“เต้าอวิ้นโหลว” สถาปัตยกรรมสุดยอดฮวงจุ้ย

เต้าอวิ้นโหลว ถู่โหลว หลักจักรวาลวิทยา ฮวงจุ้ย
(ภาพประกอบเนื้อหาจาก pixabay.com - public domain)

“เต้าอวิ้นโหลว” อาคารที่ใช้หลัก “จักรวาลวิทยา” ยิ่งใหญ่ด้วยปรัชญาและสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญกับ “ฮวงจุ้ย” ซึ่งประสานสอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างงดงาม

เต้าอวิ้นโหลว (เต๋าอุ่นเล้า) เป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ชิ้นน้อยของจีน แม้ไม่ใหญ่โตเก่าแก่เท่ากำแพงเมืองจีนและฝายปันน้ำตูเจียง (ตูเจียงเอี้ยน) แต่ยิ่งใหญ่ด้วยปรัชญาและสถาปัตย์ซึ่งประสานสอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างงดงาม จนนับได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อันน่าศึกษายิ่ง

เต้าอวิ้นโหลว ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนันเหลียน (หน่ำเลี้ยง) ตำบลซานหญาว (ซำเยี้ยว) อำเภอหญาวผิง (เหยี่ยวเพ้ง) จังหวัดเฉาโจว (แต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง เป็นอาคารแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 วง วงในและวงกลางมีชั้นเดียว วงนอกมี 3 ชั้น แบ่งเป็นห้องใหญ่ 56 ห้อง ห้องเล็ก 16 ห้อง รวม 72 ห้อง อยู่ในอาคารใหญ่หลังเดียวกัน เป็นบ้านแบบหนึ่งของจีนแต้จิ๋วซึ่งได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากบ้านแบบ “ถู่โหลว” (ตึกดิน) ของจีนแคะ

เต้าอวิ้นโหลว ถู่โหลว
เต้าอวิ้นโหลว (ภาพจาก www.zh.wikipedea.org)

“ถู่โหลว (โท่วเล้า)” นั้นมักเข้าใจกันว่าเป็นหมู่บ้านของจีนแคะเท่านั้น แต่ความจริงแล้วจีนแต้จิ๋วก็มีหมู่บ้านหรืออาคารห้องชุดแบบนี้อยู่มาก เช่น ที่อำเภอหญาวผิง (เหยี่ยวเพ้ง) มี “ถู่โหลว” อยู่ 600 กว่าแห่ง เป็นของจีนแคะและจีนแต้จิ๋วเท่า ๆ กัน หมู่บ้านแบบถู่โหลวส่วนมากสร้างบนภูเขาหรือเชิงเขา พื้นที่แคบ จึงสร้างเป็น “โหลว-หอสูง” ทรงกลม หรือแปดเหลี่ยมสูงขึ้นไป 2-3 ชั้น ถึงกระนั้นก็มีขนาดเล็กกว่าหมู่บ้านแบบ “อุ่ยแจ่” มาก เช่น หมู่บ้าน “เต้าอวิ้นโหลว” ซึ่งเป็นโหลวแปดเหลี่ยมใหญ่ที่สุดในจีน มีพื้นที่เพียง 15,000 ตารางเมตร เคยมีคนอยู่มากที่สุดเพียง 100 กว่าครอบครัว 600 กว่าคน

เต้าอวิ้นโหลว กับหลักจักรวาลวิทยา

เต้าอวิ้นโหลว (เต๋าอุ่นเล้า) เป็นอาคารแบบ ถู่โหลว (โท่วเล้า) ของจีนแต้จิ๋ว สร้างตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิงที่ว่า “อี้มีไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ไท่จี๋ทำให้เกิดภาวะทั้งสองคือ ยิน-หยาง ยิน-หยางทำให้เกิดฤดูกาลทั้งสี่ ฤดูกาลทั้งสี่ทำให้เกิดปา-กว้า (โป๊ยข่วย) คือลายลักษณ์ทั้งแปด”

คำว่า อี้ หมายถึง “ความเปลี่ยนแปลง, ไม่หยุดนิ่ง” (อนิจลักษณ์) ไท่จี๋หรือไท้เก๊กในภาษาแต้จิ๋วคือพลังดั้งเดิมหรือมูลพลังของจักรวาลซึ่งรวมเป็นหนึ่ง (มหาเอกะ) เป็นที่สุดอันยิ่งใหญ่ (มหาอุตมะ-Supreme ultimate) ต่อมามูลพลังนี้แยกออกเป็นสองหรือทวิภาวะ คือ ยิน (ดิน)-หยาง (ฟ้า) ยิน-หยาง ทำให้เกิดฤดูกาลทั้งสี่

