ตำนาน “ต้าอวี่” ผู้แก้น้ำท่วมยุคจีนโบราณนาน 13 ปีจนสำเร็จ รอดโดนประหาร

แม่น้ำ หวงเหอ
แม่น้ำหวงเหอช่วงน้ำลด โดย Carl Whiting Bishop, 1922 จาก "The Geographical Review" (volume XII, page 29)

ตำนาน “ต้าอวี่” ผู้แก้ “น้ำท่วม” ยุคจีนโบราณนาน 13 ปีจนสำเร็จ รอดโดนประหาร

กลุ่มชนที่ยิ่งใหญ่อย่างจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายยุคสมัยสืบเนื่องมาหลายพันปี หากย้อนกลับไปถึงยุคจีนโบราณที่เป็น “สังคมบุพกาล” นอกจากเรื่องราวของการรบพุ่งกันแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการย่อมเป็นเรื่องการบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมไปถึงเรื่องการรับมือกับธรรมชาติ ซึ่งในยุคก่อนความเป็นรัฐชาติจะเริ่มก่อตัวขึ้น มีผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมจนผู้คนยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งชนเผ่า

หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์และแหล่งอารยธรรมใต้ดินสามารถบ่งชี้ว่า เมื่อ 1,700,000-1,800,000 ปีก่อนมีมนุษย์โบราณอาศัยในหลายพื้นที่ในประเทศจีน กระทั่งเมื่อ 4,000-5,000 ปีก่อน นักประวัติศาสตร์รับรู้ข้อมูลสมัยนั้นว่าเป็นยุคของจักรพรรดิหวงตี้และเหยียนตี้ ซึ่งเริ่มมีการทำเกษตร และปศุสัตว์ สืบเนื่องมาถึงยุค 4,000 ปีก่อนซึ่งเป็นยุคของพระเจ้าเหยา ซุ่น และอวี่ ในระบบสมาพันธ์ชนเผ่าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ

หลี่เฉวียน ผู้รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จีนในยุคต่างๆ และผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” อธิบายว่า ยุคพระเจ้าเหยา ซุ่น และอวี่ เป็นยุคที่พัฒนากำลังการผลิตอย่างมาก ผลิตผลจากแรงงานมีเหลือเฟือ สังคมเริ่มแบ่งแยกเรื่องฐานะในวงศ์ตระกูลควบคู่กันไปกับวิทยาการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยุคนี้ใช้ดินอัดและหินมาสร้างกำแพงเมือง มีเครื่องใช้ และพระราชวังที่ยิ่งใหญ่กันแล้ว

ก่อนหน้าการ “สละราชบัลลังก์” ของเหยาและซุ่นนี้ (หัวหน้าสมาพันธ์ชนเผ่ายุคนี้ไม่ใช้ส่งต่อบัลลังก์ทางสายเลือด ยังใช้วิธีคัดเลือก) ชนเผ่าบริเวณลุ่มน้ำหวงเหอและฉางเจียงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เหยาเรียกประชุมสมาพันธ์ชนเผ่าเพื่อหาผู้นำที่จะเป็นคนแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยผู้นำ 4 เผ่า เสนอชื่อ กุ่น

กุ่นที่ได้รับมอบหมายแก้ปัญหาน้ำท่วมใช้วิธีสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แต่กั้นทางหนึ่งได้ อีกทางก็พัง ผ่านไป 9 ปีก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เหยาจึงส่งซุ่นไปตรวจสอบการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซุ่นเห็นว่ากุ่นหมดหนทาง และทำให้การจัดการล่าช้า สุดท้ายกุ่นต้องโทษประหารตามกฎชนเผ่า

หลี่เฉวียน เล่าว่า กุ่นไม่ได้แก้ตัว ไม่ได้อ้อนวอนสำหรับการให้อภัย เขาถูกจับมัดบนยอดเขาอวี่ซาน (คาดว่าปัจจุบันอยู่เมืองเผิงไหล มณฑลซานตง หรืออาจอยู่ในอำเภอตงไห่ มณฑลเจียงซู) และถูกตัดศีรษะ ส่วนร่างถูกโยนลงสู่เหวลึก

