“House of Card” ฉบับอาเซอร์ไบจาน? เมื่อสตรีหมายเลข 1 ควบตำแหน่ง รองปธน.

อิลฮาม อลิเยฟ และ เมห์ริบัน อาลิเยวา ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานร่วมชมการแข่งขันเทควันโดรอบชิงชนะเลิศใน Islamic Solidarity Games ครั้งที่ 4 ในกรุงบากู เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2017 (AFP)

หลายคนน่าจะเคยได้ดูซีรีย์ยอดฮิตทางเน็ตฟลิกซ์ อย่าง “House of Cards” ซึ่งนำแสดงโดย เควิน สเปซีย์ (Kevin Spacey) นักแสดงรางวัลออสการ์ ที่มารับบท แฟรงก์ อันเดอร์วูด (Frank Underwood) นักการเมืองพรรคเดโมแครต ผู้ทะเยอทะยาน และได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (แต่ไม่ได้รัฐประหารนะ) และ โรบิน ไรท์ (Robin Wright) ผู้รับบท แคลร์ อันเดอร์วูด (Clair Underwood) ภรรยาที่ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ภรรยา แต่เป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของแฟรงก์ ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีเคียงข้างสามี (แม้แฟรงก์จะต่อต้านในเบื้องต้นก็ตาม)

พล็อตดังกล่าวทับซ้อนกันโดยบังเอิญกับการเมืองของอาเซอร์ไบจาน อดีตประเทศบริวารของสภาพโซเวียตในแถบเทือกเขาคอเคซัส (ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชาติอื่นอย่างเติร์ก มองโกล และเปอร์เซีย) เมื่อประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอาเซอร์ไบจาน อิลฮาม อลิเยฟ (Ilham Aliyev) ได้แต่งตั้งให้ เมห์ริบัน อาลิเยวา (Mehriban Aliyeva) ภรรยาของเขาขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ แคลร์, เมห์ริบัน อาลิเยวา มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาลที่สามีของเธอเป็นผู้นำ อาลิเยวา ได้รับการศึกษาจากรัสเซีย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ปี 2005 และได้ก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานพรรคอาเซอร์ไบจานใหม่ (Yeni Azerbaijan Party) ตั้งแต่ปี 2013

ในโอกาสที่อาลิเยฟแต่งตั้ง อาลิเยวาเป็นรองประธานาธิบดี เขาได้กล่าวชื่นชมผลงานของภรรยาโดยเฉพาะในด้านการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ครั้งที่เธอยังเป็นสส. ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้อาลิเยวา ยังมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ ด้วยการเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเนสโก รวมไปถึงการเป็นคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (ยูโรนิวส์)

การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในลักษณะนี้ย่อมเลี่ยงข้อครหาว่าเป็นเด็กเส้นไม่ได้ และอาเซอร์ไบจานเองก็ถูกมองว่ามีรูปแบบการปกครองที่ล้าหลัง เหมือนกับเอกสารทางการทูตของสหรัฐฯ ที่หลุดออกมาและถูกเอามาเผยแพร่ต่อโดยวิกิลีกส์ ได้บรรยายเอาไว้ว่า “ผู้สังเกตการณ์ในกรุงบากู (เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน) มักจะกล่าวถึงอาเซอร์ไบจานในวันนี้ว่ามีการปกครองที่มีลักษณะคล้ายกับระบบศักดินาสวามิภักดิ์ซึ่งพบในยุโรปสมัยยุคกลาง: ครอบครัวเพียงไม่กี่ครอบครัวที่มีเส้นสายสามารถครอบงำภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง รวมไปถึงภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้” และครอบครัวเหล่านี้ก็ใช้ “กลไกของภาครัฐ” ในการกีดกันการแข่งขันจากภายนอก

อาลิเยวา จึงต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษในการพิสูจน์ตนเองว่าเธอมีความเหมาะสมกับการได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งในรอบร้อยวันที่ผ่านมาหลังจากที่เธอได้ขึ้นมารับตำแหน่ง เธอก็ได้ให้ความสำคัญกับภารกิจทางด้านสังคมวัฒนธรรม และการคงไว้ซึ่งความหลากหลายของพหุสังคม ในประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอิสลามในระดับนานาชาติที่พยายามผลักดันให้เอาศาสนาเป็นเครื่องมือชี้นำการบริหารประเทศ ซึ่งตอนนี้คงจะเร็วเกินไปที่บอกว่า ผลงานของเธอดีแค่ไหน

ขณะที่นักวิจารณ์เช่น อาร์ซู เกย์บูลลาเยวา (Arzu Geybullayeva) นักเขียนและนักวิจัยชาวอาเซอร์ไบจานที่ทำงานในตุรกีมองว่า การแต่งตั้งให้เธอขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีของสามี เป็นเพียงเครื่องการันตีแผนการสืบทอดอำนาจในกรณีที่อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในช่วงที่ปัจจัยหลายๆ ไม่เป็นใจกับรัฐบาล ทั้งเรื่องปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แถมยังเจอกับความพยายามที่จะตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของครอบครัวประธานาธิบดีอีก แม้ว่าอาลิเยฟ จะได้หาทางป้องกันการเอาผิดด้วยการออกกฎหมายให้ประธานาธิบดีได้รับความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี อาลิเยวาอาจจะทำงานได้ถูกใจชาวอาเซอร์ไบจาน และกลายเป็นประธานาธิบดีที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าสามี หรือไม่ก็อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เป็นใจกับครอบครัวท่านผู้นำก็ได้ ใครจะรู้?


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 9 มิถุนายน 2560