เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทอง ย่าน “คูจาม” คลองตะเคียน อยุธยา ขุมกำลังกลุ่มสยาม รัฐสุพรรณภูมิ

ภาพวาด เกาะเมือง อยุธยา โดยชาวต่างชาติ
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา วาดโดย Struys Jan Janszoon ค.ศ. 1681

รัฐสุพรรณภูมิ มีขุมกำลังอยู่ที่เวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน มีคูน้ำ (กำแพง?) เป็นขอบเขตที่ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน แต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เรียก “คูจาม” ตามที่พบหลักฐานใหม่อยู่ในแผนที่กรุงศรีอยุธยาทำโดยชาวฝรั่งเศส

[ขอบคุณพเยาว์ เข็มนาค ผู้ตรวจพบหลักฐานใหม่ครั้งนี้ และขอบคุณศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ออกทุนสนับสนุนผู้มีประสบการณ์ตรงได้ทำงานสำคัญ]

แผนที่แสดงสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเมืองยุคก่อนสถาปนากรุงศรียอุธยา พ.ศ. 1893 (ซ้าย) ชุมชนสยาม จากรัฐสุพรรณภูมิ กลุ่มตำนานพระเจ้าอู่ทอง (ขวา) ชุมชนละโว้ จากรัฐละโว้ กลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี

กรุงศรีอยุธยา มีขึ้นจากสุพรรณกับละโว้

กรุงศรีอยุธยา สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1893 อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณชุมทางแม่น้ำหลายสาย

มีขึ้นจากการรวมตัวของอย่างน้อย 2 รัฐใหญ่ที่มีมาก่อน (ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000 ยุคทวารวดี) ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ กับ รัฐละโว้

รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เอกสารจีนเรียก เสียน หรือ เสียม เพี้ยนจากคำว่า สยาม เป็นกลุ่มตำนานพระเจ้าอู่ทอง

รัฐละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา เอกสารจีนเรียก หลอหู หรือ หลอฮก เพี้ยนจากคำว่า ละโว้ เป็นกลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี

เท่ากับ “พระเจ้าอู่ทอง” เป็นผู้นำกลุ่มสุพรรณ ส่วน “รามาธิบดี” เป็นผู้นำกลุ่มละโว้

สยามกับละโว้เคยรวมกันแล้วตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893) เรียก “เสียมหลอ” เมื่อ พ.ศ. 1839 พบในจดหมายเหตุจีนของโจวต้ากวาน

ชุมชนก่อนอยุธยา

ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา ผู้นำของสองรัฐใหญ่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องการค้าโลกกับจีนและอินเดีย ผ่านอ่าวไทยและแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีสถานีการค้าเป็นชุมชนใหญ่อยู่คนละฟากแม่น้ำ ตั้งแต่เรือน พ.ศ. 1700 (เพราะหลังจากนี้ไม่นาน จะรวมกันเป็นเสียมหลอ ตามที่มีบอกในเอกสารโจวต้ากวาน)

รัฐสุพรรณภูมิ มีชุมชนสถานีการค้าบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกสมัยหลังว่า เมืองปท่าคูจาม ตำนานเรียก เวียงเหล็ก

รัฐละโว้ มีชุมชนสถานีการค้าบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกสมัยหลังว่า เมืองอโยธยาศรีรามเทพ (มีผู้ค้นคว้าศึกษาวิจัยไว้มากแล้ว จะไม่กล่าวถึงอีก)

เวียงเหล็ก

เวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน คือ เมืองปท่าคูจาม ขุมกำลังของกลุ่มสยาม รัฐสุพรรณภูมิ

เวียงเหล็ก เป็นชื่อในตำนานเพื่อสรรเสริญเมืองของพระเจ้าอู่ทอง ว่ามีค่ายคูแข็งแรงเสมือนทำด้วยเหล็ก พบตัวอย่างเป็นกวีโวหารในยวนพ่ายโคลงดั้น สรรเสริญเมืองเชียงชื่น (หรือเมืองศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย) แข็งแรงมั่นคงยิ่งกว่ามีกำแพงล้อมรอบด้วยเหล็ก ว่า “เร่งมั่นเหลือหมั้นยิ่ง เวียงเหล็ก” (โคลงดั้นบท 170)

พระตำหนักเวียงเหล็ก เป็นที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์ เท่ากับที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางขุมกำลังอำนาจของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ ที่ปกครองเมืองปท่าคูจาม (ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา)

จึงไม่ใช่เวียงเล็ก (หรือ เวียงน้อย) และไม่ใช่ที่ประทับชั่วคราว ตามที่เคยนิยามไว้นานแล้ว แต่แท้จริงเป็นเมืองใหญ่เมืองโต (ทัดเทียมกับอโยธยาศรีรามเทพของกรุงละโว้) และเป็นเมืองหลักแหล่งถาวรนานมากก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