จากนั้นจึงเกิดธรรมชาติพื้นฐาน 8 ประการในโลก คือ ฟ้า (หยาง) ดิน (ยิน) น้ำ ลม ไฟ ฟ้าร้องฟ้าผ่า ภูเขา และห้วงน้ำทั้งปวง เช่น ห้วยหนองคลองบึงทะเลมหา สมุทร ธรรมชาติพื้นฐานทั้งแปดเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของยิน-หยาง ซึ่งใช้ลายเส้นเป็นสัญลักษณ์แทนเส้นเต็ม หมายถึง หยาง เส้นขาด หมายถึง ยิน ธรรมชาติทั้งแปดใช้เส้นยินและเส้นหยางซ้อนกัน 3 เส้นในลักษณะต่างกันเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติแต่ละอย่างดังนี้

เส้นยิน-หยางที่ซ้อนกัน 3 เส้นนี้เรียกว่า หรือ “ตรีเรขา” ตรีเรขาที่ต่างกันเป็น 8 แบบเรียกรวมว่า “ปา-กว้า (โป๊ยข่วย)” คือ “ลายลักษณ์ทั้งแปด (eight diagram)” มักนำมาเรียงแสดงไว้เป็นรูปแปดเหลี่ยมมีวงกลมไท่จี๋ซึ่งแบ่งเป็นยิน-หยางอยู่ตรงกลาง รอบนอกปา-กว้านิยมมีเส้นล้อมต่อกันเป็นรูปแปดเหลี่ยมชัดเจน รูปปา-กว้าซึ่งรวมไท่จี๋และยิน-หยางไว้ในกลาง เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลตามคำอธิบายในคัมภีร์อี้จิง

“ปา-กว้า (โป๊ยข่วย)”

ปา-กว้าหรือลายลักษณ์ทั้งแปดนี้เป็น “ลายลักษณ์เดี่ยว” ถ้าเอาลายลักษณ์เดี่ยวซ้อนกัน 2 ลายลักษณ์ 6 เส้น เป็น “ลายลักษณ์ซ้อน” ก็จะได้ลายลักษณ์ทั้งหมด 64 แบบ เป็นสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายหลายหลาก มิได้มีเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติเท่านั้น แต่รวมปรากฏการณ์สังคม และกิจกรรมของมนุษย์ไว้ด้วย

เหล่านี้ถูกตีความในแง่มุมต่าง ๆ มากมายทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ ที่ใช้ในการพยากรณ์โชคชะตาก็มักพ่วงคำสอนเชิงปรัชญาและจริยธรรมไว้ด้วย

คำอธิบายกำเนิดจักรวาลในคัมภีร์อี้จิงนั้น มีผู้ตีความคำที่หมายถึงยิน-หยางและฤดูกาลทั้งสี่กว้างออกไปอีกว่า ยิน-หยางหรือทวิภาวะที่เกิดจากไท่จี๋ (ไท้เก๊ก-มหาเอกะ) นั้นไม่ได้หมายเฉพาะฟ้าดิน แต่หมายถึงภาวะอันเป็น 2 หรือเป็นคู่ทุกอย่าง และฤดูกาลทั้งสี่นั้นในคัมภีร์อี้จิงใช้คำว่า “ซื่อเซี่ยง” คือลักษณะอันเป็นสี่ซึ่งมิได้มีเพียงฤดูกาลทั้งสี่ หากยังหมายถึงทิศทั้งสี่ ธาตุและสีประจำทิศทั้งสี่คือ ไม้-สีเขียว ประจำทิศตะวันออก โลหะ-สีขาว ประจำทิศตะวันตก ไฟ-สีแดง ประจำทิศใต้ น้ำ-สีดำ ประจำทิศเหนือ (ส่วนธาตุดิน-สีเหลือง อยู่ตรงกลาง) และลักษณะอันเป็นสี่ (จตุลักษณ์) อื่น ๆ อีกทั้งหมด

โดยนัยแห่งคำอธิบายนี้ กำเนิดจักรวาลในคัมภีร์อี้จิงจึงแปลโดยใช้คำศัพท์ที่กะทัดรัดได้ว่า “อนิจลักษณ์ (อี้-ความเปลี่ยนแปลง) มีมหาเอกะ มหาเอกะทำให้เกิดทวิภาวะ ทวิภาวะทำให้เกิดจตุลักษณ์ จตุลักษณ์ทำให้เกิดอัฐภาค” อี้หรือความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ (อนิจลักษณ์) นี้คือคุณสมบัติของเต๋าหรือวิถีแห่งธรรมชาติ มีความเป็นหนึ่งแล้วแยกเป็นสอง และสิ่งอื่น ๆ ต่อไปทั้งหมดในจักรวาล

ดังที่คัมภีร์เต๋าของเหลาจื๊อตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เต๋าทำให้เกิดหนึ่ง หนึ่งทำให้เกิดสอง สองทำให้เกิดสาม สามทำให้เกิดสรรพสิ่ง” ขงอิ่งต๋า ปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง อธิบายว่ามีความหมายทำนองเดียวกับคำอธิบายในคัมภีร์อี้จิง เต๋าคือธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นพลัง ทำให้เกิดภาวะอันเป็นหนึ่งคือไท่จี๋ (มหาเอกะ) ไท่จี๋ทำให้เกิดสอง (ทวิภาวะ) คือยิน-หยาง ส่วนสามคือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อๆ มาซึ่งรวมสี่และแปดไว้ด้วย จนเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล

ฉะนั้นกล่าวโดยสรุป เต๋าซึ่งมีอี้ (ความเปลี่ยนแปลง) เป็นพลัง ทำให้เกิดไท่จี๋ (ไท้เก๊ก-มหาเอกะ) จากนั้นจึงเกิดทวิภาวะ (ยิน-หยาง) จตุลักษณ์ (ลักษณะอันเป็นสี่) และอัฐภาค (ปา-กว้า) ตลอดจนสรรพสิ่งในจักรวาลตามลำดับ

เนื่องจากเต้าอวิ้นโหลวสร้างตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิง ซึ่งถือว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นและเป็นไปตามวิถีแห่งเต๋า จึงตั้งชื่อว่า “เต้าอวิ้นโหลว” เสียงแต้จิ๋วว่า “เต๋าอุ่นเล้า” เต้า (เต๋า) หมายถึง ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ อวิ้น (อุ่น) แปลว่า เสียงสัมผัส คล้อง จอง กลมกลืน ท่วงทำนอง ลีลา รสชาติ โหลว (เล้า) หมายถึง อาคารสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ชื่อเต้าอวิ้นโหลว (เต๋าอุ่นเล้า) แปลเอาความได้ว่า “อาคารลีลาเต๋า”

จุดเด่นเต้าอวิ้นโหลว

เต้าอวิ้นโหลวมีความโดดเด่น 4 ประการ คือ เก่าแก่, ใหญ่, แปลก และมหัศจรรย์ มีชื่อเสียงที่สุดในหมู่อาคารถู่โหลว 600 กว่าแห่งของอำเภอหญาวผิง (เหยี่ยวเพ้ง)

ในด้านความเก่าแก่ เต้าอวิ้นโหลวเป็นอาคารประเภท “ถู่โหลว” เก่าแก่ที่สุดของจีน อาคารประเภทนี้ส่วนมากสร้างสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187-2454) แต่เต้าอวิ้นโหลวสร้างเสร็จเมื่อปีที่ 15 รัชศกว่านลี่ของพระเจ้าหมิงเสินจง ตรงกับ พ.ศ. 2130 ก่อนสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ปี อายุถึงปัจจุบัน 400 กว่าปี ยังมั่นคงแข็งแรง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ดีเหมือนเดิม

ในด้านความใหญ่ เต้าอวิ้นโหลวเป็น “ถู่โหลว” ทรงแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุดของจีน เส้นรอบวง 328 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 101.2 เมตร พื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร กำแพงสูง 11.5 เมตร หนา 1.6 เมตร ถู่โหลวแปดเหลี่ยมใหญ่ที่สุดของมณฑลฮกเกี้ยนเส้นผ่าศูนย์กลางเหนือ-ใต้ยาว 86.6 เมตร ตะวันออก-ตะวันตก 90.6 เมตร เล็กกว่าเต้าอวิ้นโหลว แต่มีถู่โหลวทรงกลมและทรงรีขนาดใหญ่กว่าเต้าอวิ้นโหลวหลายแห่ง ยามรุ่งเรืองเต้าอวิ้นโหลวก็มีคนอยู่ 100 กว่าครอบครัว 600 กว่าคน ล้วนแซ่หวง (อึ๊ง) และเป็นญาติกันทั้งหมด

ในด้านความแปลก เต้าอวิ้นโหลววางผังตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิงได้อย่างลงตัวงดงาม ตัวอาคารทั้งหมดซึ่งตั้งบนฐานสูงคือสัญลักษณ์ของจักรวาล เมื่อมองดูจากข้างบนลงมาเห็นเป็นรูปปา-กว้า (โป๊ยข่วย) ขนาดใหญ่

ตัวอาคารสร้างเป็นทรงแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 วง หรือ 3 ชั้น วงในและวงกลางเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว วงนอกเป็นอาคารไม้ 3 ชั้น ด้านนอกสุดเป็นกำแพงอิฐไม่ฉาบปูน อาคารแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 วงนี้คือสัญลักษณ์ของเส้นทั้งสาม (ตรีเรขา-ซานเหยา) ที่ซ้อนกันเป็นลายลักษณ์ทั้งแปด (ปา-กว้า-โป๊ยข่วย)

เต้าอวิ้นโหลว ถู่โหลว
ภาพมุมสูงเต้าอวิ้นโหลวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นอาคารแปดเหลี่ยม (ภาพจาก http://uav.xinhuanet.com) )

ลานกลางในวงแปดเหลี่ยมแบ่งเป็น 2 วง วงในเป็นลานดินราบเสมอกัน ทางด้านใต้มีตึกชั้นเดียวเล็กๆ หลังหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไท่จี๋ (ไท้เก๊ก-มหาเอกะ) ด้านเหนือตรงข้ามกับหน้าอาคารไท่จี๋ ใกล้ประตูเข้า มีบ่อน้ำ 2 บ่อ เป็นสัญลักษณ์ของตาปลายิน (สีดำ) และปลาหยาง (สีขาว)

