ปั้นชาอี๋ซิง ปั้นที่ดีที่สุด ที่คอชาและนักสะสมทั่วโลกนิยม

ปั้นชาอี๋ซิง
ปั้นชา "อี๋ซิง" (ภาพจาก หนังสือเครื่องถ้วยวัดโพธิ์)

ปั้นชาอี๋ซิง ปั้นชาดินเผาที่ยกย่องว่าเป็นปั้นชาที่ดีที่สุด ดีกว่าปั้นชาที่ผลิตจากวัสดุชนิดอื่น เหนือกว่าปั้นชาดินเผาที่ผลิตจากดินแหล่งอื่นๆ และยังเป็นปั้นชาที่ผู้ดื่มชาจีนทั่วโลกนิยมสะสม

แหล่งกำเนิดปั้นชาอี๋ซิง 

ชื่อ “อี๋ซิง (宜兴)” นี้เป็นคำเรียกตามแหล่งผลิตที่เมืองอี๋ซิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของประเทศจีน ปั้นอี๋ซิงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปั้นหยางเซี่ยน” ด้วยสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เมืองอี๋ซิงมีชื่อว่า “หยางเซี่ยน” ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “อี๋ซิง” อย่างในปัจจุบันในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ

ปั้นอี๋ซิง
ปั้นอี๋ซิงแบบต่าง (ภาพจาก หนังสือเครื่องถ้วยวัดโพธิ์)

ในเมืองอี๋ซิงขุดพบเตาเผาและเศษเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อราว 5,000 ปีก่อน จนถึงยุคราชวงศ์ชิง มีแหล่งผลิตและเตาเผาราว 100 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองอี๋ซิงมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาเก่าแก่ และมีชื่อเสียงยาวนานถึงทุกวันนี้

ดินที่นำมาทำปั้นชาของเมืองอี๋ซิง เรียกว่า “จื่อซา” หรือ “จื่อซาหนี” เป็นดินทรายสีออกม่วง (สีตับหมู) ที่เกิดจากธาตุเหล็ก, ควอตซ์ ฯลฯ แต่ดินที่ทำปั้นอี๋ซิงยังมีชนิดอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งให้สีที่แตกต่างกันออกไป เช่น จูหนี-ดินสีออกแดง, เปิ่นซานลวี่-ดินสีขาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ฯลฯ

ดินที่กล่าวไปนั้นคือ “ข้อดี” สำคัญของปั้นอี๋ซิง

ทำไมปั้นชาต้อง “อี๋ซิง”

เนื้อดินดีดังกล่าวเมื่อเข้าเตาเผาจะหดตัวน้อยมาก เมื่อบวกกับช่างปั้นฝีมือดี ทำให้ช่องว่างระหว่างฝาปั้นกับปากปั้นมีน้อย อากาศเข้าไปภายในปั้นได้ยาก ทำให้น้ำชาไม่เสียรสชาติไปเพราะออกซิเจนในอากาศ

นอกจากนี้เมื่อเผาก็เกิดรูพรุนในปั้นชา รูพรุนเหล่านั้นเป็นฉนวนอย่างดีที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำ และเก็บกลิ่นของชาไว้ได้ดี เมื่อชงชาด้วยปั้นอี๋ซิง จึงสามารถเก็บรักษาความร้อน, กลิ่น, รส ของชา

ปั้นอี๋ซิง
ปั้นอี๋ซิงเมื่อใช้ชงน้ำชาไปนานๆ สีของปั้นชาก็จะเข้ม และสวยงามขึ้น (ภาพจาก หนังสือเครื่องถ้วยวัดโพธิ์)

รูพรุนของปั้นอี๋ซิงยังค่อยๆ สะสม สี, รส และกลิ่นของชาไว้อีกด้วย นานวันเข้าด้านในของปั้นชาจึงค่อยๆ มีสีคล้ำเข้มขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้บางคราวเติมเพียงน้ำร้อนอย่างเดียวลงในปั้นอี๋ซิง ก็จะได้น้ำที่สี, กลิ่น และรสของชาออกมา

สำหรับนักสะสม จากการศึกษาพบว่าปั้นอี๋ซิงสามารถดูดซับน้ำไว้ได้ประมาณ 4% ดังนั้นเมื่อใช้ชงน้ำชาไปนานๆ สีของปั้นชาก็จะเข้ม และสวยงามขึ้น

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะผู้ชมชอบการดื่มชา หรือนักสะสมปั้นชา คำตอบจึงล้วนยุติที่ “ปั้นชาอี๋ซิง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นพ.วราวิทย วรภัทรากุล. ปั้นอี๋ซิง จากจีนสู่สยาม, สำนักพิมพ์แสงแดด กรกฎาคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568