ชาวสุหนี่อินโดนีเซียแห่ “ม้าหน้าคน” ลงทะเล ในเทศกาลที่สืบทอดจากชาวชีอะห์

ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียแห่ตัวบูรักรอบเมืองก่อนนำไปทิ้งลงทะเล, AFP PHOTO / ADEK BERRY

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ตุลาคม) ชาวบ้านในเมืองปาเรียมัน (Pariaman) ในสุมาตราตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันแห่ตัว “บูรัก” (Al-Burāq) สัตว์พาหนะในตำนานที่มีหัวเป็นคนตัวเป็นม้าลงทะเลในเทศกาลที่ชื่อว่า “Tabuik” งานประจำปีซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก

ศาสดามูฮัมหมัดขี่ตัวมูรักขึ้นสวรรค์ ศิลปะเปอร์เซีย
ศาสดามูฮัมหมัดขี่ตัวมูรักขึ้นสวรรค์ ศิลปะเปอร์เซีย

เทศกาล Tabuik เป็นงานที่จัดติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันในเมืองปาเรียมัน มีมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยการริเริ่มของชาวชีอะห์จากอินเดียที่มาตั้งรกรากในอินโดนีเซีย โดยจัดกันในช่วงเดียวกับเทศกาลอาชูรา (Ashura, งานรำลึกการสังหารอิหม่ามฮุสเซน หลานของศาสดามูฮัมหมัด) ของชาวชีอะห์

ปัจจุบัน ชาวบ้านในปาเรียมันส่วนใหญ่ล้วนนับถือนิกายสุหนี่ แต่พวกเขาก็ยังคงสืบทอดพิธีกรรมแบบชาวชีอะห์ต่อมา แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของอินโดนีเซีย

การแห่บูรักลงทะเลถือเป็นจุดไคลแม็กซ์ของเทศกาลนี้ ชาวบ้านจะทำตัวบูรักจำลองขนาดยักษ์สูงกว่า 12 เมตร แห่ไปตามท้องถนนรอบเมืองก่อนนำไปปล่อยลงทะเล

ทั้งนี้ ตัวบูรักเป็นสัตว์พาหนะในตำนานอิสลามที่พาศาสดามูฮัมหมัดเดินทางระหว่างมักกะฮ์ และเยรูซาเล็มตามที่ปรากฏในหะดีษ ซึ่งศิลปะเปอร์เซียและตะวันออกใกล้ มักวาดภาพของตัวบูรักให้มีใบหน้าของมนุษย์ อันเป็นลักษณะที่สืบทอดมาถึงศิลปะอิสลามในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวบูรักแกะสลักในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
ตัวบูรักแกะสลักในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์