โปรดเกล้าฯ “พิริยะ ไกรฤกษ์” เป็นศาสตราจารย์พิเศษ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐

ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อาจารย์พิเศษ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดํารงตําแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙

ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐                                                                      ผู้รับสนองพระราชโองการ                                                                                          พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง                                                                                        รองนายกรัฐมนตรี

ประวัติ รองศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์

(ข้อมูลและภาพจาก : มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ http://www.piriyafoundation.com)

ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้รับประกาศนียบัตรวิชาจิตรกรรมจาก Oskar Kokoschha’s School of Vision เมืองซาลสเบอร์ก ประเทศออสเตรีย และประกาศนียบัตรวิชาประติมากรรมจาก Royal Colege of Art กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หลังจากนั้นได้หันความสนใจไปในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

ดร. พิริยะ ได้เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว จึงทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น ยังได้รับเลือกเป็นนายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๕ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับเกียรติจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยกย่องให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ดร. พิริยะ เป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการทั้งในประเทศและนานาชาติ ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะของเอเชีย และยังเป็นผู้จัดตั้งแผนกศิลปะแห่งเอเชียที่ National Gallery of Australia ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ อีกทั้งยังเขียนบทความเป็นประจำเกี่ยวกับศิลปะและโบราณคดีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ พิมพ์ลงวารสารนานาชาติหลายฉบับ เช่น Artibus Asiae, Art of Asia และ Oriental Art เป็นต้น

งานเขียนภาษาอังกฤษชิ้นสำคัญ คือหนังสือ The Sacred Image: Sculpture from Thailand จัดพิมพ์โดย Museum für Ostasiatische Kunst, Köln เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ส่วนหนังสือเรื่อง Art of Peninsular Thailand Prior to the Fourteenth Century A.D. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาจีน

นอกจากนั้นแล้ว ดร. พิริยะ ยังแต่งตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา (พ.ศ. ๒๕๒๘) ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๓๓) และ อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯลฯ
งานวิจัยค้นคว้าในระยะหลังที่ได้รับการกล่าวอ้างมากที่สุดได้แก่เรื่อง จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม (พ.ศ. ๒๕๓๒) กับ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. ๒๕๔๕) ซึ่งเป็นการทบทวนองค์ความรู้เดิมทางด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย

ผลงานสำคัญอีกชิ้นคือหนังสือชุด ลักษณะไทย เล่ม ๑ พระพุทธปฏิมาอัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ผลงานชิ้นนี้ ได้ถูกทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตอยู่ใน www.laksanathai.com ทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือ

ผลงานอีกชิ้นที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่ใช้ความพากเพียรในการศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงยาวนานที่สุดกว่า 30 ปี เริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ คือหนังสือ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย โดยมีเนื้อหาเป็นการรวบรวมทฤษฎีใหม่ที่ครอบคลุมระยะเวลา ๗๐๐ ปีของงานพุทธศิลป์ พราหมณศิลป์ และศิลปะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา นับเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึง ๑๙ ที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนจากมูลนิธิ Gordon Darling Foundation ให้ทุนเพื่อแปลและจัดพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ The Roots of Thai Art

ผลงานวิจัยล่าสุดของ ดร. พิริยะ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ นางจำนงค์ ไกรฤกษ์ ผู้เป็นมารดา คือหนังสือ กึ่งพุทธกาลพุทธศิลป์ไทย หนังสือเล่มนี้ถือเป็นภาคต่อของ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย ด้วยแสดงให้เห็นความต่อเนื่องทางรูปแบบของพุทธศิลป์ไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปจนถึงกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. ๒๕๐๐) โดยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเถรวาทคณะต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดวิวัฒนาการทางรูปแบบกับพุทธศิลป์ไทยใน ๓ หมวดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในเขตพระอารามทั่วทุกภูมิภาค

งานวิจัยล่าสุดของ ดร. พิริยะ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ได้แก่ “ศิลปะแห่งชาติในรอบหกทศวรรษ: พุทธศิลป์ในสมัยรัชกาลที่ ๙” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า งานวิจัย “พุทธศิลป์ ร.๙” จะกล่าวถึงงานพุทธศิลป์ไทย ตั้งแต่ปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และนับเนื่องต่อไปอีกหกทศวรรษ จนถึงปัจจุบัน