“ศิลปวัฒนธรรมคือรากฐานของความเป็นคน ต้องสร้างคนให้อยู่ในใจเรา” : ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ผู้เชี่ยวชาญ กล้วยไม้

บริเวณแยกรัชโยธินที่วุ่นวายไปด้วยการจราจร และความเร่งรีบของผู้คน กลับมีบ้านร่มรื่นหลังหนึ่งซ่อนตัวอย่างเงียบๆ ด้วยความสงบนิ่งของผู้เป็นเจ้าของอย่าง ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก (4 ธันวาคม 2465 – 17 กุมภาพันธ์ 2561) ผู้อาวุโสซึ่งมากด้วยประสบการณ์ทั้งงานบริหาร งานวิชาการทางด้านสังคม และการศึกษา ที่แม้จะเกษียณจากราชการมาแล้ว แต่อาจารย์ระพีก็ไม่เคยเกษียณตัวเองจากงานวิชาการและการศึกษาค้นคว้า หากกลับเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

วันที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมไปพบ ท่านได้แสดงทัศนะหลากหลายให้ฟังว่า ผมคิดว่าปัญหาที่แฝงอยู่ในกระแสการจัดการตนเองไปจนถึงการศึกษาของเรากว่าจะมารู้ตัวก็หนักมากพอสมควรแล้วล่ะ แต่ก่อนนี้เราไม่เคยคิดว่าวิชาการสาขาต่างๆ ในโลกการศึกษาที่เราได้กำหนดเอาไว้เนี่ย มันมีศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐาน รู้เอาทีหลัง ผมเองก็มารู้เอาทีหลังโดยการนำปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างจากใจตนเองมาโดยตลอด

สรุปได้ว่าวิทยาศาสตร์ที่ขาดศิลปะเป็นพื้นฐาน ซึ่งผลิตคนออกไปส่วนใหญ่ก็จะส่งผลตั้งแต่ทำลายรากฐานตนเองไปจนถึงทำลายโลก และที่สำคัญที่สุดคือทำลายล้างจิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละคนโดยไม่รู้สึกตัว โดยที่คิดว่าเป็นความเจริญ แต่พอทำไปแล้วก็อย่างที่เขาบอกคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นไหมว่าเวลานี้อะไรๆ มันก็เดือดร้อน ป่าก็เดือดร้อน โดยเฉพาะป่ามนุษย์เดือดร้อน ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดสัจจะที่ควรจะมีอยู่ในใจ

เพราะพวกที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำลายจนกระทั่งตัวเองก็ไม่รู้ว่าทำลาย เขานึกว่าเขาพัฒนาไปแล้วเป็นความเจริญ และทุกวันนี้เรามักผลักดันคนเข้าไปสู่วิทยาศาสตร์ด้านเดียวโดยคิดว่าจะสร้างความเจริญให้แก่สังคม เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วเรากำลังเลื่อยเสาเรือนตัวเองทิ้งนะ” 

เมื่อถามว่าแล้วอะไรเป็นเสาเรือนของเรา อาจารย์ระพียิ้มอยู่ในทีก่อนจะตอบว่า

“จิตใจซิครับ คนที่มองไม่เห็นจิตใจตัวเองก็คือคนที่มองไม่เห็นพื้นฐานของชีวิตตัวเองแล้ว จิตวิญญาณที่ผูกพันอยู่กับพื้นดิน ก็เราเกิดมาจากไหนล่ะ ทุกคนเกิดมาจากพื้นดิน ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาจากพื้นดินทั้งนั้น มาแยกแยะเป็นแร่โน้นแร่นี้ เป็นกรดอะไรต่ออะไร แล้วไปหลงพวกนั้นโดยขาดการทบทวน มันเลยยิ่งไปกันใหญ่ อย่างที่ว่าคนยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งชอบเอาเปรียบคนอื่น เหมือนกันการศึกษาที่รู้มากคือการศึกษาที่เอาเปรียบธรรมชาติ” 

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก

หากการศึกษายิ่งรู้มากยิ่งเอาเปรียบธรรมชาติ ขณะที่ปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น เช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะสมดุล

