พุทธทาสสร้างสโมสรเพื่อกรีด “เลือดบ้า” ออกจากหัวคนหนุ่ม เลือดบ้าที่ว่ามีอะไรบ้าง?

พุทธทาสภิกขุ (กลาง) คณะสงฆ์ และฆราวาส

พุทธทาสสร้างสโมสรเพื่อกรีด“เลือดบ้า”ออกจากหัวคนหนุ่ม บ้าเลื่อนลอย, ฉุนเฉียว และอวดดี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือ “พุทธทาสภิกขุ” (27 พฤษภาคม 2449 – 8 กรกฎาคม 2536) ท่านปวารณาตนเองเป็น “พุทธทาส” เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด และเป็นผู้ก่อตั้ง “สวนโมกพลาราม” หรือวัดธารน้ำไหล

บทความนี้เป็นการคัดย่อจากบันทึกประจำวันที่ท่านพุทธทาสเขียนในปี 2485 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 เกี่ยวกับเรื่อง เลือดบ้าที่ต้องกรีดออกเสียจากศีรษะของคนหนุ่ม ว่า

อาทิตย์ 15 กุมภ. หอสมุด

[20.30] เช้าแล้ว ท่านปลัดมาคุยด้วย ถามถึงเรื่องได้ยินน้าจูดว่าจะสร้างอะไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าอะไร เลยอธิบายให้ฟังถึงจุดประสงค์ของ “สโมสร” ที่จะสร้าง…

…เราบอกให้รู้ว่า มีความประสงค์จะเปิด “สโมสรคนหนุ่ม” ขึ้น โดยวัตถุประสงค์จะทำการ “กรีดเลือดบ้า ออกจากหัวคนหนุ่ม!”

สำหรับผู้ติดตามงานของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ “คณะธรรมทาน” อันเป็นหนึ่งในสามส่วนงานสำคัญที่ท่านและท่านธรรมทาสร่วมกันริเริ่มไว้ คือ สวนโมกขพลาราม คณะธรรมทาน และวัดธารน้ำไหล ให้มีบทบาทผสมผสานกันเพื่อศึกษา ปฏิบัติ ค้นคว้าและเผยแผ่ธรรมอย่างครบครันทั้งปฏิบัติ ปริยัติ และเผยแผ่เพื่อถึงซึ่งปฏิเวธอย่างกว้างขวางนั้น “สโมสรธรรมทาน” ที่ก่อสร้างเมื่อปี 2485 ที่มีบันทึกอนุทินการก่อสร้างไว้มีความน่าสนใจมาก เพราะท่านระบุไว้ว่า “มีความประสงค์จะเปิด ‘สโมสรคนหนุ่ม’ ขึ้น โดยวัตถุประสงค์จะทำการ ‘กรีดเลือดบ้า ออกจากหัวคนหนุ่ม!’”

ท่านบันทึกปรารภในอนุทินถึง “ตัวอย่างบางประการอันสะแดงถึง ‘เลือดบ้า’ ที่จะต้องกรีดออกเสียจากศีรษะของคนหนุ่มตามความมุ่งหมายแห่งการจัดตั้งสโมสรคนหนุ่มของเรา” ว่าประกอบด้วย

อาการ “กำลังฟุ้งและมีอารมณ์อันเลื่อนลอย… ไม่มัธยัตถ์ สำรวม จะได้มีจิตต์ที่ประณีตสุขุม อันเปนจิตต์ใจที่จำทำให้คนเราครองชีวิตราบรื่นเยือกเย็นถึงที่หมายได้ทั้งด้านกายและใจ”, “โง่ อย่างมาจากอเวจี!…ฝันเร็วเกินไป”, “ใฝ่ฝันถึงแต่ความเพลิน… ใช้จ่ายในทางหาความเพลิน”, “ฉุนเฉียวและอวดดี เมื่อถูกตักเตือนหรือขัดแย้ง หรือด่าว่าก็โกรธ หรือบ่นตอบงุบงิบได้…ไม่ต่อหน้าก็ลับหลัง…เปนเชื้อโรคแห่งความไม่อดทน…จัดเปนปัจจัยแห่งการตั้งตัวไม่สำเร็จ”

รวมทั้งที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่ท่านประสบเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ว่า “มีผู้บอกว่า…หนุ่ม ๆ 2-3 คน… หาว่าเรารักพวกผู้หญิงในบ้านโคกหม้อ… เรื่องนี้เปนเหตุให้นึกไปถึงว่าศีลธรรมของพลเมืองไทยเรายังต่ำมากอย่างน่าสลดใจ ข้อนี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกขึ้นในใจเราทันทีว่าถ้าเราไม่ตายเสียเร็วเกินไป เราจะขยายกิจการของคณะธรรมทานให้มีวงกว้างไปถึงการแก้ไขความต่ำทรามในทางศีลธรรมของคนหนุ่มประเภทนี้ด้วยให้จงได้เปนแน่.”

