำเพ็ง” ซึ่งพบเห็นมากในบริเวณนี้ ผู้คนจึงเรียกกันว่า “ลำเพ็ง” และเพี้ยนมาเป็น “สำเพ็ง” ในภายหลัง

ไม่ว่าที่มาของชื่อย่านนี้มาจากไหน แต่ต้องยอมรับว่า “สำเพ็ง” เป็นย่านการค้าที่เปลี่ยนแปลงจากท้องที่เปลี่ยวอยู่นอกกำแพงพระนคร พัฒนามาเป็นพื้นที่การค้าที่เจริญรุ่งเรืองจนเป็นสถานที่ยอดนิยมอีกแห่งในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้

หากย้อนกลับไปในสภาพย่านสำเพ็งในอดีต สำเพ็งไม่ได้เป็นแหล่งรวมสินค้าที่หลากหลาย ยังเป็นแหล่งธุรกิจหลายประเภท เช่น รับจ้างปะชุนเสื้อผ้า หรือรับจ้างเขียนหนังสือส่งไปถึงพี่น้องในจีน บุบผา อธิบายว่า เป็น China Town หรือย่านคนจีนแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกทาง

ไม่เพียงเท่านี้ ย่านสำเพ็งที่โด่งดังในอดีตยังเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในด้านโลกียสำราญ มีทั้งโรงโสเภณี บ่อนพนัน คำว่า “สำเพ็ง” เคยเป็นคำด่าในสมัยหนึ่งก็มี โดยเป็นคำด่าที่รุนแรงที่หมายถึงผู้หญิงที่ค้าขายทางโลกีย์ ธุรกิจที่ว่านี้มีแพร่หลายในสำเพ็ง และทำอย่างเปิดเผย มีโคมสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ ผู้หญิงที่ค้าขายกลุ่มนี้เป็นหญิงกวางตุ้ง หรือถ้าเป็นชาวไทยก็ยังเปลี่ยนชื่อเป็นชาวจีน อาทิ กิมเน้ย กิมเฉียง เป็นต้น

บุบผา เล่าว่า ในบรรดาผู้หญิงที่มีชื่อเสียงในสำเพ็ง ต้องมีชื่อ “อำแดงแฟง” ที่กลายเป็นชื่อตรอกว่า “ตรอกอำแดงแฟง” ในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีระบุชื่อตรอกนี้

สภาพของสำนักโสเภณีในอดีตมีตรอกที่มีชื่อซึ่งเรียกกันว่า “ตรอกน่ำแช” คำว่า “น่ำแช” แปลว่า “โคมเขียว” สันต์ สุวรรณประทีป บรรยายในบทความ “ลำเลิกอดีต” ว่า สำนักโสเภณีที่แขวนโคมเขียวไว้หน้าสำนัก เป็นสำนักของคนจีน สินค้าก็เป็นจีนล้วน อายุแค่ 10-12 ปี รับแต่คนจีน คนไทยไม่รับ เนื่องจากลักษณะพิเศษที่ถูกนิยามเป็นวลีว่า “เดี๋ยวจับนมเดี๋ยวดมหน้าหกสลึงแอ๊คหกท่า” แสดงถึงความเจ้าบทบาทของคนไทยที่ชอบบรรเลง เอื้อนไปอยู่นั่น

คนไทยที่จะเข้าไปได้นั้น ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ และมีคนจีนที่เจ้าสำนักรู้จักนำพาเข้าไป ราคาที่ตรอกน่ำแชก็แพงกว่าที่อื่น หากที่อื่น 2 สลึง ที่ให้บริการของคนจีนต้อง 6 สลึง

หากอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วมีข้อสงสัยว่า 10-11 ขวบจะรับรองแขกได้หรือ สันต์ บรรยายว่า เคยสอบถาม “ตาแบน” บ้านพระยาสีหราชฤทธิไกร ซึ่งตาแบน ให้คำตอบว่า ไหว! เพราะแม่เล้าเอาผิวไม้ไผ่เข้าไปถ่างทุกวัน ผู้เขียนบทความบรรยายต่อว่า เจ้าสำนักจะเอาไม้ไผ่เหลาขี้ออกให้เหลือแต่ผิว และไม่ให้มีคม แล้วโค้งเอาเข้าสอดช่องคลอดให้ไม้ไผ่ค่อยๆ ถ่างออกทีละน้อย ทำอยู่เป็นแรมเดือน

ครั้นเป็นแหล่งเริงสตรีแล้ว เหล่าชายหนุ่มสมัยนั้นโดยเฉพากลุ่มที่เรียกว่า “นักเลง” ก็ย่อมเข้าไปท่องเที่ยวกันเป็นประจำ ความนิยมในกิจการสตรีในย่านนี้ถึงกับทำให้ทางการต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ดังปรากฏหลักฐานเริ่มมีกิจการตำรวจนครบาล เมื่อ พ.ศ. 2404 เรียกกันในสมัยนั้นว่า “โปลิส” เริ่มออกปฏิบัติราชการครั้งแรกก็ในย่านสำเพ็ง

บุบผา ยังเล่าเพิ่มเติมว่า นักเลงโตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วสำเพ็ง หรือทั่วกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นก็ว่าได้ คือ “นายยิ้ม” ซึ่งชอบเดินเตร่สำรวจตรวจตราสิ่งของแปลกใหม่

ลักษณะการแต่งกายของนักเลงโตสมัยนั้นจะนุ่งโสร่งไหม หรือนุ่งผ้าลอยชาย สวมเสื้อผ้าเบาบางเป็นดอกดวง สวมหมวกสานใบโต ผ้าขาวม้าพาดไหล่ ภาพจำของเครื่องแต่งกายเหล่านี้ทำให้ผู้พบเห็นจะทราบทันทีว่าเป็นเจ้าถิ่นที่คนต้องเกรงใจ แต่คำว่านักเลงสมัยนั้นไม่ได้หมายถึงโจรปล้นจี้หรือชิงข้าวของเหมือนอันธพาล นักเลงโตจะชกต่อยวิวาทกับผู้มาระรานข่มเหงตัวเองเท่านั้น

เกร็ดเพิ่มเติมอีกประการของสำเพ็งคือวลีที่คนสมัยหนึ่งอาจคุ้นกันว่า “ไฟไหม้สำเพ็ง” ซึ่งหมายถึง “ความชุลมุนวุ่นวายของฝูงชน” หรือ “เรื่องไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น” อันเป็นวลีที่มาจากเหตุไฟไหม้ในสำเพ็งซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง ด้วยสภาพที่เป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ร้านค้าเบียดติดกัน เมื่อเกิดไฟไหม้ก็มักลุกลามรวดเร็วทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ชุมชนที่ประชากรหนาแน่นแล้วเกิดอัคคีภัยขึ้นคงสะท้อนสภาพ “ความชุลมุน” ตามความหมายของวลี “ไฟไหม้สำเพ็ง”

เมื่อเกิดไฟไหม้แล้ว ผลตามมาประการหนึ่งจากการบอกเล่าของบุบผา คุมมานนท์ คือ จะมีชาวบ้านมาคอยซื้อของกันมาก เพราะ “ของที่นำออกมาขายหลังไฟไหม้ทุกครั้ง ราคาจะถูกอย่างไม่น่าเชื่อ” 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบข้อมูลเรื่องระดับความเสียหายอย่างชัดเจน แต่ในที่นี้ต้องกล่าวว่า หยิบยกข้อมูลเพื่อการศึกษาบริบทเชิงพื้นที่ทางสังคมและย้อนดูประวัติความเป็นมาเท่านั้น และต้องแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียทุกราย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุบผา คุมมานนท์. “‘สำเพ็ง’ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 6, เมษายน 2525.

ปิยนาถ บุนนาค. “สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร”. สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559

สันต์ สุวรรณประทีป. “ลำเลิกอดีต,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 5, มีนาคม 2525.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2562