
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การอาบแดดในเมืองไทยไม่อยากจะเชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีมานมนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 8 แล้ว แต่คงบอกไม่ได้ว่าเป็นที่นิยมเหมือนอย่างในเมืองฝรั่ง และผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอาบแดดของไทยในยุคแรกก็คือ “สลิล ฟูไทย”
ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์การอาบแดดในเมืองไทยนี้ เอนก นาวิกมูล ได้รวบรวมมาเล่าในสำนวนที่สนุกสนานอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือ แรกมีในสยาม 2 โดยในการเล่าถึงประวัติการอาบแดดนี้ก็จำเป็นต้องท้าวความไปถึงชีวิตของสลิล ฟูไทย ชายผู้หลงไหลในสรรพคุณการอาบแดดจนได้แปลและเรียบเรียงหนังสือคู่มือการอาบแดดที่มีชื่อว่า “คู่มือบำรุงความงาม หรืออาบแดด” ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงการรับวัฒนธรรมการอาบแดดเข้ามายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก (เพราะยังไม่เจอหลักฐานเกี่ยวกับการอาบแดดในเมืองไทยที่เก่าไปกกว่านี้)
สลิล ฟูไทย เป็นใคร?
ชีวิตของสลิล ฟูไทย นี้เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา อย่างที่ เอนก นาวิกมูล ได้บรรยายไว้ว่ามีความ “ประหลาด” “ผาดโผน” และ “พิศวง”
สลิล ฟูไทย เป็นชาย 5 แผ่นดิน เพราะเกิดในรัชกาลที่ 5 และเสียชีวิตในรัชกาลที่ 9 เมื่ออายุได้ 77 ปี แต่เดิมนั้นชื่อ “เปลื้อง” แต่ในวันหนึ่งขณะยังเด็ก พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญาบังเอิญทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็ทรงชอบพระทัยและทรงขอไปเลี้ยงเป็นลูก เปลื้องจึงกลายไปเป็นเด็กวังพร้อมกับได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วารี”
แต่ต่อมาไม่นานชื่อวารีก็ได้เปลี่ยนเป็น “สลิล” เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า วารี เป็นชื่อของผู้หญิง อีกทั้งยังฟังดูคล้ายกับพระนามเสด็จอาของพระองค์ ดังนั้นแล้วรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “สลิล” ที่แปลว่าน้ำเหมือนกัน
พอสลิลเติบโตได้สักอายุ 8 ขวบก็ออกจากวังไปเรียนหนังสือที่บ้านนอก และเมื่ออายุได้ 15 ปีก็นั่งรถไฟกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง ซึ่งหลังจากนั้นช่วงชีวิตของสลิลก็ดำเนินเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนชายไทยทั่วไปคือ เข้าเรียนหนังสือ บวชพระ ทำงานราชการ ลาออกจากงานราชการมาเปิดธุรกิจส่วนตัว
แม้ว่าในระหว่างช่วงชีวิตที่ดูเหมือนจะธรรมดาของสลิลนั้นจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย แต่ในช่วงวัยที่ดูเหมือนจะทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นคือในช่วงที่ได้ผันตัวมาเป็นนักเขียน “ตำรากามศาสตร์” ด้วยเหตุว่าในขณะที่ทำงานหนังสือพิมพ์นั้นได้รู้จักสนิทสนมกับนางละคร นางระบำ หรือแม้กระทั่งนางโสเภณีมากหน้าหลายตา จึงมีโอกาสได้เรียนรู้ถึงเคล็ดลับการครองคู่ เรียนรู้ประเภทของผู้หญิงมากมาย จึงอยากจะตีพิมพ์เผยแพร่สิ่งที่ตนรู้เป็นตำราทางโลก เพื่อช่วยเหลือสังคมให้มีความเข้าใจในเรื่องชีวิตสมรสจะได้ไม่ต้องดำเนินชีวิตคู่ไปตามเวรตามกรรม
ตำราอาบแดด

นอกเหนือตำรากามศาสตร์ทั้งหลายแหล่ที่สลิลได้ตีพิมพ์ออกจำหน่าย ซึ่งก็พบว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่านี้แล้ว สลิลก็ยังได้แปลและเรียบเรียงหนังสือซึ่งกล่าวถึงประเด็นที่เขาเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อคนไทยเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “คู่มือบำรุงความงาม หรืออาบแดด” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 เป็นจำนวนทั้งหมด 4,000 เล่ม
ซึ่งเมื่อนำออกขายก็พบว่ามีผู้สนใจมาก ทำให้สลิลซึ่งรู้ถึงสรรพคุณของการอาบแดดเป็นอย่างดีมีความหวังที่จะก่อตั้ง “สมาคมอาบแดด” หวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองในสังคม
เมื่อมีความหวังดังนั้นแล้วสลิลก็ได้จัดการทำเรื่องของอนุญาตจัดตั้งสมาคมอาบแดดอย่างเป็นทางการ แต่ความหวังก็ต้องดับลง เมื่อทางราชการเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่ถึงกระนั้นสลิลก็ยังได้เห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เพราะถึงแม้ว่าราชการจะตอบปฏิเสธแต่ก็อนุญาตให้สลิล “เอารั้วสังกะสีมากั้นแก้ขัด” ได้
ทั้งนี้สลิลก็ได้วาดฝันไว้ว่่าจะสร้าง “นิคมอาบแดด” ที่มีคู มีสระน้ำ ต้นไม้ ดอกไม้ พร้อมกับมีเหล่าสมาชิกชาวนิคมพักผ่อนหย่อนใจ อาบ “แสงอุลตราไวโอเลต” ในยามเช้า มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นจากการมาเยี่ยมเยือนนิคมนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้รัฐเห็นถึงข้อดีและอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมอาบแดดได้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ชุดว่ายน้ำ” ในประวัติศาสตร์การโชว์เนื้อหนังมังสาเพื่อกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ
- รถไฟ-ชาววัง-ไฮโซ ปัจจัยสำคัญสร้าง “หัวหิน” เป็นเมืองตากอากาศ
อ้างอิง :
เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม 2. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2534
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561