เมืองปท่าคูจาม

เมืองปท่าคูจาม ขุมกำลังของกลุ่มสุพรรณภูมิ อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้ มีขอบเขตพื้นที่ของเมืองโดยรวมๆ กว้างๆ ดังนี้

เหนือ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแนวยาวตั้งแต่ปากคลองตะเคียน (ฝั่งวัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ) จนถึงสามแยกน้ำวนบางกะจะ (ตรงข้ามป้อมเพชร-วัดพนัญเชิง) ใต้ ติดคลองตะเคียน ตะวันออก ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่น้ำวนบางกะจะ ถึงเกาะเรียนตรงข้าม ตะวันตก ติดคลองตะเคียน

เมืองปท่าคูจาม หมายถึง เมืองฝั่งคูจาม, เมืองฟากคูจาม

[มีในพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัย ร.5 ว่า ปท่าคูจาม มาจาก “ปละท่าคูจาม” หมายถึง ฟากข้าง, ฝั่งข้าง (อยู่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542 หน้า 212)]

ปท่า เป็นคำกร่อนจากปละท่า แปลว่า ฝั่งโน้น, คนละฝั่ง (บางทีเขียน ประท่า ก็ได้) ยังพบใช้ในชื่อบ้านนามเมืองทางภาคใต้ (ได้แก่ อ. ปละท่า ชื่อเดิมของ อ. สทิงพระ จ. สงขลา)

เมืองปท่าคูจาม ชื่อนี้พบครั้งแรก พ.ศ. 1952 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ (แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์) เป็นหลักแหล่งขุมกำลังของกลุ่มสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) นำโดยเจ้าเสนาบดี ยกกำลังเมืองปท่าคูจามชิงได้อยุธยา เชิญเจ้านครอินทร์จากเมืองสุพรรณ ขึ้นเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยา

แล้วกักตัวพระรามราชา (กษัตริย์อยุธยา เชื้อวงศ์ละโว้) ไว้ที่เมืองปท่าคูจาม เสมือนถูกจองจำ หรืออาจถูกสำเร็จโทษก็ได้ ใครจะรู้? เพราะอยู่ท่ามกลางขุมกำลังฝ่ายสุพรรณ

ปท่าคูจาม น่าจะเป็นชื่อชาวบ้านเรียก เมื่อมีพวกจามเข้าไปตั้งถิ่นฐานหนาแน่นแล้ว จากนั้นเรียกขานจนลืมชื่อจริง (ที่ยังไม่พบหลักฐาน) สมัยแรกเริ่ม แม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้

คูจามใหญ่อยู่ในตำแหน่งคลองตะเคียน กับคูจามน้อยอยู่ในตำแหน่งคลองคูจาม ตามที่นายพเยาว์ เข็มนาค ตรวจพบในแผนที่กรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ (โดย ฌาคส์ นิโกลาส์ เบแล็ง นักเขียนแผนที่ชาวฝรั่งเศส ภาพและข้อมูลจากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 78)

คูจาม คลองตะเคียน

คูจาม ตามหลักฐานพบใหม่ หมายถึง คลอง 2 สาย นอกเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศใต้และตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา มีในแผนที่กรุงศรีอยุธยา ทำโดยช่างแผนที่ชาวยุโรป ได้แก่ คูจามใหญ่ กับ คูจามน้อย

คูจามใหญ่ ตรงกับปัจจุบันเรียก คลองตะเคียน ในเอกสารเก่าเรียก คลองขุนละครไชย (เพราะเป็นสถานที่ประหารขุนละคอนไชย)

เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้นอกเกาะเมือง อยู่ถัดทางตะวันตกวัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ [หนังสือคลองและท่าเรือจ้างฯ ของกรมศิลปากร บอกเพิ่มเติมว่าบันทึกชาวต่างชาติเรียก คลองน้ำยา และย่านบางปลาเห็ด] ยาวเป็นเส้นตรงลงไปทางทิศใต้ แล้ววกหักข้อศอกไปทางทิศตะวันออก เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเกาะเรียน (ฝั่งตรงข้ามบ้านญี่ปุ่น เยื้องทางใต้)

ชื่อคูจามไม่ได้มีจามพวกเดียว แต่มีคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะมีตลาดบ้านจีนอยู่ปากคลองขุนละคอนไชย มีศาลเจ้าจีน และมีซ่องโสเภณี 4 โรง “รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ” เป็นหลักฐานสำคัญว่าเป็นที่ชุมนุมจอดเรือแพจากนานาชาติ ได้แก่สำเภาสลุบกำปั่น

