การปิดล้อมที่ดันเคิร์ก (Dunkirk) เยอรมันที่เคยปิดล้อมอังกฤษ-ฝรั่งเศส กลับโดนล้อมเสียเอง

ทหารฝ่ายพันธมิตร บนหาด ดันเคิร์ก (Dunkirk)
ทหารฝ่ายพันธมิตร บนหาดดันเคิร์ก (Dunkirk) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส หลังถูกปิดล้อม ภาพถ่ายเมื่อ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ภาพจาก AFP

แฟนหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลน และผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 คงได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง ดันเคิร์ก (Dunkirk) กันแล้ว และเชื่อว่าหลายคนคงรู้ประวัติของเหตุการณ์ปิดล้อมกองทัพพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนนำของกองทัพเยอรมัน จนก่อให้เกิดปฏิบัติการอพยพและถอนกำลังทางทหารขนาดใหญ่ในปี 1940

แต่ภาพของเหตุการณ์เหล่านี้กลับมาย้อนเล่นงานฝ่ายเยอรมนีซะเองในปี 1944 แม้ในครั้งนี้จะไม่มีการอพยพขนานใหญ่ทางทหารก็ตาม แต่ดันเคิร์กก็กลายมาเป็นสมรภูมิเลือดที่ยืดเยื้ออีกครั้ง

ยืนหยัดที่ ดันเคิร์ก (1944-45)

ภายหลังจากฝ่ายพันธมิตรเปิดฉากบุกยุโรปในวันดีเดย์ กองทัพที่ 1 แคนนาเดี้ยน เป็นหนึ่งในกองทัพที่ทำการรุกใส่แนวรับเยอรมันไปพร้อมกับกองทัพต่างๆ ซึ่งกองทัพที่1 แคนนาเดี้ยน เป็นกำลังหลักสำคัญทางปีกซ้ายสุดของกลุ่มกองทัพที่ 21 ซึ่งมีนายพลเบอนาด ลอว์ มอนโกเมอรี่ เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพที่ 21 และพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพที่ 1 แคนนาเดี้ยนภายหลังการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีผ่านพ้นมา

นั่นคือพื้นที่บริเวณช่องแคบอังกฤษจนจรดกับชายแดนของเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังรวมทั้งการยึดเมืองท่าที่สำคัญต่างๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเมืองท่าเหล่านี้กองทัพเยอรมันคงกำลังทหารและเสริมสร้างป้อมปราการ รวมทั้งสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อขัดขวางการเข้ามาของฝ่ายพันธมิตร

ท่าเรือนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อกองทัพพันธมิตรในการเปิดฉากยุทธการปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของกองทัพเยอรมัน เพราะการส่งกำลังบำรุงให้แก่หน่วยทหารต่างๆ จะช่วยคงความเร็วและส่งเสริมอำนาจการรุกต่อแนวตั้งรับของเยอรมันในทุกๆ แนวรบ เมื่อการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีผ่านพ้น

กองกำลังพันธมิตรสามารถยึดเมืองท่าต่างๆ น้อยใหญ่ในฝรั่งเศสบางส่วนของเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ นายพลมอนโกเมอรี่จึงมีความคิดว่า เขามีเมืองท่าเพียงพอแล้วต่อการขนส่งและลำเลียงยุทธปัจจัยต่างๆ แต่นั่นก็เป็นความคิดของมอนโกเมอรี่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแตกต่างจากนายพลดไวท์ ดี ไอเซนฮาวด์ ผู้บัญชาการกองทัพพันธมิตร ที่มองเห็นว่ายิ่งบุกลึกเข้าไปในเยอรมันเท่าไร เรายิ่งต้องการท่าเรือที่อยู่ไม่ห่างจากแนวรบมากขึ้นเท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการประหยัดเวลาในการขนส่ง

ท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ใกล้พรมแดนเยอรมันอย่าง แอนท์เวิร์ป และ ดันเคิร์ก จึงยังคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายพันธมิตรต้องแย่งยึดมาให้ได้ ภาระหน้าที่ในการเข้าตีเมืองท่าเหล่านี้ นายพลมอนโกเมอรี่ มอบหมายให้ นายพลเฮนรี่ เครร่า ผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 แคนนาเดี้ยน รับผิดชอบหน้าที่นี้

