รายงาน “ข่าวปลอม” (?) พบร่าง “กวนอู” -ที่แท้จริง- พร้อมร่างหญิงนิรนาม

ภาพประกอบรายงานข่าวพบร่างกวนอูของหลายเว็บไซต์ในเมืองไทย

เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนผู้เขียนมาแจ้งเบาะแสข่าวใหญ่สำหรับคนที่สนใจเรื่องจีนๆ ว่า มีการพบร่างที่แท้จริงของกวนอูแล้ว แถมเจอง้าวและสาวนิรนามในหลุมศพด้วย

ท่านที่ชอบอ่านสามก๊กคงรู้อยู่แล้วว่า กวนอูเสียท่าพ่ายแพ้ให้กับกองทัพของซุนกวนจนถูกประหาร ก่อนถูกตัดหัวส่งไปให้โจโฉเพื่อลวงให้ฝ่ายเล่าปี่เชื่อว่า โจโฉคือคนที่สั่งให้ประหารกวนอู ด้านโจโฉได้ศรีษะกวนอูมาก็ทำพิธีศพให้อย่างสมเกียรติและฝังศรีษะพร้อมร่างแกะจากไม้ของเขาในลัวหยาง ด้วยรู้ทันกลยุทธ์ของซุนกวน แต่ไม่มีการเล่าว่า ร่างของกวนอูที่แท้จริงไปอยู่ที่ไหน

การได้พบกับร่างของ “เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์” ที่ได้รับความเคารพอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก แถมร่างที่เจอต่อไปยังมีศักยภาพพอที่จะเรียกนักท่องเที่ยวหรือนักแสวงโชคได้อีกโขลุย

รายงานชิ้นนี้ อ้างที่มาของข่าวจากเว็บไซต์ในเมืองจีน บอกว่าหลุมศพที่แท้จริงของกวนอูแทบไม่มีใครรู้จัก “แต่แล้วเรื่องที่เราไม่อยากเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อทีมนักโบราณคดีได้ขุดหลุมทางด้านบนห่างจากทิศใต้ของหลุมฝังศพเดิม กลับพบร่างกายในเขตซูโจวซุน”

ผู้เขียนอ่านแล้วก็ตื่นเต้นตามไปด้วย แต่เมื่อคำนึงถึงความน่าเชื่อถือในที่มาของข่าวแล้วผู้เขียนก็รู้สึกกังขาขึ้นมา เพราะจริงๆ แล้วข่าวนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับนานาชาติ แต่กลับไม่มีสื่อกระแสหลักของจีนรายงานข่าวเรื่องนี้แม้แต่น้อย

อนุสาวรีย์กวนอูขนาดยักษ์ที่เปิดตัวเมื่อปี 2016 จากรายงานของ Shanghaiist

จะบอกว่า กวนอูเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่าที่เป็นอันตรายต่อรัฐบาลจึงต้องปิดบังไว้ก็ไม่ใช่แน่ๆ เพราะเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีการเปิดตัวอนุสาวรีย์ขนาดมหึมาของกวนอูไปหยกๆ

 

ภาพโลงศพที่ถูกนำมารายงานซ้ำหลายครั้งตั้งแต่ปี 2012
ภาพข่าวเก่าที่ถูกเอามาอ้างว่าเป็นโลงของกวนอู แต่ข่าวเก่าระบุว่าเป็นร่างของเชื้อพระวงศ์หมิง และในภาพจะเห็นว่ามีศรีษะอยู่ครบ (ภาพจาก taohuaan.net)

เมื่อตรวจดูแล้วว่า สำนักข่าวที่เชื่อถือได้ไม่มีการรายงานข่าวนี้ ผู้เขียนจึงลองเอาภาพที่ปรากฏในรายงานไปค้นหาในกูเกิลดู ปรากฏว่า ภาพที่ใช้มาจากหลายแหล่งจากหลายข่าว โดยภาพหนึ่งที่เป็นโลงศพ ปรากฏครั้งแรกเมื่อราวเดือนมิถุนายนปี 2012 แต่รายงานในปีนั้นไม่ได้บอกเลยว่า โลงที่พบเป็นโลงของกวนอู แต่บอกว่าเป็นโลงของเชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์หมิงต่างหาก แถมภาพในชุดเดียวกันยังพบว่าศพที่พบมีศรีษะครบถ้วนอีกด้วย

ฉะนั้นในมุมมองของผู้เขียนข่าวนี้คงจะไม่ใช่ข่าวจริงแน่ๆ เพราะถ้าจริงก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่สำนักข่าวกระแสหลักของจีนจะไม่รายงานข่าวนี้ และถ้าจริงแต่นักข่าวไม่อาจหา “ภาพจริง” มาประกอบการรายงานได้ ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปเอาภาพมั่วๆ มาใช้ ซึ่งมีแต่จะทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้รายงานจงใจสร้าง หรืออ้างหรือใช้หลักฐานเท็จเพื่อล่อลวงให้ผู้อ่านหลงเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยในยุค “หลังความจริง” (Post-truth) ที่คนพากันไม่สนข้อเท็จจริง เอาความเชื่อและอารมณ์เป็นที่ตั้ง จนไม่ยอมรับฟังข้อท้วงติงของคนที่ไม่มีอารมณ์ร่วมกับตัวเอง