ส่วนวงนอกปูด้วยกรวดเป็นขั้นลดหลั่นกัน 4 ระดับ ทางด้านเหนือต่ำ ค่อยๆ สูงขึ้นไปทางด้านใต้ตามแนวด้านตะวันออกและตะวันตก ลดหลั่นกันด้านละ 4 ระดับ เป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลทั้งสี่หรือลักษณะอันเป็นสี่ (จตุลักษณ์) ทั้งปวง 4 ระดับที่ลดหลั่นกันทั้ง 2 ด้านรวมเป็น 8 เท่ากับทรงแปดเหลี่ยมของปา-กว้า (โป๊ยข่วย-อัฐภาค)

อาคารแปดเหลี่ยมนี้ แต่ละเหลี่ยมกว้าง 39 เมตร แบ่งเป็นห้องใหญ่ 7 คูหา ห้องเล็กตรงมุมแต่ละเหลี่ยม 2 ด้านอีก 2 ห้อง รวมแปดเหลี่ยม มีห้องใหญ่ 56 คูหา (8 x 7) ห้องเล็ก 16 ห้อง (8 x 2) รวม 72 ห้อง (8 x 9) มีบ่อน้ำในบ้าน 30 บ่อ ที่ลานกลาง 2 บ่อ รวมเป็น 32 บ่อ (8 x 4) ล้วนเป็นอัตราส่วนของแปด จำนวนหน้าต่าง ช่องรับแสงบนหลังคาก็ล้วนมีจำนวนเป็นอัตราส่วนของแปดคือปา-กว้า (โป๊ยข่วย)

เนื่องจากเป็นอาคารซ้อนกัน 3 วง หรือ 3 ชั้น แต่ละคูหามีพื้นที่ติดต่อกันทั้ง 3 ชั้น จึงมีความลึกถึง 29 เมตร กว้างคูหาละ 5.57 เมตร พื้นที่ 161.57 ตารางเมตร ในอาคารมีท่อระบายน้ำลึกยาวต่อกัน ปากท่อออกทางประตูทิศเหนือ เรียกว่าท่อยิน (มืด ปิด) เพราะมีฝาปิด นอกอาคารมีท่อระบายน้ำไม่มีฝารอบลาน เรียกว่าท่อหยาง (สว่าง เปิด) น้ำในท่อหยางไหลลงท่อยิน

อาคารหลังนี้ใช้สลักไม้ไผ่แทนตะปู อาคารวงในกับวงกลางเว้นระยะห่างกันให้แสงเข้าโดยไม่มีหลังคา แต่มีฝากั้นระหว่างคูหา ทำให้มีลานโล่งที่เรียกว่า “เทียนจิ่ง (เทียนแจ้)” อยู่ในบ้านทุกคูหา อาคารวงกลางซึ่งมีชั้นเดียวกับวงนอกซึ่งมี 3 ชั้นติดต่อกัน ซึ่งมีช่องรับแสงและระบายอากาศเป็นหน้าต่างบนหลังคาทุกคูหา และท่อระบายน้ำยินในทุกคูหาจะเปิดฝารับน้ำตรงช่องหน้าต่างบนหลังคาพอดี  นอกจากนี้มีบางจุดทางอาคารด้านใต้ไม่เจาะหน้าต่าง มีแต่หน้าต่างบนหลังคา

อาคารเต้าอวิ้นโหลวมีประตู 2 ประตู ประตูใหญ่อยู่ด้านเหนือใช้เป็นประตูเข้า ประตูเล็กอยู่ด้านตะวันออกใช้เป็นประตูออก ปกติอาคารถู่โหลวมีประตูเข้าออกทางเดียว ถู่โหลวของจีนแคะใช้บันไดเข้าบ้านหลายครอบครัวหรือหลายคูหาร่วมกัน แต่ในเต้าอวิ้น โหลวมีบันไดขึ้นและประตูเข้าแยกกันทุกคูหาตามแบบแผนของบ้านแต้จิ๋ว ประตูแต่ละคูหาไม่ตรงกัน อยู่เยื้องกันอย่างได้สัดส่วนสวยงาม แต่ไม่สามารถมองเห็นในบ้านที่อยู่ตรงข้ามได้ เพื่อกัน “ชง” คือ “ขัดแย้ง” ระหองระแหงกัน

อาคารที่สร้างตามหลักปรัชญาเต๋าในอี้จิงได้อย่างลงตัวงดงามเช่นนี้ มีแห่งเดียวในประเทศจีน เต้าอวิ้นโหลวจึงมีความแปลกซึ่งหาดูจากที่อื่นไม่ได้

