นิวออร์ลีนส์รื้อ “อนุสาวรีย์ผู้นำฝ่ายใต้” ชี้เป็นเครื่องมือสรรเสริญระบอบทาส

ภาพถ่ายอนุสาวรีย์ เจฟเฟอร์สัน เดวิส ในนครนิวออร์ลีนส์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2017 (AFP PHOTO/BEN DEPP)

รายงานของเอพีระบุว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 พฤษภาคม) คนงานได้ทำการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของเจฟเฟอร์สัน เดวิส (Jefferson Davis) ประธานาธิบดีฝ่ายสมาพันธรัฐ (Conferderate กลุ่มรัฐฝ่ายใต้ที่สนุบสนุนระบอบทาสและต้องการแยกตัวจากฝ่ายสหภาพหรือรัฐบาลกลางสหรัฐฯ) ในนครนิวออร์ลีนส์แล้ว หลังสภานครมีมติให้รื้อถอนตั้งแต่ปี 2015

อนุสาวรีย์ของเจฟเฟอสัน เดวิส เป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์สี่แห่งที่ถูกสั่งรื้อถอน และเป็นแห่งที่สองที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว โดยอนุสาวรีย์แห่งแรกถูกรื้อถอนไปตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นเสาโอเบลิกส์ (obelisk) ขนาด 35 ฟุต ส่วนอนุสาวรีย์ที่รอการรื้อถอนอีกสองแห่งเป็นอนุสาวรีย์ของสองนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐ โรเบิร์ต อี. ลี (Robert E. Lee) และพี.จี.ที. บูรีการ์ด (P.G.T. Beauregard)

ระหว่างการเคลื่อนย้ายมีการชุมนุมของประชาชนราวหลักสิบ มีทั้งฝ่ายสนับสนุนการรื้อถอน และฝ่ายที่ต่อต้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแนวรั้วป้องกันการปะทะของทั้งสองฝ่าย โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ 50 นาย คอยดูแลความเรียบร้อย

ผู้ว่าการนครนิวออร์ลีนส์ มิตช์ แลนดรู (Mitch landrieu) ผู้ผลักดันการรื้อถอนอนุสาวรีย์ในครั้งนี้ได้ออกแถลงการณ์กล่าวว่า “อนุสาวรีย์เหล่านี้มิได้มีอยู่เพื่อเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์หรือการศึกษาจากผลพวงของระบอบทาสและการแบ่งแยกประเทศ แต่มันคือเครื่องหมายแห่งการเฉลิมฉลองสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า เราจะต้องจดจำประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเรา แต่เราไม่จำเป็นต้องชื่นชมมัน ว่ากันตามตัวอักษรการจับเอาตัวแทนของความเป็นสมาพันธรัฐมาขึ้นแท่นในพื้นที่สาธารณะบางแห่งซึ่งมีความสำคัญของเรา ไม่เพียงเป็นการสะท้อนอดีตของเราอย่างไม่ถูกต้องแล้ว มันยังเป็นการเหยียบย่ำปัจจุบันของเรา แถมยังเป็นการวางยาอนาคตของพวกเราเอง เราไม่ควรกลัวที่จะเผชิญหน้า และพร้อมยอมรับอดีตของเรา”

ทั้งนี้ นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่มีคนผิวดำเป็นประชากรกลุ่มหลัก มีจำนวนราว 3.9 แสนคน อนุสาวรีย์เหล่านี้ถูกตั้งขึ้นก่อนยุคสิทธิพลเมืองที่ทำให้คนผิวดำมีอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกับคนผิวขาว สภานครซึ่งตอนนี้มีตัวแทนเสียงข้างมากเป็นคนผิวดำจึงได้ลงมติให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ดังกล่าว ส่วน มิตช์ แลนดรู เป็นผู้ว่าฯ 2 สมัยจากพรรคเดโมแครต ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2010 โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองเชื้อชาติ