“ฟานิค” พ่อของ “มารี กีมาร์” ไม่ใช่แขกขายผ้า!?

ฟานิค พ่อ มารี กีมาร์ ท้าวทองกีบม้า ละคร บุพเพสันนิวาส
ภาพฉากตอนหนึ่งจากละครบุพเพสันนิวาส ออกอากาศทางช่อง 3

มารี กีมาร์ ที่คนไทยรู้จักในกันในชื่อ ท้าวทองกีบม้า ผู้คิดค้นสูตรขนมหวานตระกูลทองต่างๆ ไม่ว่าจะทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ ว่ากันว่าเป็นลูกของ ฟานิค ผู้เป็นพ่อ ที่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสกับญี่ปุ่น

บันทึกความทรงจำของ บาทหลวง เดอ แบส กล่าวถึงย่าของมารี กีมาร์ ว่าเกิดในญี่ปุ่น มีชื่อว่า ซิญอร่า อิกเนซ มารแต็งซ์ มีแม่เป็นญี่ปุ่นพ่อน่าจะมีเชื้อโปรตุเกส  ย่าของเธอเกิดในครอบครัวโรมันคาทอลิก ต่อมาญี่ปุ่นมีการปราบปรามคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง ย่าของมารีถูกจับมาเมืองท่านางาซากิ ได้พบกับชายหนุ่มคนรัก ทั้งสองแต่งงานกันแล้วเดินทางออกจากญี่ปุ่นไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่สามารถรักษาศรัทธาทางศาสนาไว้ได้ที่เมืองไฟโฟ (ฮอยอัน) เวียดนามกลางที่มีชุมชนการค้าทางทะเลของญี่ปุ่นอยู่ ทั้งคู่ทำกิจการค้าและเป็นครอบครัวที่มีอันจะกิน มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อฟานิค (Phanick) ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา มีอาชีพการค้า

ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวถึง ฟานิค บิดาของมารี กีมาร์ ไว้ว่า “ฟานิค ไม่ใช่แขกโพกหัวที่มีอาชีพขายผ้าในตลาด หากแต่ดูแลกิจการของครอบครัวที่น่าจะสัมพันธ์กับการค้าทางเรือสำเภากับต่างแดน และมีฐานะมั่งคั่งพอควร ฟานิคผู้นับถือโรมันคาทอลิกปฏิเสธที่จะยกบุตรสาวให้กับฟอลคอน ด้วยฟอลคอนไม่ได้เป็นคริสตังแบบโรมันคาทอลิก ดังนั้นฟอลคอนจึงตัดสินใจเปลี่ยนกลับคืนสู่ศาสนาโรมันคาทอลิกกับบาทหลวงเยซูอิตชื่อ อันตูนิอู โทมัส เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2225 ทำให้งานแต่งของฟอลคอนกับมาเรียเป็นจริงขึ้นด้วยความพร้อมใจของบิดาเจ้าสาว ของขวัญจำนนวนมากจากเจ้ากรุงสยามและขุนนางผู้ใหญ่เป็นหลักหมายว่า แม้จะมีศักดิ์เป็นหลวง แต่ก็มีความสำคัญยิ่งในราชสำนักพระนารายณ์ ในช่วง 5 ปีต่อมา ฟอลคอนก็จะได้เลื่อนขึ้นไปเป็น ออกพระฤทธิกำแหงภักดี และเป็น ออกญาวิชาเยนทร์ สมุหนายก ในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยพระนารายณ์

การเปลี่ยนมาเป็นชาวโรมันคาทอลิก นอกจากจะทำให้ฟอลคอนได้ภรรยาสาวแล้ว ยังได้ความแนบแน่นกับบ้านญี่ปุ่น ได้เป็นหนึ่งในชุมชนโปรตุเกสอย่างแท้จริง และยังได้สร้างเครือข่ายกับบาทหลวงเยซูอิตและราชสำนักฝรั่งเศสอีกด้วย”

อ่านเพิ่มเติม: 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มา : นักปวศ.ชี้ “กีมาร์” แต่งฟอลคอนตอนเพิ่ง 16 อายุห่าง 18 ปี ยันพ่อรวย ไม่ใช่แขกขายผ้า . มติชนออนไลน์