อินโดฯ ยังไม่เลิก ขริบ “ปุ่มกระสัน” ผู้ศรัทธาอ้าง ไม่ทำเด็กอาจมีปัญหาทางจิต, มักมาก

Salsa Djafar ทารกวัย 18 เดือน ร้องไห้หลังผ่านพิธีสุหนัต เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2017 (AFP PHOTO / BAY ISMOYO)

ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดกอรอนตาโล (Gorontalo) อันห่างไกล Salsa Djafar ทารกน้อยเพศหญิงวัยเพียง 18 เดือนถูกจับมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส พร้อมด้วยเครื่องประดับศรีษะสีทองเพื่อเตรียมตัวประกอบพิธีเข้า “สุหนัต” ประเพณีสำคัญตามความเชื่อทางศาสนาในอินโดนีเซีย ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดโลก โดยหมอพื้นเมืองได้ใช้มีดตัดเอาหนังชิ้นเล็กๆ ที่หุ้มปุ่มกระสัน (clitoris) ของเธอออก ก่อนปักมีดลงไปบนลูกมะนาว เป็นการจบพิธี และถือว่าสาวน้อยคนนี้ได้กลายเป็นมุสลิมเต็มตัว

“มันทำใจยากที่เห็นลูกต้องร้องไห้อย่างนี้ แต่มันถือเป็นประเพณี” Arjun Djafar พ่อวัย 23 ปี ของ Salsa กล่าวกับ AFP 

Salsa Djafar ทารกวัย 18 เดือน เตรียมตัวเข้าพิธีสุหนัต เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2017 (AFP PHOTO / BAY ISMOYO)

การเข้าสุหนัตในผู้หญิง รู้จักกันในอีกชื่อว่าการสร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศของผู้หญิง (female genital mutilation, FGM) เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคน และหลายคนถือว่าเป็นพิธีแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงอย่างกอรอนตาโล ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า ในจังหวัดนี้มีเด็กอายุไม่เกิน 11 ปีกว่า 80 เปอร์เซนต์ ที่ผ่านการเข้าสุหนัตมาแล้ว ขณะที่สถิติรวมทั้งประเทศอยู่ราว 50 เปอร์เซนต์

Khadijah Ibrahim หมอพื้นเมืองที่สืบทอดวิชาชีพต่อมาจากแม่ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อนอ้างว่า เด็กผู้หญิงคนใดที่ไม่ผ่านพิธีกรรมขริบอวัยวะเพศเสี่ยงที่เกิดปัญหาทางจิต และความพิการบกพร่องตามมา การขริบอวัยวะเพศยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหญิงกลายเป็นพวกมัวเมาในกามเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า คำสวดอ้อนวอนของหญิงที่ไม่ผ่านการขริบจะไม่ได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า

การประกอบพิธีกรรมเช่นนี้มิได้จำกัดแต่เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลอย่างกอรอนตาโลเท่านั้น แม้แต่ในกรุงจาการ์ตาก็มีการประกอบพิธีนี้เช่นกัน แต่วิธีการที่ใช้อาจจะรุนแรงน้อยกว่าเช่นการเจาะปุ่มกระสัน แทนที่จะใช้วิธีการขริบหนังหุ้มออก

ด้านรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามหาทางประนีประนอมกับความเชื่อและประเพณีของชาวบ้านจึงได้ยกเลิกนโยบายสั่งห้ามการประกอบพิธีโดยสิ้นเชิง และหันมาสนับสนุนให้หมอใช้วิธีการที่สร้างความเสียหายน้อยกว่า และมีความปลอดภัยมากกว่าแทน โดยรัฐบาลอินโดนีเซียอ้างว่าปัจจุบัน วิธีการที่ใช้ในพิธีสุหนัตผู้หญิงโดยทั่วไปในอินโดนีเซีย เช่นการเจาะเพื่อติดตุ้มปุ่มกระสันนั้นไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศ (FGM) แต่อย่างใด

แต่ทางสหประชาชาติไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า FGM นั้นหมายถึง “กระบวนการใดๆ ที่สร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศของสตรีโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์” ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจสร้างปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งด้านการเจริญพันธุ์ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกแซงระหว่างการคลอดบุตรได้ ทางสหประชาชาติจึงพยายามหาทางกำจัดการประกอบพิธีกรรมนี้ให้หมดไป

ทั้งนี้ ปัญหาการสุหนัตในผู้หญิงเป็นหัวข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในอินโดนีเซียมาแล้วหลายครั้ง นักกิจกรรมหลายคนมองว่า พิธีกรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้หญิง และยังเป็นพิธีกรรมที่ไม่มีการยืนยันในคัมภีร์อัลกุรอานแต่อย่างใด

ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็มีท่าทีกลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่เคยออกคำสั่งห้ามแพทย์ทำการสุหนัตในผู้หญิงโดยสิ้นเชิงเมื่อปี 2006 ทำให้องค์กรใหญ่ของมุสลิมออกฟัตวา (คำวินิจฉัยทางศาสนา) มาตอบโต้ระบุว่า ผู้หญิงที่ผ่านการสุหนัตย่อมได้รับการยกย่องในความสูงส่ง

หลังจากนั้นหลายปี รัฐบาลก็กลับไปอนุญาตให้แพทย์ทำการสุหนัตให้ผู้หญิงได้อีก หากเป็นเพียงการ “เจาะหนังหุ้มปุ่มกระสัน” ก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งนี้อีกครั้ง แล้วตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมแทน

บรรดานักรณรงค์มองว่า พฤติกรรมของรัฐบาลที่โลเลไปมาจึงทำให้เกิดความสับสน และทำให้การประกอบพิธีที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเครื่องเพศเหมือนพิธีที่ทำในจังหวัดกอรอนตาโล ยังคงมีอยู่ต่อไป

ด้าน Jurnalis Uddin ผู้เชี่ยวชาญด้านการสุหนัตในผู้หญิง และหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลชี้ว่า รัฐควรเน้นนโยบายที่นำไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้วิธีการที่สร้างความเสียหายน้อยลง โดยชี้ว่า “การกำจัดวิธีปฏิบัติดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงไม่ต่างไปจากการว่ายน้ำทวนกระแส”


หมายเหตุ: “สุนัต” หรือ “สุหนัต? หากยึดตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ไม่มีบัญญัติคำว่า “สุนัต” มีแต่คำว่า “สุหนัต” อันหมายถึง “พิธีขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตามข้อกำหนดในศาสนาอิสลาม”

การนำคำนี้มาใช้ในเชิงเทียบเคียงในฐานะที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มาจากพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน ซึ่งแม้แต่เว็บไซต์ของชาวมุสลิม อย่าง “สำนักข่าวมุสลิมไทย” ก็นำคำนี้มาใช้ในการรายงานข่าวเรื่องการ “สุหนัต” ในผู้หญิงเช่นเดียวกัน