“ตะแลงแกง” คำนี้มาจากไหน? ไฉนจึงเป็น “แดนประหาร”?

ตะแลงแกง

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ตะแลงแกง” คนไทยทั่วไปมักนึกถึง “แดนประหาร” แท้จริงคำว่าตะแลงแกงในความหมายเดิมไม่ได้หมายถึง “แดนประหาร” แต่ประการใด ถ้าอย่างนั้นคำว่าตะแลงแกงในภาษาไทย มีที่มาจากภาษาใด มีความหมายดั้งเดิมในภาษานั้นอย่างไร?

“ตะแลงแกง” เป็นคำเขมรที่ไทยยืมมาใช้ มาจากคำ “ตฺรแฬงแกง” ออกเสียง “ตรอแลงแกง” พจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับของพุทธศาสนบัณฑิตย์ กรุงพนมเปญ ให้ความหมายว่า “ที่มี 4 หน้า หรือที่แยกเป็น 4 (ชื่อปราสาท, วิหาร, หนทาง)” เช่น “ปฺราสาทตฺรแฬงแกง” แปลว่า “ปราสาทจตุรมุขที่มีมุขสี่ด้าน” หรือในคำว่า “ผฺลูวตฺรแฬงแกง”

วัดตฺรแฬงแกง” เป็นวัดโบราณตั้งอยู่กลางเมือง “ละแวก” เดิมวัดนี้น่าจะเป็นศาสนสถานของเขมรตั้งแต่สมัยเมืองพระนคร ก่อนเขมรจะย้ายมาตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ละแวก เมื่อเจ้าพญาจันทราชา (พระองค์จันท์) ย้ายเมืองหลวงเขมรมาตั้งอยู่ที่เมืองละแวก ก็โปรดให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนี้

ด้วยเหตุที่สร้างเป็นวิหารมีมุขสี่ด้าน จึงให้ชื่อว่า “พระวิหารจัตุรมุขมหาปราสาท” ตรงกับชื่อที่เรียกกันทั่วไปแพร่หลายว่า “วัดตฺรแฬงแกง” เนื่องจากมีวิหารสร้างเป็นมุขมีสี่ด้าน ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาบันทึกไว้ว่า ในวิหารจตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสสูง 18 ศอก ถึง 4 องค์ หันพระพักตร์ไปตามทิศต่าง ๆ พระบาทสร้างจากศิลา

วัดตฺรแฬงแกง กลางเมืองละแวก เป็นวัดโบราณที่มีวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารสทั้ง ๔ ทิศ ชื่อของวัดจึงเป็นที่เรียกกันแพร่หลายด้วยเหตุนี้

ต่อมาเมื่อกรุงละแวกแตก วิหารหลังนี้ถูกทำลาย และน่าจะบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพนมเปญ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่ิองปางห้ามสมุทรแทนพระอัฏฐารส โดยยังคงหลงเหลืออยู่จนปัจจุบัน รวมทั้งชื่อ “วัดตฺรแฬงแกง” ด้วย

จะเห็นได้ว่าความหมายของตะแลงแกงในภาษาเขมร เป็นความหมายถึง “สิ่งที่เป็นแยกเป็นสี่ หรือที่มี 4 หน้า” ทั่วไป ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็น “แดนประหาร” เท่านั้น แสดงว่าการเลื่อนความหมายของคำว่า “ตฺรแฬงแกง” จากสิ่งที่ “แยกเป็นสี่หรือสี่หน้า” มาเป็น “แดนประหาร” ก็น่าจะเกิดในภาษาไทยนี่เอง

เมื่อไทยรับคำว่า “ตฺรแฬงแกง” (ตรอแลงแกง) มาใช้ ได้มีการเปลี่ยนรูปคำและการออกเสียงไปบ้าง เป็น “ตะแลงแกง” ความหมายในตอนแรกนำมาใช้น่าจะยังตรงกับความหมายในภาษาเขมร คือแปลว่า “ที่มีทางแยกไปสี่ทาง, ทางสี่แพร่ง” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สี่แยก”

ถนนตรงหน้าคุ้มขุนแผน ก็มีลักษณะทางเป็น ๔ แพร่ง สมัยอยุธยาเรียกกันว่า ถนนตะแลงแกง

หลักฐานของการใช้คำว่าตะแลงแกงในความหมายว่าสี่แพร่งนั้นพบได้ในกฎหมายตราสามดวง เช่น กฏหมายพระไอยการลักษณะผัวเมีย (พ.ศ. 1904) กล่าวว่าหากหญิงใดมีชู้ “…หญิงนั้นให้โกนศีศะเปนตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน…” 

เหตุต่อมาที่ความหมายของตะแลงแกงเลื่อนไปเป็น “สถานที่ประหาร” น่าจะเนื่องมาจากในสมัยโบราณ สถานที่สำหรับประหารนักโทษประจานคือ “สี่แยก” หรือ “ตระแลงแกง” เช่น ความในกฎหมายพระไอยการลักขณโจรว่า “…ถ้าลักเส้นผักฟักถั้วเปดไก่…พิจารณาเปนสัจท่านว่าคือโจร ให้มัดประจานไปตะแลงแกงตีด้วยไม้หวาย 50 ที…” 

ดังนั้นต่อมาเมื่อใช้คำว่า “ตะแลงแกง” ก็เป็นที่ปักศีรษะเสียบประจาน เช่น กฎหมายพระไอยการลักขณโจร กล่าวถึงการลงโทษโจรปล้นบ้านว่า “…แล้วให้ฆ่าโจรแลพวกโจรซึ่งลงมือ ตัดศีศะเสียบไว้นะตะแลงแกง…” หลักฐานที่ยืนยันว่าคำนี้เลื่อนความหมายมานานแล้วคือ พจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ หรือหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ได้ให้ความหมายคำว่าตะแลงแกงไว้ว่า “เป็นชื่อสำรับเปนที่ฆ่าคน” และใช้ในความหมายนี้เพียงความหมายเดียว (ไม่อธิบายว่าหมายถึงทางสี่แพร่ง)

แสดงว่าเมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คำว่าตะแลงแกงได้เลื่อนความหมายแล้ว จึงใช้ในความหมายนี้ต่อมาจนปัจจุบัน โดยลืมนึกไปว่าเดิม “ตะแลงแกง” หมายถึง “ทางสี่แพร่ง, สี่แยก” ธรรมดา ๆ นี่เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2561