เล้าข้าว ลาวเทิงใน สปป.ลาว (ลาวตอนใต้)

เล้าข้าว

เล้าข้าว ลาวเทิงใน สปป.ลาว (ลาวตอนใต้)

ผู้คนในแถบสองฝั่งโขงไทย-ลาวโดยเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมทางภาษาตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งใน สปป.ลาว (ลาวตอนใต้) มีแยกย่อยไปอีกหลายชนเผ่า สำหรับกลุ่มลาวเทิงที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมรในการสื่อสารจัดเป็นกลุ่มที่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูงแถบภูเขาและบริเวณเขตภูดอย ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ หาอาหารป่า กินเผือกกินมันและปลูกข้าวไร่หมุนเวียนด้วยวิธีการใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินหรือสักดินก็เรียก ให้เป็นรูหลุมแล้วจึงเอาเมล็ดพันธุ์พืชหยอดลงทีละรู ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการปลูกแบบโบราณที่ไม่ต้องบำรุงดูแลรักษามากแต่มีผลเสียต่อหน้าดิน

เนื่องจากการเพาะปลูกแบบนี้เป็นวิถีของสังคมชนเผ่าที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาแหล่งเพาะปลูกใหม่ๆ แม้ลาวเทิงจะมีหลากหลายกลุ่มชนเผ่าย่อยหากแต่มีลักษณะร่วมด้านวิถีทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ ก็คือการนับถือผี การนิยมสูบกอก กินเหล้าไห สะพายเครื่องจักสานที่ใช้สำหรับใส่ของอเนกประสงค์เวลาออกไปทำงานในไร่ นอกจากนั้นยังมีการทอผ้า โดยการใช้กี่เอว และการใช้ภาษาสื่อสารตระกูลมอญ-เขมร

เล้าข้าวศิลปะงานช่างประเภทสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นบ้านแบบลาวลุ่มแบบคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ หลงเหลือไว้เพียง เล้าข้าว ซึ่งเป็นผลิตผลงานช่างประเภทหนึ่งในวัฒนธรรมข้าว ที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่น่าจนใจอยู่ เช่น เล้าข้าวหรือยุ้งข้าวแบบใช้ไม้จริง (เครื่องสับ) และแบบไม้ไผ่ (เครื่องผูก) เล้าข้าวแบบไม้จริง (เครื่องสับ) นิยมทำเป็นเล้าข้าวมีเสาสูง โดยใช้ลำต้นของต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น มาใช้เป็นโครงสร้างหลักของเสา อาจเสริมด้วยไม้ค้ำยัน สี่มุม เพื่อเสริมความแข็งแรง

ส่วนบันไดใช้พาดแบบชั่วคราวเมื่อเลิกใช้ก็ขนย้ายไปเก็บไว้ที่อื่นได้ บางแห่งทำเป็นเสาสูงแบบเสาโครงสร้างไม้จริง 2-3 ต้น ส่วนองค์ประกอบทางศิลปะสถาปัตยกรรม นิยมเอาโครงสร้างของคร่าวผนัง เช่น เสา คร่าวฝา กะทอด (หรือพรึง) ไว้ด้านนอก อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ปรากฏอยู่ในส่วนผนังเล้าข้าวเกือบทุกแห่งอันมีที่มาจากสัจจะทางโครงสร้างเพื่อความแข็งแรงของผนังที่กักเก็บผลิตผลข้าวภายใน ไม่ให้ปริพังออกมาในกรณีที่ใส่ข้าวจำนวนมาก ส่วนผนังถ้าเป็นไม้จริงก็จะใช้แผ่นไม้ใหญ่ตีเป็นผนังทั้ง 4 ด้าน นิยมทำประตูด้านสกัดหน้า ส่วนถ้าเป็นเล้าข้าวแบบเครื่องผูกไม้ไผ่ นิยมทำฝาสานจนเต็มผืนผนังรอบตัวเรือน ส่วนยอดที่เป็นหลังคาแต่เดิมนิยมมุงแป้นเกล็ดไม้ สมัยหลังเปลี่ยนเป็นสังกะสีเพราะอายุการใช้งานนานกว่า และกรณีเครื่องผูกก็จะมุงหลังคาหรือมุงจาก

ลักษณะรูปทรงของเล้าข้าวลาวเทิงถ้าเป็นชนิดแบบที่เป็นเสาสูงจะโดดเด่นด้วยตำแหน่งที่ตั้ง เหตุผลหนึ่งของการทำเล้าข้าวแบบนี้ก็เพื่อป้องกันสัตว์ป่าหรือวัวควายมารื้อทำลายข้าว เช่น เผ่าบราว หรือลาวเทิงกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเล้าข้าวของเผ่าเตรียง ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยรูปทรงขนาดกะทัดรัด รูปทรงหลังคาจั่วมีมุขหน้าเป็นทรงรัศมีโค้งแบบร่มทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ปรากฏอยู่ทั้งสถาปัตยกรรมเล้าข้าวและบ้านเรือนของพวกเขา

โดยทิ้งชายคาต่ำคลุมผนังเล้าจนมิดทุกด้านเพื่อป้องกันแดดฝนและบริเวณปลายเสาด้านปลายบนนิยมแกะไม้ให้มีลักษณะแบบจานคว่ำเพื่อป้องกันหนูขึ้นเล้าข้าว นอกจากนี้หลายแห่งใช้ขวดมาร้อยรอบเสาทั้ง 4 เสา เพื่อป้องกันหนูไต่ขึ้นเล้าข้าวอีกด้วย อันเป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์แบบหนึ่งของลาวเทิง ส่วนตำแหน่งที่ตั้งของเล้าข้าวจะแยกออกจากตัวเรือนพักอาศัยหรือตามภูดอยที่ตนเองทำไร่ หรือบางกลุ่มจะแยกเล้าข้าวออกมาจากหมู่บ้านโดยมีเล้าข้าวอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เหมือนหมู่บ้านเล้าข้าวเลยทีเดียวเล้าข้าว

อนึ่ง เล้าข้าวแถบลุ่มน้ำโขงยังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันอีก เช่น เยีย หมายถึงที่เก็บข้าวขนาดใหญ่ เทียบได้กับฉางข้าว ส่วนที่เก็บข้าวขนาดเล็กหรือในลักษณะชั่วคราว ทำด้วยโครงสร้างไม้ไผ่สานเป็นทรงกระบอกป่องตรงกลาง ไล้ผิวผนังด้วยเปี๋ย เรียก “ส่อมข้าว” ทั้งนี้ถ้าที่เก็บข้าวที่เล็กกว่า “ส่อมข้าว” จะเรียก “ฮีน” ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับกระพ้อมที่สานด้วยไม้ไผ่ นิยมเก็บไว้ตามใต้ถุนเรือน

ความงดงามของรูปทรงเล้าข้าว ในเชิงช่างกล่าวได้ว่าเกิดจากประโยชน์ใช้สอยโดยแท้ ด้วยสัจจะของวัสดุธรรมชาติและสัจจะโครงสร้างผสมผสานกับภูมิปัญญาสร้างสรรค์ เรื่องเทคนิควิธีการป้องกันสัตว์และแมลงก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งตอบสนองต่อวิถีชุมชน จากช่างชาวบ้านผู้ที่ไม่มีใบปริญญาสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด แต่กลับสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น

โดยเฉพาะคนที่หลงใหลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งตอบสนองต่อวิถีชีวิตผู้คนและชุมชนในบริบทของตนเองก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2560