นาฬิกาพก ชื่อนาฬิกาชนิดนี้ ไม่ได้มีที่มาจากคำว่า พกพา

นาฬิกาพก
นาฬิกาพก (ภาพจาก : www.rijksmuseum.nl)

“นาฬิกาพก” ชื่อเรียกประเภทหนึ่งของนาฬิกา โดยคำว่า “พก” ไม่ได้มีที่มาจากการพกพาสะดวก

นาฬิกาพก หรือ Pocket watch เป็นนาฬิกาประเภทหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่นิยมในอดีต ก่อนที่นาฬิกาข้อมือจะได้รับความนิยมอย่างในปัจจุบัน ซึ่งชื่อเรียกนาฬิกาประเภทนี้ มักเข้าใจว่ามีที่จากขนาด “พกพา” หรือ “พกพา” สะดวก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่

(ภาพจาก www.metmuseum.org)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า คำว่า “พก” เป็นคำนาม หมายถึง ริมผ้านุ่งที่ดึงรวบขึ้นมาไขว้ไว้ที่บริเวณสะดือ มีลักษณะคล้ายถุงเล็ก ๆ เรียกว่า ชายพก ใส่เงินหรือหมากเป็นต้น และเป็นคำกริยา หมายถึง เอาเก็บหรือซ่อนไว้ในพกหรือในสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น พกมีด พกปืน พกนาฬิกา, เรียกสิ่งที่นำติดตัวไปในลักษณะเช่นนั้น เช่น มีดพก ปืนพก นาฬิกาพก

Advertisement

ใน “สยามประเภท” ก.ศ.ร. กุหลาบ อธิบายถึงที่มาที่ไปของคำนี้ว่า สมัยรัชกาลที่ 2 ราชทูตโปรตุเกสนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ในนั้นมีนาฬิกาเล็ก ๆ หลายตลับด้วยกัน ซึ่งชาวตะวันตกจะพกนาฬิกานี้ไว้ในกระเป๋าเสื้อ แต่เสื้อผ้าชาวสยามนั้นไม่มีกระเป๋า จึงคิดทำ “พก” ไว้สำหรับใส่นาฬิกา ดังที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ อธิบายว่า

“…ครั้งนั้นท่านผู้ได้บรรณาการของโปรตุเคศ ที่เปนนาฬิกาเล็ก ๆ นั้นเห็นพวกชาวโปรตุเคศเขาบันจุไว้ในกระเป๋าเสื้อสำหรับดูทุ่มโมงทุกเวลา แต่ว่าไทยในเวลาโน้นไม่ได้สรวมเสื้อ ไม่มีเป๋าเสื้อจึงได้เอานาฬิกาเล็ก ๆ นั้น ห่อพกผ้านุ่งสำหรับจะได้ดูทุ่มโมงได้ใกล้ ๆ ตัว แลเอาไว้ในล่วมหมวกบ้าง ล่วมหมากก็บันจุไว้ในชายพกเหมือนกัน เพราะฉนั้นจึ่งเรียกว่า ‘ล่วมพกหมาก’ ส่วนนาฬิกาเล็ก ๆ นั้นก็เก็บเอาไว้กับล่วมหมากบ้าง บันจุไว้ในพกผ้านุ่งบ้าง จึ่งได้สมมติ์เรียกกันว่า ‘นาฬิกาพก’…”

ก.ศ.ร.กุหลาบ

โดยปกติแล้ว นาฬิกาชนิดนี้มักใส่ไว้ในกระเป๋า บ้างก็จะมีสายคล้องนาฬิกาสำหรับติดไว้กับเสื้อ โดยเมื่อจะดูเวลาก็ไม่ต้องล้วงเข้าไปในกระเป๋า เพียงแค่ดึงสายคล้องนั้นก็จะหยิบนาฬิกามาดูได้สะดวก แถมยังป้องกันไม่ให้นาฬิกาหล่นหายได้อีกด้วย ซึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ บอกว่า คนไทยคนแรกที่คิดนำนาฬิกาชนิดนี้ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ และเอาสายคล้องติดกับนาฬิกาด้วยนั้น ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่า ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้รับพระราชทานนาฬิกาเล็ก ๆ เหล่านั้นจากเครื่องราชบรรณาการของโปรตุเกสด้วยเป็นแน่ 

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

ก.ศ.ร. กุหลาบ อธิบายว่า กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงเป็นผู้ริเริ่มนำนาฬิกาชนิดนี้ใส่ลงในกระเป๋าเสื้อก่อน แล้วเอาสายคล้องนาฬิกาที่มีขอเกี่ยวนั้นแขวนติดกับฉลองพระองค์ (เสื้อ) ก่อนเจ้านายและขุนนางทั้งปวง แต่พระองค์ไม่ได้แขวนติดกับพระดุมฉลองพระองค์ (กระดุมเสื้อ) แต่ทรงแขวนติดกับดอกไม้ช่อทองตรงพระอุระ (อก)

ดังนั้น “พก” สำหรับใส่นาฬิกา จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกนาฬิกาชนิดนี้นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม ในการรับรู้ของคนทั่วไปในปัจจุบัน มักเข้าใจกันว่า คำว่า “พก” คือ การพกพา, พกไว้ติดตัว, ของพกพา อย่างสิ่งของที่มีขนาดกระทัดรัดพกพาสะดวก เช่น พัดลมพกพา, เก้าอี้พกพา, ร่มพกพา หรือในห้างสรรพสินค้าก็จะมีแผนกสินค้าขนาดพกพา จำพวก แชมพู, สบู่, ยาสีฟัน ฯลฯ

ดังนั้น คำว่า “นาฬิกาพก” จึงเป็นร่องรอยการใช้ “พก” ตามความหมายของคำดั้งเดิมที่หมายถึงการทำชายพก ซึ่งยุคนี้แทบไม่มีใครรู้ความหมายที่แท้จริงของคำนี้แล้ว หากไม่เปิดดูในพจนานุกรม

(ภาพจาก : www.rijksmuseum.nl)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2567