ดูความอวดดีของตัวกันสักครั้ง ท่ามกลางการสร้างธรรมสโมสร

ในบันทึกประจำวันเมื่อปี 2485 ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเขียนบันทึกประจำวันตั้งแต่ต้นปีและเขียนอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนตลอดปี ในหลากหลายนับร้อยเรื่องนั้น บันทึกข้างต้นเรื่องเลือดบ้ากับคนหนุ่มแสดงถึงเจตนาจริงจังอีกเรื่องของท่านตามที่ตั้งใจไว้เมื่อต้นปีว่า

“ปีนี้ นับเปนปีที่เรามีอายุ ย่างเข้าปีที่ 37  เราผ่านมา 3 รอบปีเต็ม ๆ บริบูรณ์แล้ว เวลาสำหรับเปนเด็ก สำหรับศึกษาเบื้องต้น สำหรับทดลองนั้น เราอยากจะให้สิ้นสุดกันเสียที ต่อนี้ไปเราจะทำจริง แน่วแน่จริง ทุก ๆ อย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน”

โดยเกือบตลอดปีที่ออกป่าหาไม้ ตัดลากไม้มาเลื่อย ฟัน หานานาวัสดุและกำลังแรงงานมาก่อสร้าง อาคารสโมสรคณะธรรมทานดังที่ท่านบันทึกในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า

“ตอนกลางคืนสนทนากับท่านธนเรื่องอยากสร้าง ‘สโมสรธรรมทาน’ เสียโดยเร็ว…ใช้วิธีช่วยกันทำเสียเอง…เราจะลองใช้ความพยายามดูให้เต็มที่เพื่อหาความจริงบางอย่างเกี่ยวกับการงานประเภทนี้ และการใช้หลักวิชาทางจิตตวิทยาในการขอความร่วมมือจากสังคมเพื่อดำเนินกิจการใหญ่โตข้างหน้าสืบไป… อย่างไรก็จะได้ดูความอวดดีของตัวกันสักครั้งเปนแน่.”

สโมสรธรรมทาน ขณะดำเนินการก่อสร้างใกล้สำเร็จ

มีบันทึกทั้งข้อคิดและกิจที่ทำอยู่มากมายที่สะท้อนถึงกระบวนวิธีคิดและการทำงานของท่านตลอดจนชุมชนชาวไชยาที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านในและหลักคิด “ลดเลือดบ้า” มาหาการ “เป็นอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง” หรือ “Plain Living High Thinking” เช่น

วันนี้เปนวันมาฆบูชา พระจันทร์เพ็ญแห่งมาฆฤกษ์ เปนวันที่ระลึกถึงบรรดาพระอรหันต์ทั้งมวล แต่ว่าเราเอง… กำลังพัวพันอยู่กับธุระในการสร้างธรรมสโมสร… การสงบใจและระลึกถึงธรรมเช่นนี้รู้สึกว่าทำได้หยาบไปบ้าง ไม่ประณีตสุขุมเต็มที่เหมือนปีที่ว่างจากกิจชะนิดนี้

แต่อย่างไรก็ดีอาศัยที่มีความชำนาญในทางธรรมและปรัชญาของชีวิตยิ่งขึ้นทุกปี ๆ แม้ในคราวที่ยุ่งด้วยธุระเช่นนี้ ก็ดูเหมือนจะยังซึมซาบในธรรมซึ้งกว่าปีแรก ๆ ที่ยังเปน ‘นักเรียนใหม่’ เสียอีก… การงานหรือวัตถุที่ถึงแม้จะเปนทางโลก กล่าวคือยุ่งเหยิงเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าเรารู้จักมอง เราอาจพบธรรมที่ลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน…สิ่งเหล่านี้เปนบทเรียนที่เราจะต้องสอบผ่านไปให้ได้ เพื่อให้จิตต์ใจอยู่สูงกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีความสามารถรอบตัวในการเอาชนะโลก. (1 มีนาคม)