ชาวบ้านย่านท้ายคลองตะเคียนทุกวันนี้ ยังเรียกคลองตะเคียนว่าคลองประจาม หมายถึง คูจาม แสดงว่าชื่อคูจาม (เรียกคลองตะเคียน) ไม่ได้หายไป เพียงแต่ถูกมองข้ามจากนักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย

คูจามน้อย ตรงกับปัจจุบันเรียก คลองคูจาม

เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งใต้นอกเกาะเมือง (อยู่ถัดทางตะวันออกวัดพุทไธศวรรย์) ยาวเป็นเส้นตรงลงไปทางทิศใต้ เชื่อมรวมลงคลองตะเคียนหลังมัสยิดช่อฟ้า (ฝั่งเหนือตะเกี่ยโภคิน) ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้เกาะเรียน

พเยาว์ เข็มนาค อดีตข้าราชการกรมศิลปากร (ภาพเมื่อ พ.ศ. 2559) ชี้ให้ดูปากคลองตะเคียน เรียกคูจามใหญ่ พบในแผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยกำกับไว้ด้วยภาษาฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีตรงกันทั้งฉบับภาษาฝรั่งเศสและฉบับภาษาอังกฤษ มีรายงานข่าวเรื่องนี้ในมติชนรายวัน (ฉบับวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2561 หน้า 11)

คูจาม คืออะไร? มาจากไหน?

คู หมายถึงร่องน้ำที่ขุดเป็นแนว แล้วมีดินที่ขุดขึ้นมาถมเป็นคันสองข้าง (บางทีเรียกเป็นคำซ้อนว่าคูน้ำคันดิน) สมัยหลังเป็นหลักแหล่งของพวกนับถือมุสลิม เช่น จาม

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เข้าใจตรงกันว่าคูจามปัจจุบันคือคลองคูจาม (ต. สำเภาล่ม อ. เมืองฯ จ. พระนครศรีอยุธยา) จึงเชื่อกันว่าบริเวณคลองคูจาม ตรงกับชื่อ “ปท่าคูจาม” หรือ “เมืองปท่าคูจาม” ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ (ดูในหนังสือ คลองและท่าเรือจ้างสมัยโบราณกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545 หน้า 32-33)

ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจตามที่พบหลักฐานใหม่

จาม เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์และในไทย พูดตระกูลภาษาชวา-มลายู ชำนาญเดินเรือเลียบชายฝั่งและข้ามถึงหมู่เกาะ จึงเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มมีบทบาทสำคัญในเครือข่าย “ศรีวิชัย”

รัฐจามอยู่เวียดนาม ภาคกลาง รับอารยธรรมอินเดีย นับถือศาสนาฮินดู-พุทธ วัฒนธรรมจามแพร่ขยายถึงแม่น้ำโขง แล้วพบร่องรอยในอีสาน เช่น ที่พระธาตุพนม (จ. นครพนม)

ส่วนในกัมพูชามีตำนานเจ้าชายจากรัฐจามชื่อพระทอง ต่อมาสมสู่กับหญิงพื้นเมืองธิดาพญานาคชื่อนางนาค เป็นต้นเรื่องสร้างปราสาทนครวัด

สมัยหลังพวกจามเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม (ที่แพร่จากจีน) สืบจนทุกวันนี้

กรุงศรีอยุธยายุคต้นๆ มีกรมอาสาจาม บอกไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าเจ้ากรมมีตำแหน่งพระราชวังสัน (ถือศักดินา 2000)

จามเหล่านี้น่าจะมีหลักแหล่งในอยุธยาอยู่ย่านคลองตะเคียนตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา ในฐานะผู้ชำนาญการเดินเรือเลียบชายฝั่ง และเป็นล่ามติดต่อพ่อค้าในวัฒนธรรมแขก จึงใกล้ชิดราชสำนัก จนเข้ารับราชการ

พวกจามไม่จำเป็นต้องถูกกวาดต้อนมาจากที่อื่นเท่านั้น เพราะเป็นคนพื้นเมืองมาแต่เดิมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งและที่ราบลุ่มน้ำใกล้ทะเล เช่น ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ถ้าถูกกวาดต้อนสมัยหลังๆ ก็ให้รวมอยู่ที่นี่ด้วย

แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา มองเห็นโบสถ์วัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ มีพนังตลิ่งกั้นน้ำยาวไปทางขวา สุดพนังเป็นปากคลองตะเคียน
คลองตะเคียน ด้านทิศใต้ เห็นมัสยิดช่อฟ้า เป็นบริเวณคลองคูจาม (ปัจจุบัน) ไหลมาบรรจบ ก่อนไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2561