2 วัด กับ 1 โรงพยาบาล หลักฐานความเฟื่องฟูของ “หญิงหากิน” สมัยรัชกาลที่ 5

เยาวราช แหล่งรวมสินค้าต่างๆ จากเมืองจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายย่าน เยาวราช แหล่งรวมสินค้าต่างๆ จากเมืองจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

หญิงหากิน, หญิงคนชั่ว, โสเภณี ฯลฯ หรืออีกหลายชื่อที่เรียกกันในแต่ละยุคว่า และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปขนาดไหน อาชีพเก่าแก่นี้ยังคงอยู่เรื่อยมาก แม้จะไม่มีการเสนอตัวเลขมูลค่าทางการตลาดของธุรกิจนี้อย่างเป็นทางการ แต่สังเกตได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการนี้เฟื่องฟู

หากสำนักหญิงหากินที่ขึ้นชื่อว่าดี และดังมักจะเป็นย่านสำเพ็ง เยาวราช  

ที่ตรอกเต๊า (เยาวราชซอย 8 ) เป็นที่ตั้งสำนักดังแห่งยุค คือ โรงหญิงหากินของยายแฟง ที่เปิดกิจการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยายแฟงมีลูกสาวชื่อ กลีบ ต่อมามารับช่วงกิจการแทนยายแฟง เรียกโรงแม่กลีบ

เหตุที่ทำไมโรงยายแฟง โรงแม่กลีบถึงมีชื่อเสียง นั่นเพราะใช้ของดีมีคุณภาพ ห้องของบรรดาสาวๆ แต่ละคนตกแต่งอย่างกับห้องลูกสาวคหบดีก็ว่าได้  คือมีม้าคันฉ่องตั้งพานเครื่องแป้งถม, โถถมปริกทอง, ยันน้ำถม และกระโถนเงิน ส่วนที่หลับที่นอนหมอนมุ้งก็ขาวสะอาดน่านอน ฯลฯ เรียกว่าโรงอื่นๆ สู้ไม่ได้

โรงอื่นที่รองๆ ลงมาในย่านนี้ ก็มี โรงแม่อิ่มขาว ดังที่สุดตรอกโรงโคม (ข้างๆ โรงเรียนเผยอิง), หลังวัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) มีโรงแม่สุด ที่ขึ้นชื่อว่าสาวงาม และโรงเตี่ยเม่งฮวด ที่นี่สาวๆ ร้องงิ้วอย่างกับดารางิ้วเป็นที่ถูกใจของนักเที่ยว, แม่ทับทิมเป็นเจ้าใหญ่ในตรอกอาจม นอกจากนี้ก็ยังมีโรงหญิงคนชั่วที่ไม่ทราบชื่อเจ้าสำนักในตรอกเจ้าสัวเนียม (ตรอกอิศรานุภาพ), ตรอกโพธิ์, ตรอกญวน (ใกล้สามแยกแถวโรงภาพยนตร์นิวโอเดียน), วงเวียน 22 กรกฎา ฯลฯ

กิจการโรงหญิงหากินเฟื่องฟูมากจนมีการจัดเก็บภาษี ในพิกัดท้องตราอาการเรือนโรงร้านหมายเลขที่ 5 กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“กำหนดที่จะเก็บอาการเรือน โรง ร้าน ตึก แพนั้น ถ้าเป็นเรือน โรง ร้าน ตึก แพในกรุงเทพฯ ที่ให้เช่าไว้สินค้าแลตั้งบ่อนเล่นเบี้ย เขียนหวย หรือคนเช่าอยู่ก็ดี หรือไม่ได้เช่าเป็นแต่เอาไว้สินค้าของตัวเองก็ดี และเรือนโรง ร้าน ตึก แพ หญิงหาเงินเหล่านี้ อยู่ในท้องที่โปลิศลาดตระเวน ก็ให้เทียบเก็บอากรเหมือนค่าเช่าคือ 12 ชักหนึ่งกึ่ง ถ้าไม่ได้อยู่ในท้องที่โปลิศลาดตระเวน ก็ให้นายอากรเก็บอากรเพียง 12 ชัก 1 เท่านั้น ถ้าอยู่แถวท้องตลาดปะปนอยู่ในระหว่างโรง ร้าน ตึก แพที่มีสินค้าขาย ต้องเรียกอากรเท่ากับโรง ร้าน ตึก แพมีสินค้าเหล่านั้นเหมือนกัน”

ส่วนตัวหญิงขายบริการเองก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน โดยพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 กำหนดว่า หญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคา12 บาท มีอายุ 3 เดือน เงินจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงมากในสมัยนั้น

นอกจากนี้โรงหญิงหากินชื่อดัง กิจการดีแห่งยุคนั้น ยังมั่งมีจนสร้างวัดถึง 2 แห่ง ยายแฟงสร้างวัดที่ตรอกวัดโคก (ปัจจุบันคือถนนพลับพลาไชย) เรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ตามนามผู้ออกทุนทรัพย์ให้สร้างคือ ยายแฟง ร่วมกับเหล่าหญิงงามเมืองในสํานักจัดสร้าง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดคณิกาผล”

