แรงงานพม่าย้ายถิ่นในรัฐมอญ โอกาสที่ดีกว่าสำหรับชีวิต

งานก่อสร้างถนนในรัฐมอญ ที่ใช้คนงานมาจากพม่าตอนบน

สถานการณ์ตลาดแรงงานโลกปัจจุบันมีความน่าสนใจ มีทั้งเรื่องใหม่และเก่าปะปนกันไป มีทั้งเรื่องของอาชีพใหม่ๆ เช่น การเตะฟุตบอลก็เป็นอาชีพได้ ขนาดสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในไทยต้องขอซื้อตัวนักเตะชาวเมียนมาเข้าร่วมทีม

นอกจากนั้นอาจเป็นเรื่องเก่า ที่แรงงานย่อมวิ่งเข้าหาตลาดแรงงานที่มีแรงดึงดูดมากกว่าตลาดแรงงานในบ้านตัวเอง นอกจากปรากฏการณ์คนอีสานเข้าขุดทองในกรุงเทพเมื่อ 30-40 ปีก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่นาน คนไทยก็นิยมไปขายแรงงานในแถบตะวันออกกลาง พอเหมาะกับคนเมียนมา ลาว และกัมพูชาก็เข้ามาแทนที่แรงงานไทยที่หายไปเหล่านั้น

ในเวลาเดียวกันความซับซ้อนและแตกต่างของตลาดแรงงานในประเทศเมียนมาเองก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพของเมียนมาในแต่ละภูมิภาคมีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างสูง ขณะที่แรงงานในแถบเมียนมาใต้เดินทางเข้าไทย แรงงานจากเมียนมาเหนือก็ลงมาแทนที่ และต่างก็เชื่อว่าเหล่านี้คือโอกาสที่ดีกว่าสำหรับชีวิตของตน

เป็นเรื่องสามัญของน้ำ “ย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ” หรืออย่างไรไม่ทราบ สืบเนื่องจากข้อค้นพบว่า ในบรรดาแรงงานข้ามชาติ (ภาษากฎหมายเรียก แรงงานต่างด้าว) ในประเทศไทยซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชาวพม่านั้น ราวหนึ่งในสามเป็นมอญ อีกเกือบครึ่งเป็นไทใหญ่ กะเหรี่ยง อาระกัน กอระข่า ชิน คะฉิ่น และทวาย เป็นต้น

ที่เหลืออีกเล็กน้อยนั่นต่างหากที่เป็น “พม่า” ส่วนแรงงานพม่าจำนวนมากนั้นกลับใช้แรงงานอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า

จากการพบปะพุดคุยกับคนมอญที่มาทำงานเมืองไทย คนมอญที่อยู่ในรัฐมอญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พรรคมอญใหม่ (New Mon State Party) ทำให้ทราบว่า หนุ่มสาวมอญวัยทำงาน นิยมเข้ามาทำงานเมืองไทยด้วยโอกาสในการทำงานและค่าตอบแทนที่สูงกว่า ด้วยงานที่หลากหลาย ทั้งงานโรงงาน แม่บ้าน คนสวน ทำไร่ ตัดยาง รวมทั้งค้าขาย และอาชีพส่วนตัวอื่นๆ (แม้ไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย) เป็นต้นว่า เข็นรถขายขนม เครื่องดื่ม มัคคุเทศก์นำเที่ยว ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพ ออกแบบกราฟิก อาสาสมัคร เอ็นจีโอ ครูสอนภาษา เป็นต้น

ดังนั้นตามหมู่บ้านในรัฐมอญเวลาปกติจึงเหลือเพียงคนสูงอายุ คล้ายภาคอีสานของไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน จากนั้นแรงงานมอญเหล่านี้ก็จะส่งเงินกลับไป ปลูกสร้างซ่อมแซมบ้านเรือน ซื้อหาที่ดินเพิ่มเติม (โดยมากมีที่ดินอยู่แล้ว) ลงทุนค้าขาย เปิดร้านอาหาร บ้างยังคงอาชีพทำไร่ ทำนา และทำสวน

บ้างนำความรู้จากการทำงานเมืองไทยปรับประยุกต์ใช้ เช่น อาชีพสวนยาง เพาะเห็ด สวนผลไม้ โดยจ่ายเงินจ้างชาวพม่าจากตอนบน (Upper Myanmar) ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าในเมืองไทยราว 1 ใน 3 สำหรับการทำนา ทำสวน ตัดยาง แม้กระทั่งแรงงานก่อสร้างในเขตรัฐมอญ เช่น ก่อสร้างถนน อาคารบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานชาวพม่าทั้งสิ้น

รายงานจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคมอญใหม่ระบุว่า หนุ่มสาวมอญยุคใหม่ไม่นิยมทำงานหนัก ดังนั้นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของมอญ เช่น บ.รามัญญะ ในรัฐมอญจำเป็นต้องจัดหาคนงานมาจากพม่าตอนบนซึ่งเป็นพม่าแท้มาทำงาน แม้แต่งานก่อสร้างถนนในรัฐมอญดังเช่นในภาพ รวมทั้งครอบครัวชาวพม่าที่ทั้งอุ้มทั้งจูงลูกและหอบหิ้วเสื้อผ้าพร้อมจอบเสียมเดินเร่หางานทำย่านสถานีขนส่งเมืองมะละแหม่งก็ตาม

[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ : รามัญคดี – MON Studies]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2561