ในช่วงสัปดาห์แรกของการปิดล้อมกองทัพพันธมิตรจัดวางกำลังทหารจำนวนไม่มากใกล้ๆ กับเมืองซึ่งประกอบไปด้วย กองพลน้อยทหารราบแคนนาเดี้ยนที่ 5 และกำลังบางส่วนจากกองพลน้อยทหารราบแคนนาเดี้ยนที่ 2 ซึ่งเป็นกำลังเสริมอย่างมากให้แก่กองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ก่อนหน้านี้อย่าง กองพลน้อยปฏิบัติการณ์พิเศษที่ 4 (รอยัลมารีน) และกองพลน้อยทหารราบที่ 154

นอกจากนี้วงล้อมยังกระชับขึ้นด้วยกำลังจากกองพลน้อยยานเกราะเช็กโกสโลวักที่ 1 ซึ่งเข้ามาร่วมเสริมกำลังในช่วงเดือนตุลาคมและอยู่กระทั่งสิ้นสุดการรบ

ทางด้านกองทัพเยอรมัน กองทัพเยอรมันที่ประจำการที่ดันเคิร์กเป็นกำลังทหารที่มาจากทั้ง กองทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ นอกจากนี้ยังมีกำลังทหารจากหน่วยเอสเอสจำนวน 2,000 นาย เมื่อรวมกำลังทั้งหมดมีทหารเยอรมันประมาณ 10,000 นาย กำลังทหารบกส่วนใหญ่เป็นหน่วยทหารในสังกัดกองทัพที่ 5 ซึ่งเป็นกองพลที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ในนอร์มังดี และล่าถอยไปรวมพลกันอีกครั้งที่ดันเคิร์ก

กองทหารแคนนาเดี้ยนเคลื่อนพลเข้าตีเมืองดันเคิร์กจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน ณ เวลานั้น กองพลน้อยทหารราบแคนนาเดี้ยนที่ 5 ยึดเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ เบอเบิร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองดันเคิร์กประมาณ 13 กิโลเมตร ทหารเยอรมันวางกำลังตั้งรับตามหมู่บ้านต่างๆ ที่รายล้อมดันเคิร์ก และทำการต้านทานการรุกเข้ามาอย่างเหนียวแน่นโดยเฉพาะการรบที่ ลูนเพลจ แม้สุดท้าย ลูนเพลจจะหลุดจากมือเยอรมันไปได้ แต่หน่วยทหารพันธมิตรที่เข้าตีที่นั่น เหลือทหารแต่ละกองร้อยไม่เกิน 30 นาย

ทหารแคนนาดาขณะกำลังย้ายตำแหน่งปืนต่อสู้อากาศยานระหว่างการปิดล้อมเมืองดันเคิร์ก Photograph by Lieutenant Ken Bell (ไฟล์ภาพจาก https://www.collectionscanada.gc.ca/faces-of-war/025014-2000-e.html)

การรบดำเนินมาจนวันที่ 15 ทุกหมู่บ้านที่มีทหารเยอรมันยึดครองนั้น ฝ่ายพันธมิตรสามารถยึดเอาไว้ได้ทั้งหมด จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าดันเคิร์กถูกปิดล้อมโดยสมบูรณ์

แต่แทนที่กองทัพแคนนาเดี้ยนจะเปิดฉากรุกเข้าใส่เมืองแห่งนี้ พวกเขากลับใช้การระดมยิงปืนใหญ่ และการเข้าตีฉาบฉวยก่อกวนแนวรับของเยอรมันอยู่ตลอดเวลา กองทัพพันธมิตรรู้ดีว่าความได้เปรียบทั้งหมดนั้นอยู่กับฝ่ายตนเองแล้วในตอนนี้ มันไม่มีประโยชน์ที่พวกเขาจะต้องส่งทหารเข้าตีอีกครั้ง และมันชัดเจนเลยว่าพวกเยอรมันหนีไปไหนไม่ได้อีกแล้ว เบื้องหน้ามีทหารฝ่ายพันธมิตรรายล้อมอยู่ เบื้องหลังก็มีทะเล และพวกเยอรมันยังถูกระดมยิงจากทะเลสู่ฝั่งโดยเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาต

นอกจากนี้เสบียงอาหาร อาวุธและกระสุนที่เคยลำเลียงมาโดยเรือเร็วโจมตี อย่างเรือ E-Boat ก็ไม่สามารถฝ่าเข้ามาส่งยุทธปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ กองทัพพันธมิตรจึงเห็นควรว่า ทางที่ดีที่สุดนั้นควรทำอย่างไรก็ได้ให้ทหารเยอรมันที่เหลืออยู่นั้นยอมแพ้ และแม้จะยึดท่าเรือของดันเคิร์กไม่ได้ มันก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อการใช้ท่าเรือในการลำเลียงของฝ่ายพันธมิตร เพราะท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่อย่างแอนท์เวิร์ปถูกยึดได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เครื่องบินของกองทัพพันธมิตรบินผ่านเมืองแห่งนี้ เพื่อโปรยใบปลิวเหนือเมืองดันเคิร์ก รวมทั้งการกระจายเสียงผ่านลำโพงขนาดใหญ่ ประกาศให้ทหารเยอรมันยอมจำนน แต่แม้จะหลังชนทะเลแล้ว ทหารเยอรมันก็ยังปักหลักสู้ต่อไป การบาดเจ็บและสูญเสียของฝ่ายเยอรมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ขณะที่พลเรือนในเมืองแห่งนี้ต่างก็ต้องพลอยโดนลูกหลงจากการรบไปด้วย