ในความแปลกนี้ยังมีความมหัศจรรย์แฝงอยู่อย่างน่าทึ่ง การสร้างตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิง มิได้ทำเพราะความเชื่องมงาย หากแต่ได้พิจารณาสภาพแวดล้อมแล้วใช้วิชาภูมิสถาปัตย์ออกแบบตัวอาคารให้สอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างลงตัว เริ่มตั้งแต่รูปทรงแปดเหลี่ยม เดิมทีจะสร้างเป็นทรงกลมแต่สร้างไปได้ไม่มากก็ทลายลงมาทุกครั้ง ซินแสดูฮวงจุ้ยมาพิจารณาสภาพพื้นที่เห็นว่าเป็นพื้นที่ปู มี 8 ขา ต้องใช้ทรงแปดเหลี่ยมปา-กว้า (โป๊ยข่วย) ทับขาปูไว้จึงจะอยู่ นั่นคือออกแบบทรงอาคารให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ซึ่งไม่เรียบ

ความจริงตอนนั้นจีนมีเทคโนโลยีการก่อสร้างและกำลังคนพอจะปรับพื้นที่ให้เรียบได้ไม่ยาก แต่ผู้ดูภูมิลักษณ์ (ฮวงจุ้ย) และผู้สร้างคงเห็นว่าถึงจะปรับพื้นที่ด้านบนได้ แต่ฐานรากใต้ดินก็คงไม่มั่นคง สู้ปรับรูปแบบอาคารให้สอดคล้องกับภูมิลักษณ์ไม่ได้ จึงสร้างทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งก็แข็งแรงมั่นคงตลอดมา ผ่านแผ่นดินไหวมาหลายครั้งก็ไม่พังทลายเหมือนถู่โหลวอีกหลายแห่ง การใช้สลักไม้ไผ่แทนตะปูก็มีส่วนช่วยให้มีความยืดหยุ่นรับแผ่นดินไหวได้ดีกว่า การออกแบบและใช้วิศวกรรมก่อสร้างให้รับแผ่นดินไหวได้ดีนับเป็นความมหัศจรรย์ประการแรกของอาคารหลังนี้

เต้าอวิ้นโหลว ป้องกัน 8 ภัยร้าย

เต้าอวิ้นโหลว มีคุณสมบัติพิเศษป้องกันภัยได้ถึง 8 อย่าง คือ ภัยแผ่นดินไหว สัตว์ร้าย โจรผู้ร้าย ศึกสงคราม อัคคีภัย อุทกภัย ความร้อน-หนาว และอุบัติภัยอื่นๆ อีก

เนื่องจากเลือกทรงอาคารให้สอดคล้องกับภูมิลักษณ์ เต้าอวิ้นโหลวจึงไม่ต้องเสริมฐานรากใต้ดิน กำแพงตั้งบนดินอย่างมั่นคง ปกติบ้านและหมู่บ้านจีนนิยมหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่เต้าอวิ้นโหลวหันหน้าไปทางเหนือ เอาภูเขา “ที่วางพู่กัน” ด้านเหนือเป็นเครื่องหมายของพู่กันแห่งอักษรศาสตร์กระตุ้นให้คนใฝ่ศึกษา

ช่องในวงกลมสีแดงบนผนังทำเพื่อให้แสงเข้า และเป็นช่องสำหรับยิงปืนต่อสู้กับโจรผู้ร้าย (ภาพจาก https://sh.qishoo.com)

กำแพงสูง 11.5 เมตร และแข็งแรงมากจึงป้องกันสัตว์ร้าย โจร และข้าศึกได้อย่างดี มีช่องสำหรับยิงปืนออกมาหลายแห่ง ที่สำคัญคือ ตรงประตูใหญ่มีรูจ่อปากปืนยิงจากข้างในออกมาทั้งด้านซ้ายและขวา บนกำแพงเหนือบานประตูหมู่บ้าน มีท่อน้ำใหญ่ใส่น้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะเปิดให้น้ำไหลลงข้างล่างดับไฟที่ข้าศึกศัตรูจุดเผาบานประตูเพื่อบุกเข้ามา และถ้าเกิดอัคคีภัยตรงประตูก็มีน้ำมากพอดับไฟให้คนหนีออกได้ การมีประตู 2 ประตูก็เพื่อเป็นทางออกหนีไฟได้ดีกว่ามีประตูเดียว

ตลอดเวลา 400 กว่าปี แม้จะเคยมีไฟลุกไหม้ขึ้นบ้าง แต่ไม่เคยลุกลาม เพราะในเต้าอวิ้นโหลวมีบ่อน้ำถึง 32 บ่อ เป็นบ่อสาธารณะ 2 บ่อ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของตาปลายิน-หยาง อีก 30 บ่อ อยู่ที่ลานในบ้านที่เรียกว่า “เทียนเจิ่ง (เทียนแจ้)” ส่วนมากอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 บ้านใช้ร่วมกัน กำแพงกั้นลานบ้านไม่ปิดปากบ่อ ทั้ง 2 บ้านสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้สะดวก บ่อน้ำ 32 บ่อนี้ช่วยป้องกันอัคคีภัยได้อย่างดี

