ทำไมสำนวนไทยถึงใช้ “เกลือ” แทนความอึด ความทน? ทำไมต้องเป็นเกลือเค็มๆ?

เกลือ ความอึด ความทน สำนวนไทย
"เกลือ" ที่ใช้แทนความอึดความทนในสำนวนไทย (ภาพจาก matichon.co.th)

สำนวนไทยที่บอกกล่าวให้อดทน กับความยากจน, ความลำบาก ที่มีคำว่า เกลือ ซึ่งคนคุ้นเคยว่า “ให้ทนกัดก้อนเกลือกิน” บ้าง “ให้รักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็ม” บ้าง คงได้ยินกับมาจนคุ้นเคย ว่าแต่ทำไมใช้ เกลือ รสเค็มๆ แทนความอดทนอดกลั้น

อาจสันนิษฐานไปได้หลากหลายประเด็น แต่อยากเสนอให้ท่านอ่านข้อมูลเรื่องนี้ของ มาร์ก เคอร์ลันสกี (Mark Kurlansky) ในหนังสือ ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ (Salt: A World History) แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร (สำนักพิมพ์มติชน, 2551)

เคอร์ลันสกีค้นความเอกสารวิชาการ, บทความ ฯลฯ ด้านอาหาร, ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จำนวนมาก สังเคราะห์และวิเคราะห์ถึงการใช้เกลือเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้

คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของเขาใช้ตอบคำถามว่า ทำไมต้องทนกัดก้อนเกลือกิน เพราะว่า

“เกลือ เป็นศัพท์ทางเคมีของสารที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดกับด่าง เมื่อโซเดียมซึ่งเป็นโลหะที่ไม่เสถียรและสามารถลุกเป็นไฟได้ทันที ทำปฏิกิริยากับก๊าซที่มีพิษถึงชีวิตที่รู้จักกันว่าคลอรีน กลายเป็นโซเดียมคลอไรด์- NaCI ซึ่งเป็นอาหารสำคัญ ได้จากหินแร่จำพวกเดียวที่มนุษย์นำมากิน เกลือมีหลายชนิด ส่วนหนึ่งกินได้และมักจะพบอยู่ด้วยกัน

แต่เกลือที่เราชอบกินมากที่สุดคือโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีรสชาติที่เรียกว่าเค็ม เกลือชนิดอื่นมีรสเฝื่อนหรือเปรี้ยวไม่น่ากิน แม้จะมีคุณค่าทางอาหารสำหรับมนุษย์… ประกอบด้วยเกลือ 3 ชนิดคือแมกนีเซียมคลอไรด์ โพแทสเซียมคอลไรด์ และโซเดียมคลอไรด์

คลอไรด์จำเป็นต่อการย่อยอาหารและการหายใจ หากปราศจากโซเดียม ร่างกายจะไม่สามารถทำกิจกรรมได้ ไม่สามารถขนส่งสารอาหารหรือออกซิเจน ไม่สามารนำส่งการกระตุ้นประสาทหรือเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อรวมทั้งหัวใจ ในร่างกายของมนุษย์ที่โตเต็มวัยประกอบด้วยเกลือราว 250 กรัม…”

อ่านไปอีกนิดเคอร์ลันสกีกล่าวถึงความซื่อสัตย์และมิตรภาพระหว่างเกลือกับผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรมว่า

“เพราะเนื้อแท้ของเกลือไม่เปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งละลายเป็นของเหลวก็ยังระเหยกลับมาเป็นผลึกสี่เหลี่ยมได้ ศาสนาอิสลามและจูดายใช้เกลือประทับสัญญาซื้อขาย เพราะเกลือไม่มีวันเปลี่ยนแปลง กองทหารอินเดียใช้เกลือเป็นหลักประกันความจงรักภักดีต่ออังกฤษ อียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน มีเกลือรวมอยู่ในเครื่องสังเวยและเครื่องเซ่นไหว้ ผู้คนวิงวอนพระเจ้าด้วยเกลือและน้ำ และมีความเชื่อว่านี่คือที่มาของน้ำมนต์ของชาวคริสต์”

และแน่นอนเราเองก็มีสำนวนว่า “รักษาความดีดุจเกลือรักษาความเค็ม”

นี่คงเป็นความเป็นสากลของเกลือ ที่หลายวัฒนธรรมใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562