นักวิทย์อิตาเลียนเตรียมทำ“สมองมนุษย์โบราณ” จากกะโหลกเด็กเมื่อ 1.7 หมื่นปีก่อน

แฟ้มภาพกะโหลกที่พบบริเวณชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศอิสราเอล (ไม่ใช่กะโหลกเด็กยุคโบราณตามข่าว) ภาพโดย AFP PHOTO / MENAHEM KAHANA

จากรายงานของ The Local นักวิทยาศาสตร์จากอิตาลีเตรียมจำลองสมองมนุษย์โบราณขึ้นโดยอาศัยกะโหลกอายุ 17,000 ปี ซึ่งถูกพบทางตอนใต้ของประเทศ

กะโหลกดังกล่าวเป็นของเด็กอายุราว 10-12 ปี ถูกพบที่กรอตโต เดล โรมิโต (Grotto del Romito) ในภูมิภาคคาลาเบรีย (Calabria) ภายในถ้ำที่ถูกใช้โดยมนุษย์โฮโมเซเปียนส์เมื่อราว 10,000-23,000 ปีก่อน

อายุที่ยังน้อยของกะโหลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำลองสมองได้ดังที่ ฟาบิโอ มาร์ตินี (Fabio Martini) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์โบราณอธิบายว่า

“เด็กยังคงเติบโตได้ เนื้อกระดูกที่กะโหลกของเขาจึงค่อนข้างนิ่ม…แรงกดจากสมองที่เติบโตทำให้เกิด ‘ร่องรอย’ [เนื้อสมอง] ภายในกะโหลก ถึงตอนนี้ต้องขอบคุณเครื่องสแกน 3 มิติ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้เราสามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ของสมองยุคโบราณ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน”

“อีกไม่นานเราจะได้สัมผัสสมองของเด็กอายุ 17,000 ปี ด้วยมือของเรา” มาร์ตินีกล่าวเสริม

รายงานระบุว่า การจำลองสมองมนุษย์โบราณจะช่วยให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบสมองของเด็กในยุคที่มนุษย์ยังล่าสัตว์-เก็บของป่า กับสมองเด็กยุคใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจพัฒนาการของสมองมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น