แม้จะมีบ่อน้ำถึง 32 บ่อ แต่ 400 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยมีคนตกบ่อตายเลย เพราะการเรียงอิฐในบ่อไม่ได้เรียงให้หน้าเรียบเสมอกัน แต่เรียงสลับให้มีแง่และช่องให้มือจับได้สะดวก ก้นบ่อยังมีแผ่นหินกลมทรงไท่จี๋และปลายิน-หยางวางอยู่ น้ำซึมขึ้นมาได้ คนก็ใช้ขายืนหยั่งได้ ทั้งยังเป็นจุดกำหนดความลึกของบ่อ ถ้ามีโคลนตมทับถมก็ขุดลอกออก การออกแบบบ่ออย่างรอบคอบเช่นนี้นับเป็นความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่ง

เต้าอวิ้นโหลว ถู่โหลว
(ลูกศรชี้) คือลานในบ้าน หรือเทียนเจิ่ง ส่วนวงกลมสีแดงคือช่องรับแสงที่หลังคา (ภาพจาก www.naic.org.cn)

ตลอด 400 กว่าปีที่ผ่านมา เต้าอวิ่นโหลวไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมเพราะน้ำระบายออกไม่ทันเลย เพราะมีระบบการระบายน้ำดีเยี่ยม ในอาคาร 56 คูหา มีท่อระบายน้ำใหญ่ลึกติดต่อเป็นท่อเดียวกัน ด้านบนมีฝาปิด เปิดเฉพาะตรงช่องหน้าต่างบนหลังคาซึ่งน้ำจะไหลลงมาเวลาฝนตก น้ำฝนจากช่องหน้าต่างหลังคาของทุกบ้านจะช่วยล้างระบายท่อได้อย่างดียามฝนตกหนัก ท่อระบายน้ำใหญ่ในบ้านนี้เรียกว่าท่อยิน ยังมีท่อหยางซึ่งไม่มีฝาปิดอยู่รอบลานกลาง น้ำจากท่อหยางไหลลงท่อยิน ช่วยชะล้างระบายท่อได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง จึงไม่เคยมีปัญหาท่อน้ำอุดตันหรือระบายน้ำไม่ทันเลย

และที่มหัศจรรย์ยิ่งก็คือในท่อยินมีเต่านับร้อยตัวคลานเข้าออกอยู่เสมอ เพราะรอบด้านเป็นทุ่งนา เต่าจึงคลานเข้ามาหาเศษอาหารกินหรือหลบซ่อน เท้าที่คลานเข้าออกช่วยพุ้ยตะกอนก้นท่อออกไปด้วย เป็น การขุดลอกท่อโดยธรรมชาติอย่างวิเศษสุด

อนึ่ง ขอบนอกของลานกลางด้านตะวันออกและตะวันตกซึ่งสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นขั้นบันได 4 ระดับจากทิศใต้ต่ำลงมาทางทิศเหนือนั้นช่วยเรื่องการระบายน้ำได้ดี น้ำทั้งในและนอกท่อหยางจะไหลมาลงท่อหยางทางเหนือหมดแล้วไหลต่อลงท่อยินออกไปนอกหมู่บ้าน ตรงจุดสูงสุดทางด้านใต้เป็น “ศาลบรรพบุรุษประจำตระกูล” ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งหมด

จึงเห็นได้ว่า การกระทำระดับสูงต่ำลดหลั่นกัน 4 ระดับนั้น มิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของฤดูกาลทั้งสี่หรือจตุลักษณ์เท่านั้น หากยังมีประโยชน์เรื่องการระบายน้ำและแสดงฐานานุศักดิ์ของอาคารสำคัญคือ “ศาลบรรพบุรุษประจำตระกูล” ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดอีกด้วย

ที่มหัศจรรย์มากอีกประการหนึ่งคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมานับร้อยปี ไม่เคยมีปลวกขึ้นบ้านเลย แต่ต่อมามีคนลองเจาะหน้าต่างทางด้านใต้ซึ่งเดิมมาไม่มี ชั่วเวลาไม่นานมีปลวกขึ้นบ้านเป็นปัญหาใหญ่ พอปิดหน้าต่างด้านที่เจาะเพิ่มขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่นานปลวกก็หายไป คนในหมู่บ้านบอกว่าการเจาะหน้าต่างเพิ่ม “ผิดฮวงจุ้ย” จึงเกิดปลวก นั่นก็คือหน้าต่างที่ทำไว้ลงตัวพอดี ป้องกันไม่ให้ปลวกเจริญพันธุ์ได้ พอเจาะเพิ่มทำให้แสง อุณหภูมิ ความชื้นเปลี่ยนไป เหมาะสมกับการเจริญพันธุ์ของปลวก ในแง่นี้ “ฮวงจุ้ย” ก็คือภูมิสถาปัตย์ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศนั่นเอง

