พบชาวสก็อตยุคหินใหม่ อาจกินหนูเป็นอาหารว่าง

ลูก Bank Vole สัตว์ฟันแทะประจำถิ่นในสหราชอาณาจักรลักษณะใกล้เคียงกับหนูบ้าน (gailhampshire from Cradley, Malvern, UK)

หนูถูกมองเป็นสัตว์รังควานที่น่ารังเกียจ เนื่องจากเป็นตัวการทำลายผลผลิตทางการเกษตร และยังเป็นตัวแพร่เชื้อโรคร้ายแรง แต่ในแหล่งโบราณคดีหลายๆ แห่งทั่วโลกต่างก็พบซากของหนูปะปนอยู่กับพื้นที่อาศัยของมนุษย์ แต่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหนูก็มีอยู่ไม่มากนัก

จากรายงานของ LA Times ระบุว่า มีการศึกษาซากหนูที่พบในแหล่งโบราณคดี Skara Brae ของสก็อตแลนด์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หนูไม่ใช่แค่สัตว์จอมรังควานที่สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์เท่านั้น แต่มนุษย์เมื่อสมัยกว่า 5 พันปีก่อนในพื้นที่นี้น่าจะอาศัยหนูเป็นแหล่งโปรตีนด้วย

นักวิจัยทำการศึกษาเศษกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กจำนวนกว่า 60,000 ชิ้น จากหลุม 4 แห่งที่ขุดได้ใน Skara Brae โดยกระดูกที่พบอยู่ในลักษณะเหมือนถูกจับยัดรวมกันลงใส่ถุง และจุดที่ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า มนุษย์ยุคหินในแถบนี้น่าจะจับหนูกินเป็นอาหารมากกว่าที่จับมากำจัดทิ้ง ก็คือ พวกเขาพบเศษกระดูกหนูนา ซึ่งปกติจะไม่อยู่ตามที่พักอาศัยของคนอยู่ด้วย และยังพบรอยเผาบนกระดูกหลายชิ้น

นักวิจัยกล่าวว่า จากการศึกษาได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดว่า มนุษย์โบราณใน Skara Brae น่าจะกินหนูเป็นอาหาร แต่จากจำนวนที่พบ พวกมันน่าจะไม่ใช่แหล่งอาหารหลัก ชาวบ้านในยุคโบราณอาจจะจับพวกมันกินเป็นของกินเล่น หรือจับกินในช่วงที่พวกเขาหาอาหารได้ลำบาก ซึ่งตรงนี้คงยังสรุปไม่ได้

คนไทยอาจจะมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทุกวันนี้หลายพื้นที่ในเมืองไทยก็ยังกินหนูนาเป็นอาหาร แต่สำหรับในวงการโบราณคดียุโรปแล้ว เจเรมี เฮอร์มัน (Jeremy Herman) นักชีววิทยาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสก็อตแลนด์ เจ้าของงานวิจัย ระบุว่า

“นี่เป็นตัวอย่างแรกที่แสดงให้เห็นว่าคนโบราณในยุโรปกินหนูเป็นอาหาร…แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะว่า ก่อนหน้านี้เราไม่คิดจะศึกษาให้ดีก็เป็นได้”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2559