พระใหญ่ไดบุตสุ “พระรอด” แห่งญี่ปุ่น กับต้นสน 2 รัชกาล

พระใหญ่ไดบุตสุ ญี่ปุ่น
(ซ้าย) วันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1931 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองคามากุระ เพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปไดบุตสุ (ภาพถ่ายจาก หนังสือ ประมวลฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่7) (ขวา) พระพุทธรูปไดบุตสุ ภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 (ภาพโดย Jack Mitchell)

“พระใหญ่ไดบุตสุ” แห่งเมืองคามากุระ ประเทศญี่ปุ่น สถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยคนไหน ๆ ไปญี่ปุ่น ก็จะต้องไปแวะไปชม เนื่องจากมีชื่อเสียงที่โด่งดังเรื่องความยิ่งใหญ่และสวยงาม อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากโตเกียว เดินทางกันไปได้ง่าย ๆ

พระใหญ่ไดบุตสุ (Great Buddha of Kamakura) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสมบัติของชาติเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของญี่ปุ่น กล่าวคือมีความสูงถึง 11.3 เมตร  ประดิษฐานอยู่ที่วัดโคโตกุอิน พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1252 นับแล้วก็มีอายุถึง 764 ปี!

เรื่องราวกว่าจะมาเป็นพระใหญ่ไดบุตสุเริ่มต้นจากนางกำนัลของโชกุนโยริโมโตะคนหนึ่งซึ่งมีจิตศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ได้มีความคิดที่อยากจะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ จึงตัดสินใจออกเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อระดมเงินทุนนำมาสร้างพระพุทธรูปสำริดองค์นี้

แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าพระใหญ่ไดบุตสุประดิษฐานอยู่ที่โล่งกลางแจ้งตากแดดตากฝน แต่อันที่จริงแล้ว ในแรกเริ่มเดิมทีนั้นองค์พระถูกสร้างให้ประดิษฐานอยู่ในตัวอาคารวัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน ค.ศ. 1498 ทำให้ตัวอาคารวัดถล่มลงมา หลงเหลือแต่พระพุทธรูปที่ยังสามารถยืดหยัดอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

เรียกได้ว่าเป็น “พระรอด” ของแท้ เพราะแม้แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวอันรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1923 ก็ยังไม่สามารถทำอะไรพระพุทธรูปองค์นี้ได้ จะมีที่เสียหายบ้างก็แค่ส่วนฐานองค์พระเท่านั้นเอง

ในปัจจุบันนี้พระพุทธรูปไดบุตสุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่แม้แต่คนที่ไม่เคยไปญี่ปุ่นก็อาจจะเคยเห็นรูปขององค์พระผ่านตาบ้างจากโฆษณาขายทัวร์ต่าง ๆ ทั้งนี้เรื่องความดังและความยิ่งใหญ่ของพระใหญ่องค์นี้น่าจะไม่ได้เพิ่งเป็นกระแสในสมัยปัจจุบันที่คนไทยคนไหน ๆ ก็อยากจะไปญี่ปุ่น แต่น่าจะเป็นที่ร่ำลือมานานแล้ว เพราะแม้แต่รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เองก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการพระพุทธรูปองค์นี้เช่นกัน

นอกเหนือจากการเสด็จมาทรงนมัสการแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังได้ทำการปลูกต้นสนไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยทุกวันนี้ต้นสนที่รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ยังยืนต้นแข็งแรงอยู่เรื่อยมา หากใครได้ไปเยี่ยมชมพระใหญ่ไดบุตสุ ที่เมืองคามากุระแล้วก็อย่าลืมมองหาต้นสนที่ปลูกโดยกษัตริย์ไทย

สำหรับการสังเกตว่าต้นสนต้นไหนเป็นต้นสนทรงปลูกนั้นให้สังเกตป้ายหินสลัก โดยต้นสนที่รัชกาลที่ 6 ทรงปลูกอาจสังเกตง่ายกว่าต้นของรัชกาลที่ 7 อยู่เล็กน้อย เพราะมีสลักบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นด้านหน้า และมีแปลเป็นภาษาอังกฤษตัวเล็ก ๆ สลักอยู่ที่ด้านหลังป้ายหิน

โดยภาษาอังกฤษนั้นสลักไว้ว่า “Pine Tree planted by H.I.H Prince of Siam in memorial of his visit here Dec. 27 .1902.” หมายถึง “ต้นสนที่ปลูกโดยเจ้าฟ้าแห่งสยาม เป็นที่ระลึกในการเสด็จเยือน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1902”

สำหรับต้นสนทรงปลูกในรัชกาลที่ 7 นั้นอาจจะต้องเป็นผู้ที่รู้ภาษาญี่ปุ่นจึงจะหาเจอง่ายหน่อย เพราะป้ายหินที่บอกข้อมูลว่าใครเป็นผู้ปลูกนั้นสลักเป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียว แปลได้ว่า “ต้นสนทรงปลูกโดยพระเจ้ากรุงสยาม ที่ระลึกในโอกาสเสด็จเยือน ณ ที่นี้ เมื่อ 9 เมษายน ค.ศ. 1931” พระเจ้ากรุงสยามในช่วง ค.ศ. 1931 หรือ พ.ศ. 2474 นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

McArthur, Meher. Stillness and Strength: The Great Buddha of Kamakura. The Global Buddhistdoor. 15 Nov 2018. <https://www.hollywoodreporter.com/news/box-office-bohemian-rhapsody-soars-50m-bow-nutcracker-bombs-1157967>

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “คามากูระ และต้นสนสองรัชกาลแห่งสยาม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2528)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2562