จวนเย็นฝนตก ขลุกขลักดี เปนรสชาติอันใหม่ หลังคารั่วพรูไม่มีที่หลบ… พวกที่ไปผูกไม้และตามช้างต้องเปียกซอมซ่อ หนาวและคัน กลับมาถึงที่พักก็ไม่มีที่แห้ง… พวกพระเณรหลายรูปนอนบนขอนซุงที่เปิดปีกแล้วโดยไม่มีอะไรมุงอิกตามเคยนอกจากจีวรที่คลุมตัว ทั้งนี้นับว่าเปนบทเรียนทางใจได้อย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อต่างคนต่างเห็นเพื่อนกันทนได้ ก็พลอยทนได้ไปด้วย ดูก็มีประโยชน์มากในการที่ได้ถูกเช่นนี้เสียบ้าง. (30 มีนาคม)

แล้วฝากท่านผู้สำเร็จราชการโคสนา “พุทธสาสนาสำหรับนักสึกสาหนุ่ม”

และเมื่อมีโอกาสหารือเรื่องแผนการขยายงานพระศาสนากับท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 18-19 และ 22 เดือนมิถุนายน 2485 แล้ว ท่านได้เลือกให้เรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก ส่งให้ช่วยโคสนา “พุทธสาสนาสำหรับนักสึกสาหนุ่ม” ดังในจดหมายลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2485 ถึงนายจำกัด พลางกูล เลขานุการของ ฯพณฯ ปรีดี  พนมยงค์ ด้วยคำโคสนาตอนหนึ่งว่า

“เพื่อนนักสึกสาหนุ่มทั้งหลายที่ยังไม่ทราบ โปรดทราบว่า ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ ‘วิญญาณแห่งชาวพุทธ’ ส่วนมากแห่งเมืองทองของเราที่ยังค่อนข้างจะ ‘สลัว’ อยู่ ได้มีโอกาสตื่นขึ้นบ้างตามนัยที่ควรนั้น เราได้จัดองค์การน้อยๆ ต่างๆ ขึ้นนับด้วย 10 ปีมาแล้ว และเท่าที่กำลังดำเนินอยู่ในบัดนี้ตามที่สามารถจะทำได้และที่ท่านควรทราบย่อๆ คือ… หนังสือพิมพ์ ‘พุทธสาสนา รายตรีมาส’ ออกสามเดือนครั้ง…คนะธัมทาน…เปนแหล่งกลางแห่งการติดต่อทางธุระการและสำนักงานหนังสือพิมพ์… หอสมุดธัมทาน สำนักงานน้อยๆ ที่ทำการฝ่ายวิชาการและหอสมุด…สวนโมกขพลาราม ที่ก่อกำเนิดกิจการฟื้นฟูความรู้และการปติบัติธรรม เปนที่อยู่อาสัยเฉพาะของภิกสุสามเณรผู้ยังทำการสึกสาค้นคว้าและแสวงสุข… ผู้ที่สนใจร่วมกันทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คือ ชาวคณะธัมทาน”

เลือดบ้าในหัวคนหนุ่มจะมีกี่มากน้อยในวันนี้นั้นไม่อาจประมาณถูก แต่ที่แน่ ๆ คือ ความอวดดีของพุทธทาสและคณะธรรมทาน ที่พัฒนาสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้กว่า 65 ปีแล้วนั้นเกินกว่าจะประมาณได้ ดังปรากฎในบันทึกตลอดปี 2485 กระบวนวิธีการทำงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวรายละเอียดตลอดทั้งปีที่มีสารพัดข้อคิด กิจที่ทำการศึกษาปฏิบัติ ตลอดจนแม้เหตุการณ์บ้านเมืองที่เพิ่งประกาศสงคราม การหารือกับท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน การขอเปลี่ยนชื่อ การสำรวจสถานที่เพื่อสร้างสวนโมกข์ปัจจุบัน จนแม้การพักผ่อน “เล่น” และ “วันแสนสุข” ที่ท่านว่าล้วน

“เปนบทเรียนที่เราจะต้องสอบผ่านไปให้ได้ เพื่อให้จิตต์ใจอยู่สูงกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีความสามารถรอบตัวในการเอาชนะโลก”

สมุดบันทึกลายมือท่านพุทธทาส

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กลับพุมเรียง สุราษฎร์ พุทธทาสภิกขุตัดสินใจไม่ถลำเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ


ข้อมูลจาก

บัญชา พงษ์พานิช. “เมื่อท่านพุทธทาสสร้างสโมสร เพื่อกรีดเลือดบ้าออกจากหัวคนหนุ่ม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2562