“นั้นสิ แล้วคอยดูซิ นึกถึงพระพุทธองค์กับองคุลิมาล พระพุทธองค์ทรงดำเนิน แล้วองคุลิมาลตะโกนให้พระพุทธองค์หยุด ทรงดำรัสว่า ‘พระพุทธองค์หยุดแล้วแต่ท่านซิยังไม่หยุด’ หยุดอะไร? หยุดจิตใต้สำนึกยังไงล่ะครับ หยุดจิตใจได้คืออะไร คือตั้งสติทำให้เห็นทุกอย่าง ได้ถึงเป็นความจริงทั้งนั้นนะ เราควรจะหวนกลับมาพิจารณาตนเอง เราควรจะยอมรับได้สิ่งที่นำมาพิจารณา

เวลานี้คนในชนบทเป็นอย่างไรเห็นไหม ตกเป็นเครื่องมือของนายทุนอย่างกว้างขวางเลยแหละ แล้วการแก้ไขปัญหาก็มุ่งไปเข้าใจที่เปลือกมัน บอกว่าศิลปวัฒนธรรม เช่น รำละครไทย เล่นดนตรีไทย แต่งชุดไทย นั่นมันเป็นผลพ่วงขั้นสุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมไทยก็คือความรักแผ่นดินไทยบนพื้นฐานจิตใจอิสระ 

เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปจนกระทั่งเป็นผู้บริหาร เห็นไหมว่ามีจิตวิญญาณที่ลงพื้นดินยาก เมื่อลงยากก็ไม่สามารถหยั่งรู้เห็นความจริง แล้วทำไมไม่เห็นความจริง ก็เพราะไม่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ใช่ไหม ขณะนี้คนที่ขึ้นไปอยู่ที่สูง ส่วนใหญ่มักไม่เห็นใจคนอื่น เมื่อไม่เห็นใจก็มักมีความโน้มเอียงที่มุ่งไปเห็นที่ร่างกาย ไม่ได้นึกถึงจิตใจเลย ก็ทำให้คนอื่นเขามาแหกตาได้ง่ายๆ ที่ผมจับกล้วยไม้ก็เพราะตรงนี้ ผมไม่ได้ถือกล้วยไม้เป็นที่ตั้ง ผมถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนเล่นกล้วยไม้ นายพลก็มี รัฐมนตรีก็มี คนขี่สามล้อก็มี” อาจารย์ระพีกล่าว

ขณะที่ภาพของอาจารย์ระพี คือนักวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกล้วยไม้ หากในอีกมิติหนึ่งอาจารย์ระพีให้ความสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

ศิลปวัฒนธรรมคือรากฐานของความเป็นคน ต้องสร้างคนให้อยู่ในใจเรา ถ้าเรามีจิตใจที่กว้างขวางไม่ไปยึดติดกับอะไร เราจะลงถึงรากฐานของวัฒนธรรมได้ เพราะงั้นซิผมถึงบอกว่าผมไม่ได้เรียนเกษตร ผมไม่ได้เรียนกล้วยไม้ ผมเรียนพื้นดินกับมนุษย์ เกษตรคือความรักแผ่นดิน เพราะจะช่วยให้ชีวิตจะมีโอกาสอยู่กับพื้นดินถิ่นฐานของตัวเอง 

แต่ว่าเวลานี้ทำไมเกษตรเราถึงได้กระเทือนมาก เพราะเขาได้ทำลายความรักพื้นดิน คนท้องถิ่นแต่ละวันจิตใจพื้นฐานถูกทำลายลงไปเรื่อย เห็นเงินตาโต เห็นลาภยศสรรเสริญเป็นสิ่งน่าพิศวาส ยั้งใจไม่อยู่ ตรงนี้แหละที่ทำให้ความสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกทำลาย” อาจารย์ระพีกล่าว

การสนทนาผ่านไปพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลย ก่อนจะกลับอาจารย์ระพีลุกไปหยิบเม้าธ์ออร์แกนมาเป่าเพลง “บ้านเรา” ให้ฟังด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยรักบ้านตัวเอง” บ้านที่อาจารย์กล่าวถึงคือบ้านเมือง 

[ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 สิริรวมอายุ 95 ปี]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2561