รูปหล่อ “ยายแฟง” ผู้ออกทุนทรัพย์ให้สร้าง “วัดคณิกาผล” ภายในอาคารหลังอุโบสถวัดคณิกาผล

ภายหลังแม่กลีบลูกสาวยายแฟงมาดูแลกิจการต่อ แม่กลีบก็เป็นคนใจบุญสุนทานเช่นเดียวกับยายแฟง จึงสร้างวัดขึ้นอีกแห่งที่ตรอกเต๊า ตั้งชื่อว่า “วัดกันมาตุยาราม” ตามชื่อลูกชายของแม่กลีบ วัดของแม่กลีบพระจีนอุปนันทะโกจากวัดโสมนัสวิหารไปเป็นสมภาร เมื่อ พ.ศ. 2419 แต่ท่านสมภารอยู่ได้ 4 พรรษา ก็ต้องย้าย เพราะทนเสียงหนวกหูจากพวกหญิงโสเภณีที่ขับกล่อมและทะเลาะเบาะแว้งกัน ตลอดจนเสียงโวกเวกของพวกอันธพาลทุกคนไม่ไหว

นอกจากนี้เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลในยุคบุกเบิก ก็มีโรงพยาลสำหรับ“หญิงโสเภณี”ด้วย ในบทความ “100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461 – 2561)” ระบุว่า

“…เมื่อมิชชันนารีตะวันตกนำการแพทย์สมัยใหม่มาเผยแพร่จึงมีการสร้างโรงพยาบาลขึ้น เช่น โรงพยาบาลของ มิชชันนารีที่เพชรบุรี สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2423 ในส่วนของรัฐบาลไทย นอกจากจะมีการก่อสร้างศิริราชพยาบาลขึ้น เป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรก ใน พ.ศ. 2431 แล้ว ต่อมายังได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลเสียจริต (สมเด็จเจ้าพระยา) โรงพยาบาลบูรพา และโรงพยาบาลเทพศิรินทร์ ใน พ.ศ. 2432 โรงพยาบาลทหารเรือ วัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ. 2433 โรงพยาบาลบางรัก พ.ศ. 2432 โรงพยาบาลหญิงหาเงิน พ.ศ. 2440…” [เน้นโดยผู้เขียน]

โรงพยาบาลแห่งนี้  ตั้งขึ้นเพื่อรับรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค คือรับตรวจและรักษาบรรดาหญิงคนชั่วเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกชื่อว่า “โรงพยาบาลหญิงหาเงิน”เช่นนี้ที่ตั้งของโรงพยาบาลจึงไม่ไกลจากสำเพ็งซึ่งเป็นแหล่งกิจการสำคัญของหญิงคนชั่วเท่าใด คืออยู่ที่ถนนหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงจากสำนักต่างมารักษาตัวไม่ต้องเดินทางไกลนักและเป็นการป้องกันการระบาดของโรคด้วย ภายหลังได้รับรักษาคนทั่วๆ ไปมากขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อให้ตรงกับความรับผิดชอบใหม่ว่า “โรงพยาบาลกลาง” เมื่อ พ.ศ. 2458

ถามว่าเหตุใดกิจการหญิงคนชั่วในสำเพ็งจึงรุ่งเรื่องกว่าที่อื่น

เพราะสำเพ็งและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบในช่วงเวลานั้นเป็น “ศูนย์กลาง” ของธุรกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าปลีกค้าส่งสินค้าเกือบทุกประเภท, เป็นที่ตั้งของธุรกิจการเงินสำคัญทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย, เป็นที่ตั้งของกิจการการค้าของชาวต่างชาติ เมื่อเสร็จจากธุรกิจการงานแล้ว สำเพ็งก็เป็นแหล่งบันเทิงทั้งกลางวันและกลางคืน มีตั้งแต่ร้านอาหารชื่อดัง โรงหวย โรงบ่อน โรงแรม ฯลฯ

ในทศวรรษที่ 2420-2450 เมื่อ “คลับ” “บาร์” (Bar) ถูกใช้เรียกแทนโรงหญิงโสเภณีชั้นดี มีลักษณะคล้ายกับสถานกินดื่มสาธารณะและสถานเริงรมย์ที่มีหญิงสาวไว้คอยบริการลูกค้า สะท้อนถึงความแพร่หลายของกิจการ ประเวณีในกรุงเทพฯ ยามค่ำคืนที่ได้ขยายออกนอกเขตสําเพ็ง  ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของเมือง ดังเช่น ย่านบางรักเพื่อบริการลูกค้าชาวตะวันตกและย่านวรจักรสําหรับลูกค้าคนไทย แต่สําเพ็งก็ยังคงครองพื้นที่กิจการค้าประเวณีขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ

ส่วนในยุคปัจจุบันสถานเริงรมย์ยามค่ำเหล่านี้จะย้ายไปสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และย่านถนนรัชดาภิเษกตามลำดับ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต, ห้างหุ้นส่วนอักษรบัณฑิต 2518

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน  2551

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี, สำนักพิมพ์มติชน 2557

บทความ “100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461 – 2561)” จัดทำโดย หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพสำนักวิชาการสาธารณสุข  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562