“กรมศิลปากร” ยืนยันโบราณวัตถุที่พบขณะบูรณะหอระฆังวัดพระยาทำ ได้เก็บรักษาไว้ตามหลักวิชาการ “ไม่พบว่ามีพระเครื่อง”

กรมศิลปากรแจงโบราณวัตถุที่พบขณะบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังวัดพระยาทำ เป็นชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวชาวบ้านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่พบขณะทำการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังวัดพระยาทำวรวิหาร และอาจมีโบราณวัตถุบางส่วนหายไปนั้น

กรมศิลปากรขอชี้แจงว่า ในขั้นตอนการขุดฐานรากอาคารเพื่อเตรียมการเสริมความมั่นคง ก่อนการปรับยกหอระฆัง โดยขุดชั้นดินลึกลงไปประมาณ ๑.๓๐ เมตร พบว่ามีการประดับตกแต่งส่วนฐานหอระฆังด้วยเศษกระเบื้องเคลือบจีนและพบชิ้นส่วนปูนปั้นประดับส่วนล่างของอาคาร จึงได้ดำเนินการบันทึก
และเก็บหลักฐานตามกระบวนการทางโบราณคดี โดยบันทึกข้อมูลที่พบ ทำการถ่ายภาพ ทำแผนผัง ภาพลายเส้น

สำหรับโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นเศษชิ้นส่วนที่ใช้ประดับหอระฆัง เช่น ฐานประดับกระเบื้องเคลือบ ประติมากรรมปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ กระเบื้องเคลือบลายเทพนมบนพื้นลายพันธุ์ไม้

เครื่องเคลือบเขียว-น้ำตาล (ถ้วยปลา) เครื่องเคลือบเขียว-น้ำตาล (ถ้วยปู) กระเบื้องเคลือบลายคราม กระเบื้องเคลือบลายมังกร เครื่องเขียนสีบนเคลือบ ไม่พบว่ามีพระเครื่อง เนื่องจากหอระฆังเป็นอาคารโปร่งอยู่นอกเขตพุทธาวาส

และจากการขุดตรวจพื้นภายในหอระฆัง พบว่ามีการอัดพื้นด้วยดิน เศษอิฐ ซึ่งไม่พบว่าเป็นลักษณะ
ของกรุพระตามที่เป็นข่าว

ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีประเภทโบราณวัตถุไว้อย่างชัดเจน โดยระบุตำแหน่งชิ้นส่วนกระเบื้อง พร้อมให้เลขหมายไว้บนชิ้นส่วนกระเบื้องแต่ละชิ้น แยกเก็บหลักฐานตามตำแหน่งพื้นที่ที่พบ

กรมศิลปากรขอยืนยันว่าได้เก็บรักษาโบราณวัตถุทั้งหมดไว้ตามหลักวิชาการอย่างละเอียดรอบคอบและเคร่งครัด

(ข้อมูลและภาพจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)