และเพื่อไม่ให้สงครามนองเลือดนี้ต้องทำให้พลเรือนต้องรับเคราะห์ไปมากกว่านี้ ในเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 1944 ตัวแทนจากฝ่ายเยอรมันยื่นข้อเสนอให้หยุดพักรบเป็นเวลา 36 ชั่วโมง เพื่อทำการอพยพพลเรือนทั้งหมดที่อยู่ในเมืองออกไป ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากฝ่ายพันธมิตร และฝ่ายพันธมิตรเองก็เสนอให้หน่วยกาชาดของฝรั่งเศสเข้าไปรักษาพยาบาลทหารเยอรมันและพลเรือนในเมืองดันเคิร์กที่บาดเจ็บจากการสู้รบ

การปิดล้อมยังดำเนินต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 1944 ฝ่ายปิดล้อม และฝ่ายที่ถูกปิดล้อม ล้วนต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันเย็นยะเยือก และพื้นที่ที่มีระดับต่ำทั่วบริเวณเมืองดันเคิร์กถูกน้ำท่วม มันจึงเป็นฝันร้ายในฝันร้ายให้กับฝ่ายเยอรมัน แต่แม้ข้าศึกจะอยู่ในสภาวะที่ลำบากขนาดนี้แล้ว ก็ไม่มีท่าทีใดๆ ของการบุกจากฝ่ายที่ปิดล้อม จนย่างเข้าปีใหม่ 1945 และเวลาก็ผ่านพ้นมาถึงเดือนเมษายน

ฝ่ายเยอรมันประสบความสำเร็จในการนำเรือดำน้ำขนาดเล็กเล็ดลอดเข้ามาส่งเสบียงและกระสุนที่ดันเคิร์กได้ แม้จะเล็ดลอดเข้ามาได้ แต่การบาดเจ็บล้มตายของทหารเยอรมันก็มีอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากการรบและเจ็บป่วย แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมแพ้และพร้อมที่จะรบขั้นแตกหักสุดท้ายกับฝ่ายพันธิมตรอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤษภาคม 1945 ภายหลังจากการประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมันต่อกองทัพพันธมิตร ธงขาวและผ้าสีขาวจึงปรากฏให้เห็นที่ดันเคิร์ก นายพลเรือฟริดิก ฟรีเซียส ผู้บัญชาการกองกำลังเยอรมันที่ดันเคิร์กนำทหารเยอรมันที่เหลืออยู่ยอมแพ้ต่อนายพลอาโลช ลิชก้า ผู้บัญชาการกองพลน้อยยานเกราะเช็กโกสโลวักที่ 1 ในวันที่ 9 พฤษภาคม 1945

การรบที่ ดันเคิร์ก ปี 1944 แม้จะไม่ได้เหมือนการล่าถอยและถอนทหารครั้งใหญ่เหมือนปี 1940 ก็ตาม โชคชะตาก็ให้ดันเคิร์กกลับมาถูกปิดล้อมอีกครั้ง โดยฝ่ายที่เคยเป็นผู้ปิดล้อมเมื่อปี 1940 กลับต้องถูกปิดล้อมซะเอง แต่แม้การปิดล้อมในครั้งนี้จะยื้ดเยื้อและยาวนานกว่าปี 1940 ก็ตาม

การรบครั้งนี้กลับมีช่วงเวลาเล็กๆ ช่วงหนึ่งที่ประตูแห่งมนุษยธรรมถูกเปิดออก การรบราฆ่าฟันถูกเปลี่ยนเป็นการรักษาชีวิตของกันและกัน ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ส่งผลให้มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์กว่า 18,000 ชีวิตรอดมาได้จากการหยุดพักรบในเวลานั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


References :

[1] http://www.canadiansoldiers.com/…/northwest…/dunkirk1944.htm

[2] http://www.worldwar2heritage.com/…/time…/16/Siege-of-Dunkirk

[3] http://www.liquisearch.com/siege_of_dunkirk_1…/opening_moves


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2560