สงบสุขในเต้าอวิ้นโหลว 

บ้านในเต้าอวิ้นโหลวอยู่สบาย หน้าร้อนเย็น หน้าหนาวอุ่น คงเป็นเพราะแต่ละคูหาลึกถึง 29 เมตร ไอร้อนไอเย็นจึงเข้าไปได้น้อย แต่ก็ไม่อุดอู้อบอ้าว มีแสงเข้าและระบายอากาศได้ดี เพราะแต่ละคูหาแบ่งเป็น 3 ช่วง ตามรูปแบบอาคารที่สร้างเป็น 3 วงซ้อนกัน วงในเป็นส่วนหน้าบ้าน มีประตูเข้าทุกคูหา ด้านหลังของช่วงหน้า (คืออาคารวงใน) ต่อกับช่วงกลางเป็นลานโล่ง รับแสง ระบายอากาศได้เต็มที่

ลานโล่งกว้างในบ้านนี้ใช้เป็นที่ซักผ้า ตากผ้า ตากของ มีบ่อน้ำ 2 บ้านใช้ร่วมกัน น้ำท่าจึงบริบูรณ์ดี ช่วงกลาง (คืออาคารวงกลาง) กับช่วงใน (คืออาคารวงนอก) ติดต่อกันแต่มีหน้าต่างบนหลังคารับแสงและระบายอากาศ เนื่องจากกำแพงรอบนอกสุดหนามาก ความร้อนหนาวจึงผ่านเข้ามาได้น้อย ช่วงกลางและช่วงในจึงเย็นสบายในหน้าร้อน อบอุ่นในหน้าหนาว การกันความร้อนความหนาวได้ดีเป็นความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของเต้าอวิ้นโหลว

เนื่องจากอาคารวงนอกมี 3 ชั้น ดังนั้นตอนในของทุกคูหาจึงมี 3 ชั้น ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทำให้เต้าอวิ้นโหลวจึงมีพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิจกรรมอื่นพร้อมสรรพ เท่ากับเป็นหมู่บ้านหนึ่ง มีโรงเรียน ห้องฝึกวิชาการต่อสู้ ห้องเสบียง ห้องเก็บอาวุธ ห้องเก็บเครื่องใช้ไม้สอยส่วนรวม ห้องสีข้าว ฯลฯ นับเป็นอาคารหมู่บ้านที่มีความพร้อมในการต่อสู้ป้องกันภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจรผู้ร้าย ศึกสงครามได้ดี เพราะตุนเสบียงอาหาร อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้พร้อมสรรพ ปิดประตูสู้ข้าศึกได้เป็นเวลานาน

ด้วยความพร้อมดังกล่าวทำให้คนในเต้าอวิ้นโหลวมีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ ทางด้านบุ๋น (อักษรศาสตร์) มีคนสอบได้ชั้น “จี่ว์เหญิน” ซึ่งฝรั่งเทียบกับระดับปริญญาโทหลายคน ที่แปลกก็คือมีคนจากทุกเหลี่ยมในแปดเหลี่ยมของอาคารหลังนี้สอบได้ชั้นจี่ว์เหญิน ส่วนระดับ”ซิ่วไฉ” ซึ่งฝรั่งเทียบกับปริญญาตรีมีมากมาย ในด้านบู๊ก็มีคนสอบเป็นขุนนางฝ่ายบู๊ได้หลายคน และคนจากหมู่บ้านนี้มีวิทยายุทธ์ป้องกันตัวได้ดีแทบทุกคน

ภาพตัดแสดงโครงสร้างของอาคาร (ภาพจาก http://jylandscape.com)

ชีวิตของคนในเต้าอวิ้นโหลวมีความปลอดภัย ขยันขันแข็ง สงบสุข และสามัคคี อาคารที่สมบูรณ์บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติทำให้ป้องกันภัยได้หลายประการ แต่หมู่บ้านนี้ไม่มีแหล่งทรัพยากรอยู่ภายใน ต้องขยันขันแข็งแสวงหาจากข้างนอกเข้ามาใช้และสะสมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสบียงอาหาร คนจึงต้องกระตือรือร้นเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ทั้งใฝ่แสวงความก้าวหน้า ออกไปสร้างฐานะข้างนอก แต่เมื่อกลับมาอยู่ในหมู่บ้าน วัฒนธรรมหมู่บ้านชนบทและอุดมคติตามวิถีแห่งเต๋าของหมู่บ้านนี้ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตเรียบง่าย สุขสงบ

วิถีชีวิตหมู่บ้านชนบท คนต้องพึ่งพาอาศัยกัน มีกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ เช่น ในเต้าอวิ้นโหลว ส่วนมากใช้บ่อน้ำร่วมกัน 2 ครอบครัวต่อ 1 บ่อ ต้องช่วยกันทำงาน เช่น ซ้อมข้าว เรียนหนังสือด้วยกัน ยามศึกต่อสู้ศัตรูร่วมกัน ยามสงบมีกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ลานกลางเป็นที่ชุมนุมจัดกิจกรรม ฉลองเทศกาล อาคารหลังน้อยที่เป็นสัญลักษณ์ของไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ในลานกลางหมู่บ้านใช้ประโยชน์เป็นที่จัดกิจกรรมส่วนรวมไปด้วย

