“กลาโหม” แปลว่า “สถานบูชาไฟ” ทำไมมาเป็นชื่อกระทรวง?!?!

ตึก กระทรวงกลาโหม สีขาว
ตึกกระทรวงกลาโหม

เป็นปัญหามาช้านานว่าทำไม กระทรวงการป้องกันประเทศของสยามจึงเรียกว่า “กระทรวงกลาโหม” กึ่งเขมร-กึ่งสันสกฤต

คำ กลา (หรือกะลา) เป็นคำเขมร (และทมิฬ) แปลว่า “สถาน”

คำ โหม เป็นสันสกฤตหมายถึงการ “โหมกูณฑ์” หรือ “บูชาไฟ”

ทำไมที่บัญชาการของทหารต้องเรียกว่า “สถานบูชาไฟ” ? 

ผมพบคำตอบในหนังสือ Ancient Indian Rituals and Their Social Contents ของ N.N. Bhattacharyya ที่แฉถึงสภาพที่แท้จริงของสังคมอารยันในสมัยพระเวท

ประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอารยันในอินเดียเหนือมีวัฒนธรรมที่พอเทียบได้กับวัฒนธรรมของอินเดียนแดงในหนังคาวบอย คำ “สงคราม” ในพระเวทหมายถึง การปล้นวัว ปล้นม้า คล้ายกับการปล้นกันของอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือ

นั่นคือ ก่อนจะออกปล้นนั้น พระราชา (แม่ทัพ, ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้) จะเรียกประชุมชายฉกรรจ์ รอบกองไฟกลางบ้าน เพื่อปรึกษาแผนการรบในวันพรุ่ง พร้อมทั้งให้หมอผี (พราหมณ์) บูชาไฟหาลางว่าทำอย่างไรถึงจะปล้นได้สำเร็จ

นี่แหละคือต้นตอของ “กระทรวงพระกลาโหม” ที่บัญชาการทหารรอบกองไฟกลางบ้าน

ที่อัศจรรย์ยิ่งคือ ชาวสยามได้รักษาคำ “กลาโหม” ไว้ จึงนำมาเทียบกับหลักฐานสมัยพระเวทได้ แต่คำคำนี้สาบสูญจากภาษาในอินเดีย หากจะศึกษาวัฒนธรรมอินเดียให้ครบวงจรแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็จำเป็นจะต้องรับรู้หลักฐานที่ชาวสยามรักษาไว้

หากชาวอินเดียอยากรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ก็เห็นจะต้องมางมหลักฐานในสยามนี้แล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2562