ฤๅ “ร่างทรง” มักคือผู้เคยผ่านวิกฤตในชีวิต!? ดูตัวอย่างหนึ่งจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา

…ปีนี้ (พ.ศ. 2559 – กองบรรณาธิการ) กระแสข่าวในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการทรงเจ้ามีมากอย่างเห็นได้ชัด คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องประหลาด เป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะการเข้าทรงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น พระนเรศวร กรมหลวงชุมพรฯ ฯลฯ แต่ความจริงแล้วการเข้าทรงบุคคลในประวัติศาสตร์มีมานานแล้ว

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจากงานวิทยานิพนธ์ทางด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อเรื่อง “ร่างทรง : บทบาทที่มีต่อสังคมปัจจุบัน กรณีศึกษาที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา” ของนิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ ทำเมื่อ พ.ศ. 2532 ได้สัมภาษณ์ร่างทรงผู้หนึ่ง เป็นร่างทรงเจ้าแม่อุไรทอง ร่างทรงนี้เป็นผู้หญิง อายุ 69 ปี (เมื่อราว พ.ศ. 2530) มีอาชีพค้าขาย ฐานะดี ทุกปีจะมีการจัดงานไหว้ครูประจำปี และการแก้บนอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นการตอบแทนเจ้าหรือผี มีนิสัยชอบบริจาคเงิน สร้างพระ สร้างสำนักสงฆ์ และสร้างอุโบสถหลายแห่ง

ร่างทรงเจ้าแม่อุไรทอง เป็นร่างทรงที่สังกัดสำนักประเภทเทพ เป็นร่างทรงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีความสามารถในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไล่ผี ไล่คุณไสย ด้วยการรดน้ำให้พรและพอกแป้ง เป็นครูตั้งขันห้า และอบรมสั่งสอนร่างทรงใหม่ๆ อีกทั้งเป็นที่พึ่งของร่างทรงที่ยากจน ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เจ้าแม่ให้บริการตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ในปีที่สัมภาษณ์ร่างทรงนั้น ร่างทรงได้เลิกให้บริการไปแล้ว เนื่องจากเป็นอัมพาต

ก่อนหน้าเป็นร่างทรง ร่างทรงมีปัญหาครอบครัว คือสามีมีภรรยาน้อย และมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึงการมีบุตรถึง 10 คน ทำให้ต้องทำงานหนัก บุตรบางคนไม่ดีสร้างปัญหาให้กับครอบครัว นอกจากนี้ร่างทรงยังมีอาการวิกลจริต บางครั้งคลุ้มคลั่ง และเคยพยายามฆ่าตัวตาย ต่อมาภายหลังจากการเป็นร่างทรง ฐานะทางครอบครัวก็ดีขึ้นมาก ปัญหาครอบครัวก็เบาบางลง และอาการวิกลจริตก็หายลง

ร่างทรงเจ้าแม่อุไรทองมีเจ้ามาจับร่างเป็นจำนวนเกือบ 20 องค์ เช่น เจ้าแม่อุไรทอง เจ้าแม่ตะเคียนทอง พระนางเรือล่ม เจ้าแม่กวนอิม พระนารายณ์ พระนเรศวร ฤๅษีลิงดำ องค์จุก และเจ้าพ่อหนูแดง เป็นต้น ภาษาที่ใช้เวลาเข้าทรงส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย แต่มีบางครั้งพูดภาษาจีนด้วย (นิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ, 2532 : 95-97)

แม้ว่าในบางวัฒนธรรม ร่างทรงจะสืบทอดกันผ่านสายตระกูลหรือวิธีการอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรพิจารณาด้วยก็คือความเป็นมาในชีวิตของพวกเขา ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ร่างทรง : บทบาทที่มีต่อสังคมปัจจุบัน กรณีศึกษาที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา” สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ ทำเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2532 นั้น ได้ศึกษาชีวิตของร่างทรงจำนวน 6 คน ทำให้เห็นชัดว่าร่างทรงแต่ละคนมักจะมีจุดวิกฤตที่ร้ายแรงในชีวิต เช่น ถูกสังคมกดดันว่าเป็นกะเทย

ดังที่เล่าไปแล้ว บางรายครอบครัวไม่ให้การยอมรับ บางคนเจ็บป่วยอย่างหนัก ไปรักษาหมอสมัยใหม่ไม่หาย บางรายครอบครัวประสบวิกฤตเศรษฐกิจและมีปัญหาครอบครัว จนถึงขั้นจะคิดฆ่าตัวตาย (นิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ, 2532)…


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ “รัฐประหาร-ร่างทรง ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ไทย” โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2559