สาวพม่าถูกหลอกไปเป็น “เจ้าสาว” ให้ชาวจีน หลังนโยบายลูกคนเดียวทำให้ “ผู้หญิงขาดแคลน”

เมีย ซอ ชายชาวพม่าถือภาพถ่ายของลูกสาวซึ่งหายตัวไปก่อนถูกบังคับให้แต่งงานกับชายชาวจีน (AFP PHOTO / YE AUNG THU )

จากรายงานของเอเอฟพี สาวพม่าจำนวนมากถูกหลอกให้เป็นทำงานในประเทศจีน ก่อนถูกบังคับให้แต่งงานกับหนุ่มจีน ที่หาสาวจีนด้วยกันมาแต่งงานไม่ได้ ด้วยสัดส่วนประชากรชายหญิงในประเทศขาดความสมดุลเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

“เธอไม่ได้พูดอะไรสักคำ เธอจากไปหลังมีปากเสียงกับน้องสาว แม่เธอบอกให้เธอหยุดแล้วเธอก็หายไปเลย” เมีย ซอ (Mya Soe) กล่าวถึง จี เปียร์ ซอ (Kyi Pyar Soe) ลูกสาววัย 22 ปี ที่หายตัวไปจากชุมชนคนไร้บ้านไม่ไกลจากย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของพม่า

เมีย ซอ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าลูกสาวของเขาเดินทางไปยังประเทศจีนร่วมกับสาวพม่าอีกหลายรายเพื่อไปเป็นแม่บ้านโดยมีเงินเดือนยั่วใจให้ราวเดือนละ 210 ดอลลาร์ (ราว 7,400 บาท) สูงกว่าที่พวกเธอจะได้จากการขายแรงงานในประเทศ

แต่เมื่อพวกเธอเดินทางไปถึงประเทศจีน เรื่องราวกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่นายหน้าจัดหางานล่อลวงให้พวกเธอเชื่อ

“พวกเขาถูกพาตัวไปยังบ้านของหญิงสาวจีน ซึ่งหญิงรายนี้ก็จะพาหนุ่มจีนเข้ามาเลือกชมพวกเธอ…เธอบอกกับสาวๆพม่าว่า พวกเธอจะต้องแต่งงานกับชายชาวจีน” เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่ากล่าว

รายงานของเอเอฟพีกล่าวว่า “เจ้าสาวชาวพม่ากำลังเป็นที่ต้องการในเมืองจีน ประเทศที่มีนโยบายลูกคนเดียวซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเพศในหมู่ประชากร”

ทั้งนี้จากการสำรวจของธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2013 พบว่าประเทศจีนมีประชากรเพศหญิงคิดเป็น 48.172 เปอร์เซนต์ หรือเทียบเป็นสัดส่วนจะได้ผู้ชาย 107.59 คนต่อผู้หญิง 100 คน จัดประเทศที่มีสัดส่วนผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงเป็นลำดับที่ 8 ของโลก (อันดับ 1 คือ กาตาร์ ซึ่งมีสัดส่วนผู้ชาย 326 คน ต่อผู้หญิง 100 คน และอันดับรองๆลงมาก็ล้วนเป็นชาติอาหรับ)

ชาวพม่าที่ถูกลักลอบพาเข้าประเทศจีนระหว่างปี 2006-2016 มีกว่า 3 พันราย ทั้งนี้จากตัวเลขของทางการ โดย “ราว 2 พันคน เป็นผู้หญิง…4 ร้อยคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” เย วิน ออง (Ye Win Aung) เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงแผนกต่อต้านการค้ามนุษย์ในย่างกุ้งกล่าว

“พวกเธอได้รับข้อเสนอให้ไปทำงานที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายกลับถูกขายให้ไปเป็นเมียของคนจีนแทนเมื่อพวกเธอได้ข้ามแดนไปแล้ว” นายตำรวจพม่ากล่าว ก่อนเสริมว่าถึงขณะนี้มีคดีลักษณะเดียวกันแล้วราว 800 คดี ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอเชื่อว่าตัวเลขผู้ประสบเหตุน่าจะสูงกว่านั้นมาก