“นักสืบเฟซบุ๊ก” เบื้องหลังความสำเร็จในการตามล่าโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปจากอินเดีย

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับ โทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยืน เคียงข้าง ทวรูปสัมฤทธิ์ ที่เคย ถูกขโมย ไปจาก รัฐทมิฬนาดู นักสืบเฟซบุ๊ก ชื่อกลุ่ม นักสืบเฟซบุ๊ก หรือ IPP ประสบความสำเร็จ ในการ ติดตาม โบราณวัตถุ ของ อินเดีย ด้วย การใช้ เฟซบุ๊ก สืบหา ข้อมูล
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับ โทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ในขณะนั้น) ยืนเคียงข้างเทวรูปสัมฤทธิ์ที่เคยถูกขโมยไปจากรัฐทมิฬนาดู เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2014 ก่อนหน้าการประชุมในนิวเดลี (ภาพจาก AFP PHOTO / PRAKASH SINGH)

เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบเครือข่ายที่สามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านดีและด้านลบขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน อย่างใน อินเดีย เครือข่ายสังคมออนไลน์ชนิดนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการป้องกัน และตามล่าหา โบราณวัตถุ ที่ถูกขโมยไปขายในต่างแดน จนมีอาสาสมัครเข้ามาเป็น “นักสืบเฟซบุ๊ก” ช่วยติดตามวัตถุเหล่านี้กลับคืนประเทศโดยไม่หวังค่าตอบแทนหลายคน

อาร์วินด์ เวนกะตรามัน ภาพถ่ายเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 (AFP PHOTO / Arun SANKAR )
อาร์วินด์ เวนกะตรามัน ภาพถ่ายเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 (AFP PHOTO / Arun SANKAR )

อาร์วินด์ เวนกะตรามัน (Arvind Venkatraman) วิศวกรซอฟต์แวร์จากเชนไน ศูนย์กลางไอทีของ อินเดีย เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาว่างในการเป็นนักสืบด้านศิลปะระดับนานาชาติ โดยใช้ เฟซบุ๊ก และเครือข่ายออนไลน์อื่น ๆ ในการสืบค้นว่า โบราณวัตถุ ที่ไปปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในโลก เป็นโบราณวัตถุที่ถูกขโมยมาจากอินเดียหรือไม่

เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “India Pride Project” (IPP) โครงการที่ตั้งขึ้นโดยผู้สนใจงานศิลปะที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ได้ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก

เมื่อ ค.ศ. 2015 นักสืบเฟซบุ๊ก จากกลุ่ม IPP อ้างว่า พวกเขาสามารถเรียกคืน “เทวรูปพระศิวะ” มูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 180 ล้านบาท) จากหอศิลป์แห่งชาติของออสเตรเลียได้สำเร็จ

โดยเทวรูปดังกล่าวถูกขโมยไปจากรัฐทมิฬนาดู บ้านเกิดของ เวนกะตรามัน ซึ่งเขากล่าวว่า ตอนแรกทางหอศิลป์ฯ ไม่เชื่อว่าเทวรูปดังกล่าวที่ตนซื้อเป็นของที่ถูกขโมยมา แต่ตอนนี้หอศิลป์ฯ ของออสเตรเลียได้ยื่นฟ้องนายหน้าค้าโบราณวัตถุจากแมนฮัตตันที่พวกเขาซื้อมาแล้ว

“ปฏิกริยาแรก โดยส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับ” เวนกะตรามัน กล่าวกับสำนักข่าว เอเอฟพี

“ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย ยุโรป สิงคโปร์ หรือในสหรัฐฯ ตอนแรกบรรดาภัณฑารักษ์มักจะออกมาต้าน…นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาใช้เงินจำนวนมากแลกมา และเขาก็ไม่ยอมที่จะปล่อยมัน”

ประทีป วี ฟิลิป (Prateep V Philip) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากแผนกที่ดูแลคดีขโมยงานศิลปะโดยเฉพาะกล่าวว่า โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ถูกขโมยไป กว่าทางการจะรู้เรื่องก็อาจจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูโบราณวัตถุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

ด้วยเหตุนี้ โบราณวัตถุ ที่ถูกขโมยไปส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นวัตถุที่สูญหาย ทำให้มันสามารถถูกนำไปซื้อขายได้ในต่างประเทศ

ด้าน ดอนนา เยตส์ (Donna Yates) อาจารย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการลักลอบค้าโบราณวัตถุจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวชื่นชม IPP ว่า สิ่งที่พวกเขาทำได้นับว่าน่าทึ่งมาก เนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้แทบจะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือการสนับสนุนจากภายนอก การที่ IPP ลงแรงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุโบราณที่ถูกขโมยไปก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้สาธารณะหันมาให้ความสนใจ ซึ่งหาที่ไหนจะเปรียบเทียบได้ยาก

ขณะเดียวกัน ที่เมืองไทย กระแสความสนใจต่อปัญหาการขโมยโบราณวัตถุก็มีมากขึ้นเช่นกัน เมื่อมีกลุ่มนักวิชาการและผู้สนใจด้านโบราณคดีออกมาเรียกร้องให้ทางการไทยเรียกคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ที่เชื่อว่าถูกขโมยไปจากปราสาทเขาปลายบัด และข่าวการจับกุมนักค้าของเก่าในสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2016 ก็ช่วยจุดประกายความหวังให้กับหลายคนที่ยังติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มกราคม 2560 ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดเมื่อ 22 มกราคม 2567 [จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ]