พระพุทธรูปโบราณ “ลี้ภัยสงคราม” ในอัฟกานิสถาน สู่พิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล

ภาพถ่ายพระพุทธรูปที่สำนักงานคณะผู้แทนด้านโบราณคดีแห่งฝรั่งเศส (DAFA) ประจำกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2017 (AFP PHOTO / Wakil KOHSAR)

เมื่อ 16 สิงหาคม 2021 กลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูล ปัจจุบันพระพุทธรูปโบราณในอัฟกานิสถานจะเป็นเช่นไร!!!? โดยหลายปีก่อนหน้าดูจะยังมีความหวังจากการค้นพบพระพุทธรูปโบราณที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ย้อนอ่านได้จากข่าวนี้…

รายงานของเอเอฟพี (เมื่อ 17 มีนาคม 2017) อัฟกานิสถานเตรียมจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และยังสามารถมองเห็นสีสันได้อย่างชัดเจน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในกรุงคาบูล หลังถูกนำออกมาจากพื้นที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว

พระพุทธรูปองค์นี้ถูกฝังอยู่ใต้ชั้นดินตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 3-5 ทั้งนี้จากข้อมูลของนักโบราณคดี ก่อนถูกค้นพบเมื่อปี 2012 ในเขต Mes Aynak ของจังหวัด Logar ห่างจากกรุงคาบูลไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มตาลีบัน กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงที่เคยทำลายพระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันมาก่อน

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นได้หลังกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนทำเหมืองทองแดงขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้พบกับกลุ่มวิหารโบราณบนพื้นที่กว้างขวางกว่า 4 ตารางกิโลเมตร

“รูปปั้นนี้อยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ตอนที่ถูกค้นพบ โดยยังมีหัว (พระเศียร) อยู่ครบซึ่งถือว่าพบได้ยากมาก” เอร์มาโร คาร์โบนารา (Ermano Carbonara) ช่างบูรณะวัตถุโบราณชาวอิตาเลียนกล่าว

พระพุทธรูปตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 3-5 ค้นพบเมื่อปี 2012 ในเขต Mes Aynak ของจังหวัด Logar ห่างจากกรุงคาบูลไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร (AFP PHOTO / Wakil KOHSAR)

“มันถูกตั้งอยู่ตรงกลางซุ้มซึ่งประดับประดาด้วยภาพเขียนดอกไม้ต่างๆ ณ พื้นที่ศูนย์กลางขนาดใหญ่ (ที่เคยใช้) สำหรับสการสวดภาวนา” ช่างอิตาเลียนกล่าว ก่อนเสริมว่า “การย้ายออกมาจุดเดิมเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพื่อการอนุรักษ์” เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้ทำจากดินเหนียว ความชื้นจากฝนอาจทำให้เกิดความเสียหายได้

คาร์โบนารายังชื่นชมว่ารายละเอียดของพระพักตร์ พระเกศาที่ม้วนเป็นพระเมาลี พระปรางค์สีชมพู และดวงพระเนตรสีน้ำเงิน ถือเป็นงานที่แสดงถึงเทคนิคอันลึกล้ำของช่างฝีมือในยุคโบราณของถิ่นกำเนิดพระพุทธรูปแห่งนี้

และด้วยเหตุที่พระพุทธรูปโบราณโดยเฉพาะส่วนพระเศียรเป็นวัตถุโบราณที่เป็นที่ต้องการสูงในตลาดมืด พระพุทธรูปจำนวนมากในอัฟกานิสถานจึงอยู่ในสภาพไร้พระเศียร การทิ้งพระพุทธรูปโบราณในสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ไว้ในพื้นที่สาธารณะซึ่งเข้าถึงได้ง่ายจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2560