อนึ่ง วัฒนธรรมตระกูลแซ่ของจีนทำให้คนมีความรู้สึกผูกพันเป็นพวกเดียวกัน เพราะเป็นญาติร่วมตระกูลกันมาจึงมีความสามัคคีกันสูง ทั้งอยู่ใต้ “กฎของตระกูลแซ่” เหมือนกัน เป็นการควบคุมความประพฤติให้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกันอีกด้วย

แม้ระบบตระกูลแซ่และวัฒนธรรมหมู่บ้านชนบททำให้คนในเต้าอวิ้นโหลวมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง แต่มีความเป็นส่วนตัวของแต่ละครอบครัวอยู่มาก การสร้างบ้านให้ประตูไม่ตรงกัน ทำให้บ้านตรงข้ามกันมองไม่เห็นชีวิตส่วนตัวในบ้านคนอื่น เกิดการสอดรู้สอดเห็นน้อยลง ลดเรื่องหยุมหยิมทำให้ระหองระแหงกันด้วยเรื่องส่วนตัว แก้การ “ชง-ขัดแย้งกัน” ได้อย่างชะงัด

การออกแบบอาคารให้มีทั้งความเป็นส่วนรวมและส่วนตัวอยู่ด้วยกันอย่างเหมาะสม กลมกลืน นับเป็นความมหัศจรรย์ยิ่งประการหนึ่งของเต้าอวิ้นโหลว

นอกจากความมหัศจรรย์ในเชิงสถาปัตย์แล้ว เต้าอวิ้นโหลวยังมีความงามเชิงมัณฑนศิลป์อยู่ไม่น้อย มีทั้งจิตรกรรมฝาผนัง ไม้แกะสลัก ลายปูนปั้น แม้ปัจจุบันจะชำรุดทรุดโทรมไปมาก แต่ยังพอมีเหลือให้เห็นร่องรอยความงามเมื่อครั้งยังสมบูรณ์อยู่ได้อย่างดี อนึ่ง รอบนอกของเต้าอวิ้นโหลวยังมีอาคารบริวารล้อมอยู่แทบทุกเหลี่ยม เสริมให้เห็นความยิ่งใหญ่ในยุคที่อาคารนี้ยังสมบูรณ์อยู่ ปัจจุบันอาคารบริวารชำรุดทรุดโทรมมาก

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เต้าอวิ้นโหลวถูกพวกเรดการ์ด (Red guard) รื้อชั้น 3 ของอาคารวงนอกไปส่วนหนึ่ง คนแก่ในหมู่บ้านนี้เล่าว่า ตอนเช้ารื้อ ตกบ่ายคนรื้อตายปุบปับไปคนหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ พวกที่เหลือจึงกลัวไม่กล้ารื้อต่อ แต่ก็สร้างบาดแผลแห่งการทำลายล้างวัฒนธรรมไว้อย่างน่าเศร้า

ความใหญ่โต เก่าแก่ แปลก และมหัศจรรย์ของเต้าอวิ้นโหลว ทำให้สถาปนิก วิศวกรผู้สนใจสถาปัตย กรรมโบราณทั้งจากญี่ปุ่น อเมริกา ไต้หวัน ฮ่องกง จีนมาชมและศึกษาค้นคว้า ต่างชื่นชมยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญ แสดงถึงภูมิปัญญาทั้งด้านปรัชญา จักรวาลวิทยา สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ตลอดจนมัณฑนศิลป์ของจีนได้อย่างน่าภูมิใจยิ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ได้เสด็จทอดพระเนตรเต้าอวิ้นโหลวเมื่อคราวเสด็จพระราช ดำเนินเยือนจีนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 นี้ด้วย

ความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ของเต้าอวิ้นโหลวอยู่ที่ใช้จักรวาลวิทยาของจีนเป็นรากฐานพิจารณาภูมิลักษณ์และระบบนิเวศอย่างรอบคอบ แล้วใช้หลักภูมิสถาปัตย์สร้างอาคารขึ้นให้ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติตามอุดมคติของปรัชญาเต๋า ที่ถือว่า มนุษย์กับธรรม ชาติต้องกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้อาคารหลังนี้อยู่สบาย คุ้มภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์เองได้หลายอย่างทั้งยังแสดงวิถีแห่งเต๋าตั้งแต่ทำ ให้เกิดไท่จี๋ (ไท้เก๊ก-มหาเอกะ) ยิน-หยาง (ดิน-ฟ้า) ฤดูกาลทั้งสี่ ลายลักษณ์ทั้งแปด (ปา-กว้า) ได้สมชื่อเต้าอวิ้นโหลว (เต๋าอุ่นเล้า) ซึ่งหมายถึง อาคารลีลาเต๋า เป็นจุดบรรจบของจักรวาลวิทยากับสถาปัตยกรรมจีนอันสมบูรณ์งดงามที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เต้าอวิ้นโหลว : จุดบรรจบของจักรวาลวิทยากับสถาปัตยกรรมจีน” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2562