เยอรมันอพยพชาวบ้านกว่า 5 หมื่น เปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดในเมืองฮันโนเวอร์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2017 (AFP PHOTO / dpa / Peter Steffen)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในเมืองฮันโนเวอร์ (Hanover) ประเทศเยอรมนีต้องอพยพชาวบ้านจำนวน 50,000 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนราว 10 เปอร์เซนต์ของประชากรเมืองทั้งหมดออกจากพื้นที่อันตราย เพื่อเปิดทางให้ชุดกู้ระเบิดเข้ามาปลดชนวนระเบิดที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

การอพยพครั้งนี้ได้เตรียมการมานาน ทางรัฐบาลยังได้จัดกิจกรรมหลายอย่างการทัวร์พิพิธภัณฑ์ไว้รองรับประชาชนหลายพันคนในพื้นที่ที่ห่างออกไป เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำการเก็บกู้ระเบิด

การกู้ระเบิดเป็นไปอย่างราบรื่น รายงานของ DW สื่อเยอรมันระบุว่า เมื่อถึงเวลา 18 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ผู้คนที่ถูกเคลื่อนย้ายกลับเข้าพักในบ้านเรือนได้ตามปกติ

รายงานของ The Atlantic ระบุว่า สัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถล่มเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมแล้วราว 250,000 ลูก ผ่านไปแล้วกว่า 70 ปี ก็ยังคงมีระเบิดที่ยังไม่ระเบิดซุกซ่อนอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งยิ่งปล่อยนานไว้ก็จะยิ่งเป็นอันตราย

โดยการอพยพครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากการอพยพในอักส์เบิร์ก (Augsburg) เมื่อปลายปีก่อนที่ต้องอพยพประชาชนกว่า 54,000 คน หลังมีการพบระเบิดอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่เมืองโคโลญ (Cologne) เมื่อปี 2015

ขณะที่การเก็บกู้ระเบิดเมื่อปี 2010 ในเมืองกอตติงเกน (Gottingen) ได้เกิดความสูญเสียขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิต 3 รายระหว่างการกู้ระเบิด แต่ระเบิดเกิดปะทุขึ้น และอีกมีเจ้าหน้าที่อีก 2 รายได้รับบาดเจ็บ