นักโบราณฯ ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงจำลอง “ทุ่งไหหิน” เพื่อการวิจัย

Plain of Jars Archaeological Project /MIVP Cave2

นักโบราณคดีฟังดูแล้วอาจจะเหมือนคนที่จะอยู่แต่กับสิ่งเก่าๆ แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีส่วนสำคัญในการศึกษาอดีตเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การประเมินอายุให้แม่นยำ หรือการสำรวจพื้นที่ที่เดี๋ยวนี้มีการนำเทคโนโลยี virtual reality มาใช้อย่างกว้างขวาง

ที่ประเทศลาวมีแหล่งโบราณคดีสำคัญคือ “ทุ่งไหหิน” ซึ่งบางส่วนจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีระเบิดที่ยังไม่ทำงานหลงเหลืออยู่มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ทำให้มันอันตรายเกินกว่าที่จะลงมือขุดสำรวจได้ แต่มันก็ยังเป็นที่สนใจจากนักโบราณคดีเสมอมา

AFP PHOTO / AUSTRALIAN NATIONAL UNIVERSITY

ล่าสุดคณะนักโบราณคดีนำโดย หลุยส์ ชีวัน (Louise Shewan) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash) ประเทศออสเตรเลียจึงได้จำลองพื้นที่ทุ่งไหหินในเขตที่ 1 ด้วยเทคโนโลยี virtual reality ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลและบันทึกทางวิทยาศาสตร์จากการขุดสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016

เมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยเนื่องจากปัจจุบันมีการกำจัดวัตถุระเบิดออกไปจากพื้นที่ทุ่งไหหินเพียง 7 แห่งจากทั้งหมด 85 แห่งที่เป็นที่รู้จัก การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

“เราไม่สามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปขุดได้เฉยๆ” ชีวัน กล่าวกับ Live Science “[แต่]เราสามารถส่งโดรนเข้าไปบินผ่านพื้นที่เหล่านี้ได้” ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่างๆ เช่นความสม่ำเสมอของการจัดวางตำแหน่ง หรือความแตกต่างของลักษณะการฝังในจุดต่างๆ โดยไม่ต้องลงพื้นที่จริง

ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ไหหินในเขตที่ 1 น่าจะมีอายุราวๆ 2,500 ปี ซึ่งอารยธรรมยุคเหล็กน่าจะใช้ในการบรรจุศพเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะนำกระดูกไปทำความสะอาดแล้วนำไปฝังอีกครั้ง