“การฝังศพลงไห” ในอียิปต์โบราณ สัญลักษณ์การกำเนิดใหม่อีกครั้ง และไม่ได้ทำแต่กับเด็กจนๆ

แฟ้มภาพ กะโหลกมนุษย์ที่ถูกพบบริเวณพีระมิดแห่งกิซา เมื่อปี 2010 (AFP PHOTO / VICTORIA HAZOU), ฉากหลังเป็นภาพพีระมิด Saqqara (AFP PHOTO / KHALED DESOUKI)

การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นมุมมองใหม่เกี่ยวกับธรรมเนียมการฝังศพของชาวอียิปต์โบราณ จากที่เคยเชื่อกันมานานว่า การฝังศพลงไหเป็นพิธีกรรมของคนยากจนที่ทำให้กับผู้ตายที่ยังเป็นเด็ก แต่ข้อมูลจากการวิเคราะห์ล่าสุดกลับขัดแย้งจากข้อสันนิษฐานดังกล่าว

รายงานของ Science News สื่อของ The Society for Science & The Public องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านวิทยาศาตร์ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มักเชื่อกันว่าการใช้ไหหรือภาชนะอื่นๆเพื่อการฝังศพในอียิปต์โบราณ ส่วนใหญ่จะใช้กับศพเด็กยากจน ซึ่งญาติๆ อาศัยเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอยู่แล้วในครัวเรือนเท่าที่จะหาได้มาใช้ประกอบพิธี แต่จากการวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าพิธีกรรมดังกล่าวไม่ได้ทำกับเฉพาะศพเด็ก หรือทำโดยครอบครัวที่ยากจนเท่านั้น

โรนิกา พาวเวอร์ (Ronika Power) และยานน์ ทริสตันต์ (Yann Tristant) นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาแมคควารี (Macquarie University) ในซิดนีย์ ซึ่งทำการวิเคราะห์สุสานที่ใช้ไหฝังศพจำนวน 46 แห่งจากแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งมีอายุระหว่าง 3300-1650 ปีก่อนคริสต์กาล พบว่า สุสานจำนวนเกินกว่าครึ่งเล็กน้อยที่มีซากศพของผู้ใหญ่ ขณะที่การใช้ไหฝังศพเด็กกลับปรากฏอยู่น้อยกว่าที่คาดการไว้

ในบรรดาศพเด็กทั้งหมดจำนวน 746 ราย พบว่ามีการใช้ไหฝังศพเพียง 329 ราย ขณะที่อีก 338 รายใช้การฝังในโลงไม้ ส่วนที่เหลือใช้ตะกร้าหรือภาชนะอื่นๆ ที่อาจทำจากต้นกกหรือหินปูน

และในสุสานของเจ้านายผู้มั่งคั่งรายหนึ่ง ก็พบศพเด็กทารกรายหนึ่งบรรจุลงไหพร้อมกับเครื่องประดับและปิดทับด้วยแผ่นทองคำ ส่วนไหบรรจุศพอื่นๆ ก็พบของมีค่าหลายๆ อย่างเช่นทองคำ งาช้าง ลูกปัดจากไข่นกกระจอกเทศ เสื้อผ้า และเครื่องเซรามิก ร่างของผู้ตายบางร่างมีการบรรจุลงไหโดยตรง บางส่วนมีการกระเทาะหรือตัดไหเพื่อให้สามารถบรรจุร่างลงไปได้

นักวิจัยจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า การที่คนอียิปต์โบราณจงใจเลือกใช้ไหในการประกอบพิธีศพส่วนหนึ่งอาจมาจากแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ที่ไหเป็นภาชนะที่มีช่องว่างภายในสะท้อนลักษณะที่คล้ายคลึงกับมดลูก มันจึงถูกใช้เป็นตัวแทนของการกำเนิดใหม่อีกครั้งหลังความตาย