หลังจากนั้นที่ประชุมชนเผ่าเลือกเสนอชื่อ อวี่ ลูกชายของกุ่นมาสานต่อตำแหน่งผู้นำแก้ปัญหาน้ำ ตอนที่อวี่ ได้รับคำสั่ง เขาเพิ่งแต่งงานได้ 4 วันเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้โต้แย้ง อวี่รีบบอกลาถูซานซื่อ ภรรยาแล้วไปเป็นแนวหน้าแก้ปัญหาน้ำ

อวี่ต้องการเข้าใจความล้มเหลวของบิดา เขานำผู้ช่วยจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังพื้นที่ที่อุทกภัยร้ายแรงที่สุด วัดระดับความสูงของภูมิประเทศโดยใช้เสาไม้เป็นสัญลักษณ์ จากข้อมูลของผลสำรวจ เขาตัดสินใจเปลี่ยนวิธีสร้างเขื่อนกั้นน้ำซึ่งบิดาเขาเลือก มาใช้วิธีขุดคลองชักน้ำแทน นำผู้คนในชุมชนขุดลอกคูคลองเพื่อชักน้ำท่วมขังลงแม้น้ำฉางเจียงและหวงเหอแล้วดึงน้ำสู่ทะเล เขาใช้เวลาแก้ปัญหานี้ 13 ปี ตลอดระยะเวลานี้เขาเดินทางผ่านหน้าบ้านตัวเองโดยที่ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมเยียนเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้อวี่ ได้รับคำชื่นชม

นอกเหนือจากเป็นผู้นำการแก้ปัญหา อวี่ยังเป็นแรงงานด้วยตัวเอง เขาขนหินขุดดินทุกวันตลอดเวลา 10 ปีจนมือแข็งกระด้าง ยืนแช่น้ำยาวนานจนเล็บหลุด หน้าตาสกปรกมอมแมม เรียกได้ว่าขยันทำงานจนผู้ติดตามเห็นแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหล

หลี่เฉวียน อธิบายว่า รายละเอียดการทำงานยังมีเรื่องเล่าต่ออีกว่า อวี่ขุดคลองใหญ่มากมาย เจาะภูเขา ขุดลอกทางเดินน้ำของแม่น้ำหวงเหอ และสามารถบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยได้ในที่สุด โดยที่สมัยนั้นผู้คนใช้เครื่องมือที่ทำจากหินหรือไม้อย่างหยาบๆ การสร้างงานชลประทานขนาดใหญ่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ท่ามกลางการฝ่าฟันอุปสรรคอย่างยากลำบาก ยุคนั้นมีวีรบุรุษผู้แก้ปัญหาน้ำหลายราย แน่นอนว่า อวี่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เรื่องราวของเขาเป็นที่กล่าวขานสืบต่อกันมา

ความสำเร็จของอวี่ ทำให้เขาได้รับความเคารพ ถูกยกย่องว่าเป็น “ต้าอวี่” (อวี่ผู้ยิ่งใหญ่) ผู้คนดันให้เขาเป็นผู้นำสมาพันธ์ชนเผ่าต่อจากซุ่น หลี่เฉวียนบรรยายต่อว่า เล่ากันว่าอวี่แบ่งประเทศจีนเป็น 9 รัฐ ได้แก่ รัฐจี้, เหยี่ยน, ชิง, สวี, จิง, หยาง, เหลียง, อวี้ และยง

เผ่าที่อวี่เป็นผู้นำนั้นอาศัยตรงพื้นที่ต้นน้ำและตอนกลางของแม่น้ำหวงเหอ อาณาเขตเล็กกว่าทั้ง 9 รัฐข้างต้นมากพอตัว จึงคาดว่า 9 รัฐที่เอ่ยถึงเป็นผืนดินที่เกิดขึ้นหลังน้ำลด และถูกอวี่นำมาบริหารจัดการเป็นเขตปกครอง นอกจากเรื่องแก้ปัญหาน้ำ หลังจากนั้น อวี่ยังขยายขอบเขตอำนาจไปอีก โดยปราบปรามชนเผ่าบริเวณลุ่มน้ำเจียงฮั่น และพบปะผู้นำชนเผ่าอื่นๆ

หลังจากยุคอวี่ เป็นยุคของลูกชายที่เรียกว่า “ฉี่” และสถาปนาราชวงศ์เซี่ย (ประมาณ 2,072-1,600 ปีก่อนคริสตกาล) ใช้ระบบสืบราชสมบัติตามสายโลหิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2562